xs
xsm
sm
md
lg

มหกรรมการค้าลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ได้ส่งผลลุกลามไปยังเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในโลก ทั้งยุโรป เอเชีย ไม่เว้นกระทั่งไทย การดำเนินนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลของทุกประเทศต้องกระทำ ซึ่งในส่วนของไทยเอง รัฐบาลก็ได้มีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการใช้งบกลางปี 1.15 แสนล้านบาท โดยยังไม่รวมถึงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นที่จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องในเร็วๆ นี้
กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกระทรวงหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและส่งออก ซึ่งได้มีมาตรการออกมามากมาย ทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน ในภาวะที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ แผนการกระตุ้นการส่งออก เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการที่ส่งออกชะลอตัวให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย
ล่าสุด ได้มีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวชายแดน และมีเป้าหมายในการช่วยเหลือทั้งค่าครองชีพให้กับประชาชนในส่วนภูมิภาค และช่วยเหลือผู้ผลิต ผู้ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกชะลอตัว แบบที่ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว
แผนงานที่ว่านั้น ก็คือ กรมส่งเสริมการส่งออก ได้กำหนดจัดมหกรรมการค้าลุ่มน้ำโขงปี 2552 (Mekong Export Festival 2009 : MEF 2009) ตามพื้นที่แนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี มุกดาหาร และเชียงราย
เป้าหมายในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะเป็นการจัดงานที่นำสินค้าจากผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทย สินค้าชุมชน สินค้าในท้องถิ่น และสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาจัดแสดงร่วมกัน เพื่อให้เกิดการซื้อ การขาย อันจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าว ยังเป็นไปตามนโยบายของนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และช่วยเหลือภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะส่งออกชะลอตัว
รูปแบบการจัดงานจะใช้คอนเซ็ปต์เหมือนกับการจัดงานเมดอินไทยแลนด์ที่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ กล่าวคือ จะมีสินค้าฝีมือคนไทยทุกรูปแบบไปจัดจำหน่าย แต่ที่จะปรับให้เข้ากับการค้าในส่วนภูมิภาค โดยเปิดให้มีสินค้าในชุมชน สินค้าท้องถิ่น มาร่วม และที่ขาดไม่ได้ ก็คือ สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเป้าหมายการจัดงาน จะดึงทั้งคนในท้องถิ่น จังหวัดใกล้เคียง และคนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาร่วมงาน
“ตั้งเป้าไว้ว่าในการจัดงานแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนราย ซึ่งจะทำให้เกิดการซื้อขาย มีเงินหมุนเวียน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี ที่สำคัญ ยังเป็นการช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน เพราะสินค้าที่นำมาขาย เป็นสินค้าดี คุณภาพส่งออก ขณะเดียวกัน เป็นการช่วยให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากส่งออกชะลอตัวได้มีที่ระบายสินค้าด้วย”นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกกล่าว
สำหรับการจัดงานจะประเดิมที่จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดแรก กำหนดจัดงานวันที่ 6-15 มี.ค.2552 ณ ทุ่งศรีเมือง มีจำนวนคูหาทั้งสิ้น 440 คูหา โดยผู้เข้าร่วมงานร้อยละ 60 จะเป็นผู้ผลิต/ผู้ส่งออกจากส่วนกลาง ร้อยละ 30 เป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออกในท้องถิ่น และเป็นผู้ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะลาว อีกร้อยละ 10
สินค้าที่นำมาแสดงและจำหน่ายในงาน ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพความงาม ตรวจสภาพรถ ตกแต่งรถและธุรกิจแฟรนไชส์
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมพิเศษต่างๆ มากมายที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิงเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าชมงานทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การจัดนิทรรศการ การแสดงคอนเสิร์ต การแสดงพื้นบ้าน และการแสดงบนเวที
ส่วนการจัดงานในอีก 3 จังหวัดที่เหลือ ก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งจะมีการกำหนดวันเวลาและสถานที่ในการจัดงานต่อไป
นักธุรกิจที่สนใจสมัครเข้าร่วมงาน ณ จังหวัดอุดรธานี สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมส่งเสริมการส่งออก ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 ก.พ.2552 โทร. 02512-0093-104 ต่อ 249, 289 และ 311 ส่วนการจัดงานในจังหวัดอื่นๆ สามารถสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมงานได้ล่วงหน้าเช่นเดียวกัน
งานนี้ ไม่เพียงแต่ไทยช่วยไทย แต่ยังสามารถใช้เป็นเวทีโชว์ศักยภาพในการผลิตสินค้าไทยให้ประเทศเพื่อนบ้านได้รับรู้ ซึ่งจะมีผลในการกระตุ้นการส่งออกและการบริโภคสินค้าไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย จากการที่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่เป็นเป้าหมายในการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยในยามที่ตลาดหลักหลายๆ ตลาดประสบภาวะชะลอตัวเช่นนี้ ใครพลาดแล้วจะมาหาว่าไม่เตือนไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น