xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นศก. สมาคมบล.วอนเปิดไฟเขียวงดภาษีบจ.ลุยหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - นายกสมาคมโบรกเกอร์ หนุนมาตรการรัฐบาลแจกเงินคนรายได้น้อย 2,000 บาท เชื่อช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีเงินหมุนยเวียน ขณะเดียวกันย้ำภาครัฐต้องมีมาตรการใหม่เข้าเสริมเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เครื่องยนต์ที่สตาร์ทติดแล้วเดินหน้าต่อไม่ใช่ปล่อยให้ดับวูบ พร้อมวอนเปิดทางเอื้อบริษัทจดทะเบียนลงทุนในหุ้นบจ.รายอื่นได้ โดยงดภาษีส่วนต่างกำไรการซื้อขาย หวังเป็นเม็ดเงินก้อนใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดทุน

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เปิดเผยว่า ตอนนี้ในตลาดทุนไทยมีแนวคิดแบ่งแยกออกมาชัดเจน 2 ประเภทในเรื่องที่เกี่ยวกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจขณะนี้ โดยกลุ่มหนึ่งมองว่าวิกฤตดังกล่าวจะแย่กว่าปี 2540 เพราะตอนนั้นมันเกิดขึ้นภายในประเทศของเราเอง เกิดจากสถาบันการเงินในประเทศ แต่ปีนี้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ดังนั้นเมื่อทั้งโลกเกิดภาวะวิกฤต ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยและต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานตามไปด้วยเช่นกัน

ส่วนกลุ่มคนที่บอกว่ายังดีกว่าปี 2540 เพราะมองว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์โลก แต่ประเทศไทยยังดีอยู่ อย่างมากก็โดนแค่หางแถว อีกทั้งบริษัทต่างๆยังมีกำไรอยู่ ไม่เหมือนปี 2540 ที่ทุกแห่งเจ๊งหมด จึงไม่รู้ว่าใครจะถูกจะผิด

“คนที่มองว่าแย่กว่าปี2540 เขาเห็นว่าแย่มาก เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70-80% ขณะที่คนมองแง่ดี ก็มองว่าต่างประเทศไม่ดีช่างมัน เราต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น พึ่งพาภูมิภาคมากขึ้น แล้วเราก็จะเติบโตขึ้นได้เอง แต่ในส่วนนี้เราต้องกลับมามองที่มาตรการรัฐบาลด้วยว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็วแค่ไหน”นายกัมปนาท กล่าว

ทั้งนี้ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์มองว่า มาตรการของรัฐบาลที่จะให้เงิน 2,000 บาทแก่คนที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาทนั้น จะช่วยเศรษฐกิจโดยตรง อย่างที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้ เพราะการเอาเงิน 2,000 บาท ใส่กระเป๋าคน 8 ล้านคน รวมเป็นเงินประมาณ 16,000 ล้านบาทนั้น อย่างน้อยเงินดังกล่าวน่าจะเกิดการหมุนเวียนได้ 1 รอบ เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อว่าจะใช้เงินที่ได้มาทันที และหากมีการให้เงินอีกรอบในที่สอง อีก 16,000 ล้านบาท รวม 32,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยในระบบ โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องหมุนต่อไปได้

"เมื่อไรที่คนเริ่มใช้จ่ายเงินเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องมันก็จะหมุน เพราะเมื่อเอาเงินให้คนละ 2พันบาท คนเหล่านี้ก็จะเอาเงินไปหมุนต่อเช่นจ่ายแค่ 1,500 บาท เงินนั้นก็จะเริ่มหมุนไปในระบบเศรษฐกิจอย่างเรื่อยๆ โดยประเทศที่กำลังพัฒนา ยามเศรษฐกิจปกติจะมีเม็ดเงินลักษณะนี้หมุนอยู่ประมาณ 5- 6รอบในหนึ่งปี แต่ถ้าประเทศที่พัฒนาแล้วบางแห่งจะหมุน 10 - 20 รอบ หรือบางแห่งอาจถึง 30 รอบต่อปี ซึ่งจะมีเม็ดเงินเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจได้ดี เป็นสิ่งที่ทางการเร่งทำและคาดว่าผลจากมาตรการนี้จะเริ่มเห็นชัดในเดือนพฤษภาคม"

อย่างไรก็ตามยังยอมรับว่าเป็นเรื่องที่คาดเดาลำบากว่า ผลจากมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะคนที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ก็จะเชื่อว่าอย่างน้อยในระบบก็จะมีการหมุนเวียนประมาณ 1- 2รอบ แต่คนที่ไม่เห็นด้วย จะคิดว่าเอาเงินไปให้2,000บาทแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร สู้เอาเม็ดเงินในส่วนนี้ไปใส่ในโครงการเมกะโปรเจกต์ และโครงการภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่น่าจะได้รับประโยชน์มากกว่า เพื่อให้ได้ในทางด้านกระตุ้นการซื้อ การใช้งาน กระตุ้นการจ้างงานมีผลทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งถือว่าเป็นเรืองมองต่างมุมของแต่ละคน

"บังเอิญผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นจึงมองว่าเมื่อมีเงินมาเข้ากระเป๋าคนรายได้น้อย ส่วนตัวเชื่อว่าจะเกิดการใช้จ่ายทันที แต่ในเงื่อนไขต้องไม่เข้ากระเป๋าคนประเภทผม หรือมีเงินเดือนที่สูงกว่านั้น เพราะเข้ามาในกระเป๋าผม 2,000บาทผมก็ไม่ใช้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าตั้งแต่พฤษภาคมเป็นต้นไปก็จะเริ่มมีการหมุนเวียนของเงิน หรือเป็นการสตาร์ทเครื่องยนต์ให้เดินหน้าไปได้ และเกิดการโรลโอเวอร์ต่อในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีมาตรการเสริมเข้ามากระตุ้นต่อ ไม่ให้เครื่องที่ติดแล้วดับลง เพราะนักเศรษฐศาสตร์ทุกคนเชื่ออย่างนั้น ถ้าเดินต่อได้ เม็ดเงินตรงนี้จะช่วยได้เร็วขึ้น”

ส่วนมาตรการภาษี นั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะช่วยในรูปแบบไหน เพราะมีทั้งลบและบวก เช่นการเก็บภาษีน้ำมันก็มีผลกระทบในแง่ลบ เพราะจะทำให้ราคาน้ำมันไม่ปรับตัวลดลง ถ้าให้รัฐให้มาตรการภาษีเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย รวมทั้งกระตุ้นการลงทุน ก็จะถือเป็นตัวเสริมให้เกิดการลงทุน เกิดการจ้างงานได้ ดังนั้นมาตรการภาษีเราต้องแบ่งและมองออกไปในแต่ละเรื่องมากกว่า ทั้งนี้ในส่วนของตลาดหุ้นได้มีการเสนอไปด้วยเช่นกัน นั่นคือการให้บริษัทจดทะเบียนเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนด้วยกัน โดยควรที่จะยกเว้นภาษีส่วนต่างกำไรการซื้อขายหุ้นให้กับบริษัทที่จะเข้ามาซื้อขายหุ้น ให้เหมือนกับนักลงทุนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้สมาคมบริษัทจดทะเบียนก็เสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว

"ได้มีการเสนอเรื่องดังวกล่าวเข้าไป แต่ก.ล.ต.ห่วงว่าอาจทำให้ภาครัฐเสียรายได้ แต่ความจริงต้องบอกว่าถ้าคนไม่สิทธิประโยชน์ทางภาษี คนก็ไม่ค่อยเข้าลงทุน และคุณก็จะไม่ได้อะไรอยู่ดี เรื่องนี้เคยพูดคุยกับรมว.คลังคนก่อนมาแล้ว หากต้องการพยายามเก็บภาษี แต่ไม่มีฐานภาษีให้เก็บ คุณก็ไม่ได้เงินอยู่ดี แคปปิตอล เกน (Capital Gain) ก็ไม่มี แต่เราควรกระตุ้นให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้มาตรการภาษีนี้ดึงดูดความสนใจ"

ปัจจุบัน พบว่าบริษัทจดทะเบียนมีการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนด้วยกันเองมีเม็ดเงินรวมประมาณ 70,000 กว่าล้านบาท แม้ดูเป็นจำนวนมาก แต่ความจริงนิดเดียว เพราะเป็นการลงทุนระหว่างบริษัทด้วยการกันเองตามกลยุทธ์ของบริษัท เช่น ปตท.ลงทุนในบริษัทในเครือ ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์ ไม่ใช่การลงทุนจริงในตลาดหุ้นดังนั้น หากต้องการกระตุ้นการซื้อขาย การลงทุนในตลาดหุ้นจริง ต้องให้บริษัทจดทะเบียนไปซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนรายอื่นที่ธุรกิจไม่เกี่ยวข้องกัน ให้เป็นไปในรูปของการลงทุนจริง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเม็ดเงินใหม่ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น และหลายฝ่ายก็คาดหวังเช่นนั้น

“จริงๆบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นบริษัทที่น่าลงทุน ซึ่งสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯทำอยู่ก็เป็นเรื่องดี นั่นคือการให้บริษัทจดทะเบียนซื้อหุ้นของตัวเองคืนจากภาวะวิกฤตที่ฉุดให้ราคาหุ้นลดลงไปมาก ต่ำกว่าบุ๊คแวลู โดยตลาดหลักทรัพย์ฯเดินหน้าในเรื่องนี้ไปมาก และก.ล.ต.ก็ช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เอื้ออำนวยมากขึ้น อย่างไรก็ตามมองว่าแค่เพียงจุดนี้ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างดีมานด์ที่ดีให้ตลาดหุ้นได้ ควรสนับสนุนในเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วย"

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้น และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ เป็นเรื่องที่รับได้และดูเหมาะสม โดยเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ต้องให้เวลาสักพักเพื่อรอเห็นผลจากมาตรการเหล่านี้ว่าเป็นเช่นไร เช่นเดียวกับการเพิ่มเงินเข้ามาแก้ไขเศรษฐกิจด้วยวงเงินกู้ต่างประเทศนั้น แต่ในหลายประเทศเท่าที่ติดตามข้อมูลมาโดยตลอด ก็พบว่ามีการกู้เงินหรือนำเงินก้อนใหญ่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน ส่วนจะให้ภาครัฐบาลมีมาตรการอื่นๆเข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ คาดว่าภาครัฐคงรอผลที่ออกมาตรการชุดแรกไปก่อน และน่าจะมีมาตรการอื่นๆมารองรับเพิ่มเติมในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น