xs
xsm
sm
md
lg

ปลื้มก.ล.ต.แก้เกณฑ์บอนด์ เอื้อบจ.เปิดขายหุ้นกู้สะดวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ตลาดหลักทรัพย์ เห็นด้วยกรณี ก.ล.ต.แก้ไขเกณฑ์ออกตราสารหนี้ รับสถานการณ์ปัจจุบัน เอื้อบจ.ระดมทุนสะดวกขึ้น –เพิ่มช่องทางในการสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนในช่วงภาวะดอกเบี้ยขาลง “ชนิตร” แจง 2 เดือนแรกปีนี้มีบจ.ออกหุ้นกู้แล้ว 9 หมื่นล้านบาท คาดทั้งปีแตะ4แสนล้านบาท ด้านที่ปรึกษาทางการเงิน แจง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดอกเบี้ยต่ำ เป็นตลาดของการออกหุ้นกู้ พอใจก.ล.ต.แก้เกณฑ์ลดขั้นตอนหนุนความคล่องตัว

นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)มีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ ในช่วงนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีจากการที่ดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้มีความเหมาะสมในการที่บริษัทจดทะเบียนจะมีการออกหุ้นกู้ เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนมากขึ้น เพราะจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ดอกเบี้ยขาลง และส่งผลดีต่อบริษัทที่จะมีทางเลือกในการระดมทุน
ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเชื่อว่า จะส่งผลดีมากกับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะมีช่องทางในการระดมทุนมากขึ้น หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อให้ยากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ โดยในช่วง 2 เดือนแรก ปีนี้ มีบริษัทจดทะเบียนออกหุ้นกู้แล้วจำนวน 90,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีการออกหุ้นกู้มูลค่า 400,000 ล้านบาท
นางสาวสุนันท์ เลิศสีทอง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวาณิชธกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ธนชาต กล่าวว่า จากที่ภาวะเศรษฐกิจมีการชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงลาลงนั้น ทำให้เป็นจังหวะของการออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไป เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน จากการที่ธนาคารพาณิชย์จะมีการปล่อยสินเชื่อที่จำกัด และยากขึ้น ด้านนักลงทุนเองจะได้มีช่องทางในการลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก
ทั้งนี้บริษัทมีงานด้านการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่จะมีการขายคือ หุ้นกู้ของบมจ.น้ำประปา ไทยแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีลูกค้ากี่รายที่กำลังจะเสนอและสนใจ
“จากการที่ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงนั้น ถือว่าเป็นโอกาสของการออกหุ้นกู้ จากนั้นบริษัทจะหันออกมาออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุนเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้น เพราะมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งถือเป็นโอกาสของนักลงทุนนจากการที่เศรษฐกิจไม่ดี และต้องการช่องทางในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูง ซึ่งดีกว่าการลงทุนแบบฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ” นางสุนันท์ กล่าว
สำหรับหุ้นกู้ที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนนั้น หากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็จะได้รับความไว้วางใจ แต่หากเป็นบริษัทขนาดกลางเล็กนั้นหากให้ผลตอบแทนที่สูง ถือว่าจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้ ซึ่งการที่ก.ล.ต.มีการปรับปรุงแก้ไขเกณฑ์ฯในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยให้มีการออกหุ้นกู้ได้ สะดวกรวดเร็ว มากมากขึ้น
นายสิทธิไชย มหาคุณ หัวหน้าสายงาน วาณิชธนกิจ บล.ซีไอเอ็มบี –จีเค (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการออกหุ้นจะเป็นการออกหุ้นกู้ระยะกลางและสั้นประมาณ 1-3 ปี มากกว่าหุ้นกู้ระยะยาว เพราะ ในช่วงนี้นักลงทุนจะต้องการลงทุนในหุ้นกู้ระยะสั้นมากกว่า และการออกหุ้นกู้ระยะยาวนั้นจะเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตที่ดี โดยการแก้ไขเกณฑ์ฯนั้นมีประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนให้สามารถออกหุ้นกู้ได้รวดเร็วขึ้น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทอยู่ในช่วงตึงตัว
นางดวงดาว พันธุมวนิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล สำนักงานก.ล.ต.กล่าวว่า ก.ล.ต.จะมีการประกาศบังคับใช้เกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ใหม่ได้ในเดือนมีนาคมนี้หลังจากที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น(เฮียร์ริ่ง)จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการแก้ไขหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้นั้นเพื่อ ลดปัญหาและอุปสรรคในการออกหุ้นกู้ ทำให้สามารถออกได้รวดเร็วมากขึ้น และเพื่อยกระดับสินค้ามีความน่าเชื่อถือและเตรียมความพร้อมในการเชื่อโยงกับตลาดทุนต่างประเทศ
ทั้งนี้เกณฑ์ที่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์นั้น ได้มีการปรับปรุงนิยามของการเสนอขายPP โดยแก้ไขให้การเสนอขายแบบนักลงทุนเฉพาะเจาะจง(PP) ประกอบด้วยPPวงแคบ และPP ในกลุ่ม นักลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (II&HNW)ที่มีมูลค่าการลงทุน 40 ล้านบาท ขึ้นไป ได้มีการแก้ไขโดยยุบรวม PPวงแคบ กับPP ในกลุ่ม(II&HNW)เข้าเป็นกลุ่มPP ทั้งหมด จากเดิมที่กำหนดว่าหากเสนอขาย(II&HNW)มากกว่า 100 ล้านบาท จะต้องยื่นแบบข้อมูลการเสนอขายหุ้นกู้แบบ PO เพราะหากเสนอขาย II&HNW ต้องน้อยกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจาก เชื่อว่าเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ดูแลตนเองได้
รวมถึงได้มีการแก้ไขการเสนอขายแบบPPได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไป จากเดิมที่จะต้องมีขั้นตอนการขออนุญาต ยกเว้นกรณีที่ยังต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะของผู้ออกเช่น ออกหุ้นกู้ตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็น และการออกหุ้นกู้อนุพันธ์ และจากการที่กลุ่ม II&HNWยังต้องการข้อมูลเรทติ้งประกอบการตัดสินใจลงทุนรวมถึงข้อมูลไฟลิ่งเพื่อให้ฟ้องร้องได้หากเปิดเผยข้อมูลเป็นเท็จ จึงได้กำหนดเสนอขายแบบPP ต่อกลุ่มผู้ลงทุนดังกล่าวยังคงต้องยื่นไฟลิ่งและจัดให้มีเรทติ้งและขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รวมทั้งมีการอัพเดทงบการเงินภายหลังการขาย จากเดิมเกณฑ์PPนั้นไม่ต้องมีการยื่นไฟลิ่ง เรทติ้งและขึ้นทะเบียน กับทางThaiBMA
ส่วนด้านการเสนอขายหุ้นกู้ในการณีทั่วไป (PO)นั้นได้มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นและระยะยาวโดยใช้เกณฑ์เดียวกัน ซึ่งจะมีเกณฑ์การคุ้มครองนักลงทุนเท่าเทียมกันทุกอายุของหุ้นกู้ เช่น เกณฑ์การอนุญาต การเปิดเผยข้อมูลก่อนและภายหลังการขาย โดยได้แก้ไขหลักเกณฑ์อนุญาตให้ชัดเจนขึ้นในทางปฏิบัติและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธียื่นไฟลิ่งในลักษณะเป็นโครงการ (Shelf Filing)ให้สอดคล้องกับสากลและปรับวิธีลงนามรับรองความถูกต้องของไฟลิ่งให้ยืดหยุ่นขึ้นไม่เป็นภาระในการดำเนินการมากนัก
อย่างไรก็ตามได้มีการปรับเกณฑ์เสนอขายตราสารหนี้ระยะยาวแบบ PO จะต้องให้มีการจัดทำเรทติ้งของหุ้นกู้ที่จะออก หรือ มีผู้ค้ำประกันเท่านั้น จากเดิมที่กำหนดให้สามารถเลือกจัดเรทติ้งขององค์กรได้
กำลังโหลดความคิดเห็น