xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการเงิน:วิกฤติเศรษฐกิจและการปกป้องทางการค้า (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัปดาห์ก่อนผมได้เล่าว่า การกีดกันการค้าในปี 1930 เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญจากแนวความคิดของสหรัฐฯที่จะปกป้องสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1920 แต่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1929 (The Great Depression) ส่งผลให้การปกป้องสินค้าเกษตรกลายเป็นการกีดกันการค้าเต็มรูปแบบ อัตราภาษีนำเข้าพุ่งขึ้นอย่างมาก การกระทำดังกล่าวนำไปสู่การตอบโต้อย่างรุนแรงจากประเทศคู่ค้าต่างๆ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว และซ้ำเติมให้วิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นอย่างมาก สัปดาห์นี้ผมจะเขียนต่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะทำให้การกีดกันการค้าที่เคยเกิดขึ้นกลับมาอีกหรือไม่

สาเหตุของการกีดกันการค้าในปัจจุบันก็คล้ายกับในช่วงมหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก นั่นคืออุปสงค์ต่อสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศหดตัวลง ประกอบกับการว่างงานขยายตัวสูงขึ้น ทำให้แต่ละประเทศเริ่มหันมาพยายามบรรเทาปัญหาด้วยการพยายามปกป้องธุรกิจในประเทศ โดยใช้มาตรการกีดกันการค้าจากภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม การมีระบบคุ้มครองการค้าเสรีตามกรอบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ทำให้การกีดกันเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ไม่ใช่แค่การเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า เหมือนกับปี 1930 แต่ยังรวมถึงการกีดกันในการให้เงินทุนแก่ธุรกิจของประเทศอื่นด้วย

วิกฤติการเงินในปัจจุบัน นำไปสู่การหดตัวลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรม บริการ และเกษตรกรรม และก็มีผลต่อเนื่องทำให้การว่างงานสูงขึ้นทั่วโลก เช่น อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปที่ร้อยละ 7.6 (มกราคมนี้) จากที่เคยอยู่ประมาณร้อยละ 4.5 ขณะที่อัตราการว่างงานของเยอรมนีเริ่มขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.8 ในเดือนมกราคม และญี่ปุ่นอัตราการว่างงานเพิ่มจากระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 3.4 เป็นร้อยละ 4.4 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แม้กระทั้งในจีนเองก็มีการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะทำให้การว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกมาก

การว่างงานที่สูงขึ้นและปัญหาเศรษฐกิจด้านต่างๆ ทำให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงในหลายประเทศในปีนี้ แรงงานนับล้านคนของฝรั่งเศสได้หยุดงานประท้วงเรื่องสภาพการจ้างงานและอัตราค่าจ้าง ขณะที่แรงงานในจีนจำนวนมากก่อการประท้วงจนถึงขั้นปะทะกับตำรวจอย่างรุนแรง และเกษตรกรของกรีซประท้วงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและขอเพิ่มเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจนกลายเป็นการจลาจลและต้องใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ในอนาคตการหดตัวของการผลิตและการพุ่งขึ้นของการว่างงานจะรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาและเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลของหลายประเทศหันไปปกป้องธุรกิจภายในด้วยการใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการที่มีข้อตกลงการค้าเสรีตามกรอบ WTO ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ไม่สามารถกีดกันการค้าด้วยการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าได้เหมือนในปี 1930 ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วหันไปใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและมาตรการอื่นๆ ที่เป็นช่องโหว่ที่ข้อตกลง WTO เปิดทางไว้หรือยังไม่ชัดเจนรวมไปถึงมาตรการที่คาบลูกคาบดอกว่าจะขัดกับระเบียบ WTO

มาตรการกีดกันที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปัจจุบัน คือ "Buy America" ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐภายใต้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีการซื้อสินค้าโดยเฉพาะเหล็กและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ภายในประเทศสหรัฐฯ แต่ทั้งนี้การปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ต้องไม่ขัดกับข้อตกลง WTO รวมไปถึงข้อตกลงทวิภาคี (FTA) ที่สหรัฐฯมีกับประเทศต่างๆ และให้โอกาสประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) ที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯครั้งนี้ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก และมีการคาดการณ์กันว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และ จีน หรือกลุ่ท BRIC นั่นเอง

อังกฤษก็เริ่มมีการดำเนินการคล้ายกัน โดยนายกรัฐมนตรี Gordon Brownได้เสนอให้ใช้แนวทาง “British Jobs for British Workers” หรือ “งานของอังกฤษเพื่อแรงงานชาวอังกฤษ” ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยุโรปได้เพิ่มมาตรฐานสินค้านำเข้าให้สูงขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงข้อบังคับของ WTO ที่ห้ามเพิ่มภาษีนำเข้าสูงกว่ากำหนด แต่กฎระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดคุณภาพสินค้ายังไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง

ประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มมีการปกป้องตัวเองเช่นกัน และเนื่องจากอัตราภาษีนำเข้ายังต่ำกว่าระดับที่ WTO กำหนดไว้สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถปรับเพิ่มอัตราภาษีได้อีก 2 – 3 เท่าโดยไม่ขัดกับระเบียบ WTO ล่าสุด รัสเซียได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็ก และอินเดียปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศอาจจะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าอีก เมื่อปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศรุนแรงขึ้น

นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาได้เริ่มใช้มาตรการชดเชยการส่งออกและการอุดหนุนธุรกิจในประเทศ เช่น จีนได้เพิ่มการคืนภาษีแก่สินค้าส่งออกหลายประเภทรวมถึงสิ่งทอและเหล็ก (Steel) ขณะที่สหรัฐฯ ก็ให้เงินอุดหนุนบริษัทอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งเข้าข่ายการอุดหนุนธุรกิจเช่นเดียวกัน

นอกจากกระแสการกีดกันการค้าสินค้าและบริการที่เริ่มก่อตัวแล้ว ยังมีการลุกลามไปสู่การกีดกันทางเศรษฐกิจประเภทใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือการกีดกันทางการเงิน โดยหลายประเทศที่ประสบวิกฤติการเงินจนรัฐบาลต้องเข้ามาให้การช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการกำหนดให้สถาบันการเงินที่ได้รับความช่วยเหลือต้องปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจในประเทศเท่านั้น ซึ่งมีตัวอย่างในหลายประเทศ เช่นอังกฤษและฝรั่งเศส กำหนดให้ธนาคารที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต้องให้สินเชื่อในประเทศเท่านั้น ขณะที่สหรัฐฯ แม้ว่าจะไม่กำหนดเป็นเงื่อนไจชัดเจนเหมือน 2 ประเทศดังกล่าว แต่รัฐสภาของสหรัฐฯก็จะตรวจสอบว่าธนาคารที่ได้รับการอุดหนุนปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจในประเทศมากน้อยเพียงใด ขณะที่สวิสเซอร์แลนด์กำหนดให้สถาบันการเงินที่มีการปล่อยกู้ต่างประเทศ ต้องคิดค่าความเสี่ยงเต็มที่ที่ร้อยละ 100 ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในประเทศ ให้คิดค่าความเสี่ยงต่ำกว่า ทำให้การตั้งสำรองน้อยกว่า

การกีดกันการเงินด้วยการปล่อยสินเชื่อเฉพาะในประเทศ ทำให้เกิดผลอย่างรุนแรงต่อประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและต้องพึ่งพิงเงินทุนต่างประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่มีการกีดกันการเงินอย่างเป็นทางการเกิดขึ้น แต่ผลกระทบจากวิกฤติการเงิน ทำให้ธนาคารยุโรปได้ตัดสินเชื่อแก่หลายประเทศในยุโรปตะวันออกรวมไปถึงประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียดเดิม (CIS) จนทำให้ประเทศเหล่านี้มีเศรษฐกิจถดถอยและบางประเทศก็ต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งนับจากนี้ไปการกีดกันการเงินที่เป็นรูปแบบชัดเจนขึ้น จะยิ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่สามารถระดมทุนจากต่างประเทศได้ และจะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงได้ และถ้าการกีดกันทางการเงินยังคงอยู่นานเท่าใด ก็ยิ่งจะทำให้ประเทศเหล่านี้อาจจะไม่สามารถระดมทุนจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ดังนั้นผลของการกีดกันทางการเงินอาจจะรุนแรงกว่าการกีดกันด้านการค้าเสียอีก

แม้เราจะมี WTO แต่การถดถอยของเศรษฐกิจครั้งนี้รุนแรง จนทำให้หลายประเทศอาจจะละเลยกติกาการค้าโลก โดยต่างพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการปกป้องธุรกิจในประเทศมากขึ้น จนนำไปสู่การกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆ ที่เปลี่ยนไป เช่น การกำหนดเงื่อนไขในการใช้เงินในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเน้นการซื้อสินค้าและบริการในประเทศตนเอง การอุดหนุนธุรกิจและการชดเชยภาษีแก่ผู้ผลิตสินค้าส่งออก นอกจากนี้ ยังมีการกีดกันทางการเงิน โดยกำหนดให้สถาบันการเงินที่ได้รับการอุดหนุน / ช่วยเหลือจากรัฐบาลต้องปล่อยสินเชื่อในประเทศเป็นหลัก ซึ่งก็อาจจะมีผลที่รุนแรงกว่าการกีดกันทางการค้าเสียอีก การใช้มาตรการกีดกันดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อนขึ้นของการค้าระหว่างประเทศ และทำให้การค้าและเศรษฐกิจโดยรวมของโลกทรุดตัวลงมากกว่าที่ควรจะเป็น ธนาคารโลกประเมินว่าแม้ว่าจะไม่มีการกีดกันทางการค้า ปีนี้การค้าโลกก็จะหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1982 และการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนไปประเทศตลาดเกิดใหม่ในปีนี้จะมีมูลค่าเพียงครึ่งหนึ่งของ 2 ปีก่อนที่มีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สิ่งที่ผมเขียนมาทั้งหมดชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่คิดเพียงแต่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการปกป้องธุรกิจและการจ้างงานภายในประเทศตนเอง จะนำมาซึ่งความเสียหายมากกว่าเดิม เพราะในที่สุด ถ้าทุกประเทศต่างคิดเช่นนี้ก็จะนำไปสู่การแข่งขันเพื่อปกป้องตัวเองและกีดกันผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่การตอบโต้ระหว่างกันหนักหน่วงยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงขึ้นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป (EU) และญี่ปุ่น ต่างนำนโยบายนี้มาใช้พร้อมกัน คงไม่ต้องคาดเดาเลยว่าการค้าระหว่างประเทศจะปั่นป่วนวุ่นวายเพียงใด เพราะแค่เฉพาะการค้าสินค้าของทั้ง 3 ประเทศนี้ก็ครอบคลุมถึงครึ่งหนึ่งของการค้าสินค้าของโลกแล้ว ดังนั้น ผมจึงหวังว่าแนวทางการกีดกันทั้งหลายที่เพิ่งเริ่มนี้ จะจำกัดขอบเขตและไม่ขยายตัวจนกลายเป็นการกีดกันทางการค้าการเงินทั้งโลก จนทำให้กติกาการค้าของ WTO ที่กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ล่มสลายและต้องไปเริ่มต้นกันใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น