xs
xsm
sm
md
lg

เครือปตท.ผลงานปี51บักโกรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- 4หุ้นใหญ่เครือปตท.หนีความผันผวนราคาน้ำมันไม่พ้น ฉุดผลดำเนินงานปี2551 วูบ!ใจหาย ด้าน PTTCH ยังแข็งพอทั้งปีกำไรสุทธิ 11,739 ล้านบาท ลดลง 7.4พันล้านจากต้นทุนวัตถุดิบ-ค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์3โรงงานใหม่ ล่าสุดเตรียมขอผู้ถือหุ้นปันผลอีก1บาท รวมทั้งปีจ่าย4บาท/หุ้น ขณะที่ IRPC ทรุดหนักขาดทุน1.8หมื่นล้าน จากปี2550 กำไร1.3 หมื่นล้าน ส่วนBCP ขอพ่วงไปด้วยขาดทุนสุทธิ 689 ล้านบาท ปิดท้ายPTTAR ขาดทุนฮวบ8.4พันล้าน
นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือ PTTCH เปิดเผยถึงผลดำเนินงานของบริษัทประจำปี 2551 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบแล้วว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 11,739 ล้านบาทหรือ 7.84 บาทต่อหุ้น ลดลง 7,428 ล้านบาทหรือร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 19,167 ล้านบาทหรือ 12.85 บาทต่อหุ้น
โดยในปี 2551 บริษัทรายได้การขาย 81,960 ล้านบาทเพิ่มขึ้น11% จากปี2550 ซึ่งมี73,870ล้านบาท แต่มี กำไรก่อนหักค่าเสื่อม ภาษี และดอกเบี้ย (EBITDA)เพียง 20,258 ล้านบาทลดลง 39% จากปีก่อนที่มี 25,343ล้านบาท
ทั้งนี้ สาเหตุที่กำไรของบริษัทปรับลดลงมากเนื่องจาก ต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับขึ้นในส่วน
มีสาเหตุหลักจากราคาแนฟทาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 3 ในอัตราร้อยละ 49, 53 และ 46 ขณะที่ราคา HDPE ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 27, 29 และ 23 ตามลำดับ เช่นเดียวกับราคาวัตถุดิบก๊าซธรรมชาติที่ซื้อจาก ปตท. ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เพื่อสะท้อนราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการผลิตและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 9,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เพราะการรับรู้รายได้และค่าใช้จ่ายของ TOLซึ่งเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อกุมภาพันธ์ 2551รวมทั้งTSCL เมื่อพฤษภามคม และ บริษัท ปตท. เคมิคอล อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรเวทจำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 50 ใน Cognis Oleochemical (M) Sdn Bhd (COM)เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา
อีกทั้งบริษัทมีผลขาดทุนจากการตีมูลค่าคงเหลือในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 เนื่องจากราคาตลาดของวัตถุดิบและสินค้าคงเหลือปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนของบริษัทฯ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เท่ากับ 3,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามภาระเงินเฟ้อที่สูงในปีนี้
นอกจากนี้ ในปี 2551 บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 910 ล้านบาท จากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลให้เงินกู้ระยะยาวสกุลเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณเป็นสกุลเงินบาท
สำหรับ ผลดำเนินงานไตรมาส4 พบว่า PTTCH มีรายได้จากการขาย12,698 ล้านบาท ลดลง46%จากไตรมาส3ที่มีสูงถึง 23,642ล้านบาท ขณะที่ EBITDA เหลืออยู่ที่ 2,542ล้านบาทหรือลดลง 137%จากไตรมาส3ที่มี6,786ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง 4,182ล้านบาท หรือ185%จาก 4,926ล้านบาทในไตรมาส3

**เตรียมขอจ่ายปันผลอีก1บาท/หุ้น**
ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท กำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2552 ในวันที่ 8 เมษายน 2552 เวลา 14.00 น. ณ.ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทาราแกรนด์ โดยเห็นชอบให้นำเสนอเรื่องพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2551 ในอัตราหุ้นละ 4.00 บาทรวมเป็นเงิน ประมาณ 5,987 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 51 ของกำไรสุทธิ แต่บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 3.00 บาท เป็นเงินประมาณ 4,490 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 ดังนั้นจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายอีก ในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,497 ล้านบาท โดยปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2552 และกำหนดจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในวันที่ 24 เมษายน 2552

**IRPCขาดทุนอ่วม1.8หมื่นล้าน**
นางสาวนวลวรรณ ภู่ประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ งานนักลงทุนสัมพันธ์บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ขาดทุนสุทธิตามงบกำไรขาดทุนรวม 18,261.87 ล้านบาท ลดลงจำนวน 31,945.18 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 233 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 13,683.31 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายสำหรับปีสิ้นสุดวัน ที่ 31 ธันวาคม 2551 จำนวนเงิน244,693.87 ล้านบาทเปรียบเทียบกับปีก่อน จำนวนเงิน 227,518.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,175.81 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8 แต่มีต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 45,752.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22 ทำให้มีขาดทุนขั้นต้นเป็น จำนวนเงิน 13,071.98 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไรขั้นต้น เป็นจำนวนเงิน 15,504.70 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนสูงและมีการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในไตรมาส 4 ของปีนี้
อีกทั้งบริษัทฯ มีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและสินค้าคงเหลือประมาณ 15,469 ล้านบาทและเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงทำให้ราคาตลาดของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นมา และเพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ จึงลดปริมาณการกลั่นลงในช่วงครึ่งปีหลัง 2551 ลงเหลือระดับการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยที่ 159,670บาร์เรลต่อวัน ทำให้ในปี 2551 บริษัทฯ มีระดับการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 170,035 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับระดับการกลั่นเฉลี่ย 189,454 บาร์เรลต่อวันในปีก่อน
พร้อมกันนี้ บริษัทมีรายได้อื่น เป็น 956.40 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนซึ่งมีจำนวนเงิน 4,291.60 ล้านบาท ลดลง 3,335.20 ล้านบาทหรือร้อยละ 78 นอกจากนี้ยังขาดทุนจากการปรับมูลค่าเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 1,050.06 ล้านบาท และมีกำไรจากสัญญาแลกเปลี่ยนส่วนต่างราคาน้ำมันล่วงหน้าสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 669.62 ล้านบาท
อีกทั้งบริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายทางการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551 จำนวนเงิน1,398.49 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนซึ่งมีจำนวนเงิน 1,106.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 291.67 ล้านบาท หรือร้อยละ26 เนื่องจากมีดอกเบี้ยจ่ายสำหรับหุ้นกู้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 490 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี2550

**BCPพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน**
ด้านบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ส่งงบการเงินรายปี 2551 แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งพบว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 689.43 ล้านบาท พลิกจากผลดำเนินงานปี2550 ซึ่งมีกำไรสุทธิถึง 1,690.80ล้านบาท โดยมีEBITDAในส่วนโรงกลั่นของปีที่ผ่านมาติดลบ 660.70 ล้านบาท แต่มีEBITDAในส่วนการตลาด 1,190.71ล้านบาท ขณะที่ปี2550 มีEBITDA ที่ 3,768.80ล้านบาทและ208.65ล้านบาทตามลำดับ
ขณะที่บริษัทมีรายได้จากการขายในธุรกิจโรงกลั่น 124,954.29ล้านบาท และมีรายได้จากการตลาด 83,516.06ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทมีต้นทุนการขายที่สูงขึ้นโดยในส่วนโรงกลั่นอยู่ที่124,070.17ล้านบาทและในส่วนการตลาดที่81,107.04ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี2550 บริษัทมีรายได้จากการส่วนโรงกลั่น92,250.92ล้านบาท จากส่วนการตลาด66,857.37ล้านบาทแต่มีต้นทุนส่วนโรงกลั่นเพียง87,964.71ล้านบาท และต้นทุนในส่วนการตลาดเพียง65,534ล้านบาท

**PTTARตามติดพี่น้องร่วมขาดทุน**
สุดท้ายช่วง 20.00น. บมจ. ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) ได้รายงานผลดำเนินงานปี2551 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ขาดทุนสุทธิ 8,465ล้านบาท พลิกจากปี2550ซึ่งมีกำไรสุทธิ 347ล้านบาท โดยขาดทุนสุทธิต่อหุ้น2.86 บาท จากงวดเดียวกันในปีก่อนหน้ามีกำไร0.12บาท/หุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น