xs
xsm
sm
md
lg

มรสุมเศรษฐกิจฟันธุรกิจหนังสือล้มตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุ๊กสไมล์ขยายสาขา ช่วยตลาดหนังสือโต4.3% ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจเดี้ยง แต่อาจเป็นดาบเฉือนร้านหนังสืออิสระให้ตายเร็วขึ้น เผยแนวโน้มหนังสือออกใหม่ราคาเฉลี่ยสูงขึ้น สำนักพิมพ์จะอยู่รอดต้องค่ายใหญ่ หรือกลุ่มที่มองเห็นโอกาสจับตลาดนีชให้อยู่มือ

วานนี้(11 ก.พ.) บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ที่สุดในธุรกิจหนังสือ ปี 2551“ นายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหนังสือในปีที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขจำนวนหนังสืออกใหม่ ที่เข้าสู่ร้านหนังสือนั้น มีจำนวนที่ลดลงจากปี 2550 กว่า 13,348 เล่ม เฉลี่ย 36.6 เล่มต่อวันที่เข้าไปวางจำหน่ายในร้านหนังสือ ราคาต่อเล่มเฉลี่ยสูงขึ้นจากปีก่อน 7% หรือราคาประมาณ 166.20 บาทต่อเล่ม โดยกลุ่มหนังสือ 5 อันดับแรกที่มีออกใหม่มากสุด เรียงตามลำดับคือ วรรณกรรม สัดส่วน 23% หนังสือเด็กเล็ก 18.4% คู่มือเรียน/เตรียมสอบ 9.7% ศาสนา และปรัชญา% 6.4 และบริหารธุรกิจ 3.8%

ขณะที่สำนักพิมพ์ที่มียอดขายมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ซีเอ็ด, นานมีบุ๊คส์, อมรินทร์พริ้นติ้ง เป็นต้น ส่วนผู้จัดจำหน่ายหรือร้านหนังสือที่มียอดขายมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ซีเอ็ดยูเคชั่น, อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ และนานมีบุ๊คส์ เป็นต้น ซึ่งการขยายสาขาของร้านหนังสือในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้นถึง 160% เป็นผลจากการแข่งขันของกลุ่มค้าปลีกที่ต้องการมีจุดให้บริการขายหนังสือภายใน รวมถึงการขยายสาขาของบุ๊คสไมล์ของร้านสะดวกซื้อ อย่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งเปิดบุ๊คสไมล์ไปแล้วกว่า 1,656 สาขา จากจำนวนเซเว่นฯที่มีกว่า 5,000 สาขาทั่วประเทศ ขณะที่ภาพรวมร้านหนังสือทั่วประเทศมี 2,483 ร้าน แบ่งเป็น เครือข่าย 2,108 ร้าน และร้านหนังสืออิสระ 375 ร้าน

“ การผลักดันของกลุ่มร้านหนังสือแบบเครือข่าย อย่าง บุ๊คสไมล์ หรือตามห้างค้าปลีก ทำให้รายได้ของตลาดหนังสือยังเติบโตถึง 4.3% ในปีก่อน แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ก็มีผลเสียต่อร้านหนังสืออิสระ รายย่อยทั่วไป ที่อาจจะมีการปิดตัวลดลง เพราะถูกแย่งทำเลการขาย”

นายทนง กล่าวต่อว่า ภาพรวมธุรกิจหนังสือในปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างสูง สำนักพิมพ์กว่า 50% ของทุกขนาดทั้งระดับเล็ก กลาง และใหญ่ อาจจะต้องปิดกิจการ หรือได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งนี้มองว่าสำนักพิมพ์ควรที่จะมีการจัดการที่ดีทั้งในองค์กร รวมถึงวิธีการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการเลือกออกหนังสือใหม่ ควรมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งแนวโน้มของสำนักพิมพ์ใหญ่ มีความเสี่ยงน้อยสุดในธุรกิจหนังสือ ขณะที่กลุ่มที่จับทางออกในกลุ่มหนังสือที่เป็นนีชมาเก็ต ตรงใจผู้อ่าน ก็ถือเป็นกลุ่มที่เห็นการเติบโตที่ดีเช่นกัน

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของ สมาคมผู้จัดพิมพ์ และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุว่าปี 2550 ธุรกิจหนังสือโต 4.3% โดยคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 1.7เล่มต่อคนต่อปี และมีการซื้อหนังสือเฉลี่ยที่ 260 บาทต่อคนต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น