xs
xsm
sm
md
lg

หลักฐาน"ข่าวสด"รับงานป้องตำรวจชั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด นำเสนอสรุปผลพิสูจน์หลักฐานเสื้อยืดและเสื้อชั้นในของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ของกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย นสพ.ข่าวสด พาดหัวว่า “พิสูจน์ “น้องโบว์” ไม่ใช่แก๊สนำตา พฐ.สรุปผลตรวจ สารบึ้มคนละชนิด” โดยเนื้อข่าวระบุว่า

“เมื่อวันที่ 24 ก.พ.รายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งว่า กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปผลตรวจพิสูจน์วัตถุพยานที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ส่งมาให้ตรวจพิสูจน์ซึ่งเป็นเสื้อผ้าของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ น้องโบว์ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.2551 ประกอบด้วย เสื้อยืดสีเหลือง 1 ตัว เสื้อชั้นในสีครีม สภาพฉีกขาด 1 ตัว กางเกงยีนส์ขายาวสีน้ำเงิน สภาพฉีกขาด 1 ตัว โดยมีจุดประสงค์ในการตรวจพิสูจน์ต้องการทราบว่า มีสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของวัตถุระเบิดติดอยู่วัตถุของกลางทั้งหมดนี้หรือไม่

รายงานแจ้งว่า พ.ต.ท.สมภพ พุฒศรี นักวิทยาศาสตร์ สบ 3 กลุ่มงานตรวจเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา กองพิสูจน์หลักฐาน ได้ตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการตรวจทางกายภาพ ตรวจทางเคมี ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ใช้ไอออนสแกน ตรวจหากลุ่มวัตถุระเบิดเบื้องต้น ใช้เครื่อง เอฟทีไออาร์,จีซี-เอ็มเอส, เอ็กซ์อาร์เอฟ ตรวจยืนยันใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสรุปผลการตรวจ ได้ผลการตรวจออกมาว่า ตรวจพบสารเคมีที่เป็นวัตถุระเบิดชนิดซี-โฟร์ติดอยู่ที่เสื้อยืดสีเหลือง และเสื้อชั้นในสีครีมที่ส่งมาตรวจ และตรวจพบสารเคมีชนิด อาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นสารประกอบวัตถุระเบิดติดอยู่ที่กางเกงยีนส์ขายาวสีน้ำเงิน

รายงานอีกแจ้งว่า จากข้อมูลทางเทคนิคของ กองพิสูจน์หลักฐาน ระบุว่า แก๊สน้ำตาทั้งชนิดยิง และชนิดขว้าง (ของจีน = ข่าวสดตัดข้อความนี้ทิ้ง) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีใช้จะมีสารวัตถุระเบิดชนิด อาร์ดีเอ็กซ์ เป็นส่วนประกอบเท่านั้น ซึ่งไม่มี ซี-โฟร์ เป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด และกรณีที่พบสารวัตถุระเบิดชนิด ซี-โฟร์ ที่เสื้อชั้นในและเสื้อยืดของ น.ส.อังคณา นั้น เพราะตรวจพบวัตถุทรงกลมที่เหลือจากการระเบิดไม่สมบูรณ์บริเวณรอยไหม้สีดำของเสื้อชั้นในและเสื้อยืดดังกล่าว และเมื่อนำวัตถุทรงกลมนั้นมาตรวจ ปรากฏว่า เป็นสารวัตถุระเบิดชนิด ซี-โฟร์ ส่วนในวัตถุพยานที่ได้จากผู้บาดเจ็บรายอื่นพบเฉพาะสาร อาร์ดีเอ็กซ์ เท่านั้น ซึ่งสารวัตถุระเบิดชนิด ซี-โฟร์ เป็นสารวัตถุระเบิดต่างชนิดจากสารวัตถุระเบิดชนิด อาร์ดีเอ็กซ์ เพราะมีสารเคมีประกอบต่างชนิดกันนั้น

โดยรายงานผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวนั้น กองพิสูจน์หลักฐาน ได้ตรวจสอบเสร็จและรายงานผลให้ต้นเรื่อง คือ สน.พญาไท ทราบไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2551 หลังเกิดเหตุได้เพียง 3 วัน โดยมี พ.ต.ท.สมภพ พุฒศรี นักวิทยาศาสตร์ สบ3 กลุ่มงานตรวจเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา กองพิสูจน์หลักฐาน เป็นผู้ลงนามรับรองผลการตรวจพิสูจน์

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใด นสพ.ข่าวสด จึงเพิ่งนำผลสรุปมาเผยแพร่ในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ สำนักงานคณะกรรมกาารป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.มีกำหนดใกล้ชี้มูลความผิด นายตำรวจทั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ลงมา รวมถึงนายตำรวจในกองบัญชาการตำรวจนครบาล อาทิ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.และนายตำรวจอีกหลายนาย ต่อกรณีเหตุการณ์การสลายการชุนนุมของตำรวจ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก

ทั้งนี้ นสพ.ข่าวสด มี นายฐากูร บุนปาน หลานชาย นายขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของเครือมติชน เป็นผู้บริหาร โดย นสพ.ข่าวสด ได้นำเสนอข่าวที่ให้ข้อมูลไม่สมบูรณ์และเป็นภาพลบกับกลุ่มพันธมิตรฯ มาโดยตลอด ตั้งแต่การชุมนุมเพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ จึงไม่แปลกใจที่ นสพ.ข่าวสด นำข่าวชิ้นนี้มานำเสนอในช่วงเวลาที่ ป.ป.ช.ใกล้จะชี้มูลความผิดของตำรวจ ประกอบกับผลพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ก็ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมมาช้านาน
กำลังโหลดความคิดเห็น