xs
xsm
sm
md
lg

จูบเดียวก็รู้ได้คนไหน ‘ตัวจริง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชี้จูบแรกของผู้ชายต้องชุ่มฉ่ำชุ่มชื่น เพื่อให้หนุ่มสามารถทดสอบความสามารถในการเจริญพันธุ์จากน้ำลายสาว ขณะที่ผู้หญิงใช้เสี้ยวนาทีแห่งความนุ่มนวลรัญจวนใจนี้สำรวจระบบภูมิคุ้มกันของชายหนุ่มเช่นเดียวกัน เพื่อให้ได้คู่ครองที่จะช่วยกันสร้างทายาทที่สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
“ผู้ชายชอบจูบที่ชุ่มชื่นและมักเปิดปากกว้างกว่า ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะพวกเขากำลังพยายามถ่ายทอดเทสโทสเตอโรนไปกระตุ้นแรงขับทางเพศในตัวหญิงสาวโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว” ดร.เฮเลน ฟิชเชอร์ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัตเจอร์สในนิวเจอร์ซี สหรัฐฯ กล่าวและเสริมว่าการจุมพิตอาจนำไปสู่เพศสัมพันธ์หรือการสะบั้นสัมพันธ์ได้พอๆ กัน
ในการทดลองหนึ่ง พบว่าผู้หญิง 66% และผู้ชายเกือบ 60% ยอมรับว่าจูบแรกที่เลวร้ายทำให้อารมณ์โรแมนติกที่เพิ่งเริ่มต้นยุติลงโดยสิ้นเชิง
“นี่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เรากำลังจะค้นพบกลไกอื่นๆ อีกมากมายที่เราใช้โดยไม่รู้ตัวในการค้นหาลักษณะทางชีววิทยาของคนอื่น”
ฟิชเชอร์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านชีววิทยาเกี่ยวกับความรักและเสน่ห์ดึงดูด อธิบายต่อว่าการจูบเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติที่มีแนวโน้มมุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านวิวัฒนาการมากมาย
การจูบยังถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมคุณภาพ โดยการเปิดโอกาสให้ชาย-หญิงค้นหาคู่ที่เหมาะสมก่อนลงทุนทั้งในแง่เวลา เงินทองและอารมณ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์
ผู้ชายชอบการจูบที่เปียกชุ่ม โดยที่สัมผัสซุกซนซอกซอนของลิ้นช่วยค้นหาวงจรเอสโตรเจนว่าขณะนั้นผู้หญิงมีความสามารถในการเจริญพันธุ์ในระดับใด
ขณะที่ผู้หญิงใช้ช่วงเวลาเดียวกันนั้นค้นหาผู้ชายที่มีภูมิต้านทานโรคเข้มแข็งและเติมเต็มส่วนที่ภูมิคุ้มกันของตนขาดไป เพื่อที่ว่าลูกที่จะเกิดในอนาคตจะมีภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
จากรายงานการศึกษาที่นำเสนอต่อที่ประชุมของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14) ระบุว่าการจูบทำให้สมองผลิตออกซิโตซินออกมามากขึ้น และลดฮอร์โมนความเครียดทั้งในชายและหญิง
งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นว่าความรักเป็นสิ่งเสพติด เนื่องจากกระตุ้นให้สมองผลิตฮอร์โมนความโหยหาในระดับเดียวกับที่พบในสมองคนติดยา และนี่อาจอธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดความรักจึงทำให้บางคนทำบางสิ่งที่ดูไร้เหตุผล กล้าเสี่ยงและก่ออาชญากรรมแห่งความเสน่หา
จุมพิตยังกระตุ้นกิจกรรมในสมอง อย่างไรก็ดี ความรักมีพลังในด้านนี้มากกว่า โดยจากการตรวจสอบด้วยเครื่องสแกนสมอง ฟิชเชอร์พบว่าคนที่เพิ่งตกหลุมรัก สมองส่วนที่ผลิตโดพามีนจะทำงานหนักขึ้น สมองส่วนนี้ยังเชื่อมโยงกับความปรารถนา แรงจูงใจ สมาธิ และพฤติกรรมที่มุ่งเน้นเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน การสแกนสมองคนที่แต่งงานอยู่กับคนรักมา 20 ปีพบปรากฏการณ์คล้ายกันนี้ นอกจากนั้น สมองส่วนที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกสงบสุขที่ผลิตฮอร์โมนเซโรโทนินและออกซิโตซินที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกผูกพัน ยังทำงานหนักด้วยเช่นกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันว่ารักแท้สามารถยืนยงคงอยู่ท้าทายการพิสูจน์ของกาลเวลา
“ขอเพียงแค่คุณจูบให้ถูกคนเท่านั้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น