xs
xsm
sm
md
lg

ขู่หากรัฐล้มเลิก"อีลิท"ต้องหาเงินชดเชย5พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – “สุรพงษ์” รอหารือผู้บริหารและผู้ถือหุ้น หลัง ครม.มีมติให้ศึกษาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากต้องปิดอีลิทการ์ด ระบุต้องใช้เงินอย่างน้อย 2-5 พันล้านบาทเพื่อชดเชยค่าเสียหายแก่สมาชิก พร้อมเตรียมเสนอ 3 แนวทางให้ ครม.เลือก ขายกิจการ ยุบทิ้ง หรือดำเนินการต่อ ระบุแต่ทุกแนวทางต้องมีแผนการทำงานที่รับช่วงกันอย่างเหมาะสม พร้อมเตรียมเสนอ “ศศิธารา” ขยายเวลารับสมัครตำแหน่งผู้จัดการใหญ่เหตุยังไม่มีใครกล้าเข้ามาสมัคร ด้านททท.ระบุ ถ้าจำเป็นก็ต้องปิดกิจการแต่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริหาร และรักษาการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด(ทีพีซี) ผู้ดำเนินโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างรอหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงซึ่งขณะนี้ทั้งหมดอยู่ระหว่างการเดินทางไปปฎิบัติงานในต่างประเทศ ได้แก่ นายสรจักร เกษมสุวรรณ ประธานคณะกรรมการทีพีซี นางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ในฐานะเป็นองค์กรที่ถือหุ้นทั้งหมดของทีพีซี และ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(บอร์ดททท.) เพื่อขอความคิดเห็นถึงแนวทางการดำเนินงานนับจากนี้ไป
โดยจะนำข้อมูลผลการศึกษาที่ทีพีซีว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในสมัย ร.ท.สุวิทย์ ยอดมณี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ว่า หากต้องดำเนินกิจการอีลิทการ์ดต่อไปจะเป็นอย่างไร และหากปิดกิจการจะเป็นอย่างไร มูลค่าของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ร่วมถึงวงเงินที่จะต้องจ่ายชดเชยรวมถึงค่าฟ้องร้องจากสมาชิกและตัวแทนจำหน่ายที่จะเกิดขึ้นภายหลังการปิดกิจการ เบื้องต้นคาดว่าถ้าปิดกิจการรัฐต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 2-5 พันล้านบาท สำหรับชดเชยแก่สมาชิก
“ทุกข้อมูลที่มีอยู่แล้ว จะนำมาปรับให้ทันสมัยขึ้นเพื่อนำออกมาเสนอ และอัพเดทตัวเลขต่างๆให้เป็นปัจจุบันที่สุด เช่น เรื่องขาดทุนเราจะนำผลการศึกษาที่ทำไว้แล้วมาปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น เช่น ตัวเลขขาดทุนแบ่งเป็นรายปีว่าลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร แผนการดำเนินงานและหารายได้เสริม เพราะที่ผ่านมาแม้บริษัทจะปรับปรุงแผนมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบกับการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ต้องนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้ได้รับทราบอีกครั้ง เพื่อให้ดำเนินการตัดสินใจ”
***ชู3ทางเลือกก่อนส่งครม.ชี้ขาด**
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่จะเสนอ ครม. จะแบ่งเป็น 3 แนวทางได้แก่ 1.เดินหน้าธุรกิจต่อ พร้อมแผนการทำงานที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้จริงและรวดเร็ว 2.ขายกิจการให้แก่เอกชนที่สนใจ และ 3.ปิดบริษัท พร้อมยื่นข้อเสนอให้แก่สมาชิกผู้ถือบัตรถึงค่าชดเชยที่จะได้รับ แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็ต้องเตรียมงบประมาณจำนวนหนึ่ง สำหรับชดเฉยค่าเสียหายและค่าฟ้องร้องของสมาชิกที่จะเกิดขึ้น
เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ ทีพีซีต้องการอยู่แล้ว เพราะเราต้องการนำเสนอข้อมูลให้รัฐบาลและ ครม.ได้รับทราบ เพื่อช่วยหาแนวทางแก้ไข เช่นหากตัดสินใจว่าให้ดำเนินธุรกิจต่อ ก็ต้องมีแผนธุรกิจควบคู่ไปด้วย ว่าต้องทำอย่างไรให้บริษัทลดขาดทุนสะสมและเกิดกำไรภายในการทำงานช่วงกี่ปี ตรงนี้ให้ครม.สั่งการมาให้ชัดเจนตามแนวทางที่ทีพีซีวางไว้ โดยที่ผ่านมามีแต่มติให้ทำต่อแต่ไม่วางแนวทางว่าทำอย่างไร
หรือ หากต้องการขายกิจการก็ต้องออกเป็นเงื่อนไข ราคาสิทธิประโยชน์และการบริการที่จะได้รับเมื่อบริษัทตกไปอยู่ในการทำงานของภาคเอกชน ซึ่งทีพีซีก็ถือเป็นบริษัทจำกัดทั่วไป ด้วยรูปแบบการทำงาน การบริหารงาน แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ 100% เป็นหน่วยงานรัฐคือ ททท. จึงถูกมองว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนทางเลือกว่าจะหยุดขายสมาชิกใหม่แล้วบริหารแค่สมาชิกเก่าที่มีอยู่ตรงนี้มองว่าจะไม่ช่วยให้สถานะของบริษัทดีขึ้น เพราะ เราไม่มีรายได้จากการขายบัตรมาหมุนเวียน ส่วนรายได้เสริมก็คงไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดจะนำเสนอต่อคณะผู้บริหารระดับสูงของ ทีพีซี ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดอีลิทในวันที่ 10 ก.พ. 52 และเสนอที่ประชุมบอร์ดททท.วันที่ 18 ก.พ. 52 จากนั้นจึงเสนอผลการตัดสินใจและทางเลือกทั้งหมดต่อที่ประชุมครม.ให้เป็นผู้ตัดสินใจเด็ดขาดครั้งสุดท้าย
สำหรับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ ทีพีซี ที่อยู่ระหว่างการประกาศรับสมัครผู้สนใจอยู่ในขณะนี้ จากข่าวที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ที่สนใจจะมาสมัครเกิดความไม่เชื่อมั่นในองค์กร อีกทั้ง หลักเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติผู้ที่จะมานั่งตำแหน่งนี้ ในฐานะเข้ามาเพื่อปรับโครงการการทำงานทั้งระบบของทีพีซี หรือ ผู้ที่จะเข้ามาเพื่อดำเนินการปิดกิจการ คุณสมบัติความรู้ความสามารถจะต้องต่างกัน
จึงเป็นไปได้ที่จะเสนอต่อ นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ผู้จัดการใหญ่ ทีพีซี ขอให้ขยายเวลาการรับสมัครออกไปตามที่เห็นสมควรจากขณะนี้กำหนดเดิมจะปิดรับสมัครในวันที่ 5 ก.พ.52 ซึ่งหาก ประธานคณะกรรมการสรรหาเห็นด้วยก็จะออกเป็นประกาศกระทรวงฯเพื่อปฎิบัติได้ทันที
ล่าสุด บริษัทได้จัดประชุมพนักงานและตัวแทนจำหน่าย เพื่อทำความเข้าใจมติ ครม.ให้ทุกต้องตรงกัน พร้อมเตรียมทำหนังสือชี้แจงสมาชิกในต่างประเทศ

***ททท.ย้ำถ้าจำเป็นก็ต้องปิด**
ด้านนายอักกพล พฤกษะวัน รองผู้ว่าการด้านสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถือหุ้น 100%ในบริษัทไทยแลนด์พริวิเลจ คาร์ด จำกัด(ทีพีซี) กล่าวว่า จะนำมติ ครม.ไปชี้แจงให้บอร์ด ททท.รับทราบในวันที่ 18 ก.พ.นี้ พร้อมหารือร่วมกันว่าจากนี้ไปจะดำเนินการอย่างไร หากต้องยกเลิกกิจการจริงจะเกิดความเสียงหายแค่ไหน แต่เบื้องต้น หากรัฐบาลมีมติยกเลิกอันดับแรกคือประเทศภาพลักษณ์ประเทศจะได้รับความเสียหายแต่หากต้องทำจริงก็ต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
“ทีพีซีเคยเสนอแผนธุรกิจต่อที่ประชุมครม.ชุดก่อน โดยมีมติว่าให้ดำเนินโครงการต่อ เพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทย และยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะที่จะยกเลิกบริษัท “
ถ้าต้องยกเลิกบริษัททีพีซีจริงๆ ยอมรับว่า ททท.ก็ได้รับผลกระทบด้วย ว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวหมดความเชื่อมั่น แต่หากมีความจำเป็นก็ต้องปิดบริษัท และ ยกเลิกโครงการแต่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผลกระทบและความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา ทีพีซีได้เสนอแผนธุรกิจฉบับแก้ไขให้แก่บอร์ดทีพีซีและบอร์ด ททท.ได้เห็นแล้วแต่ถูกตีกลับ เพื่อให้ไปทำรายละเอียดในเชิงลึกมาเสนอ สำหรับแผนงานล่าสุด ที่ ทีพีซีเสนอ เช่น เพิ่มรายได้ลดรายจ่าย และ เพิ่มแผนงานบางอย่างที่จำเป็นเข้าไป จุดประสงค์เพื่อให้องค์กรและประเทศได้ประโยชน์สูงสุด เช่นกำหนดอายุบัตร 30 ปี จากของเดิมที่เป็นบัตรตลอดชีพ  หรือแผนการปรับขึ้นราคาขายบัตรปีละ 20%  เงื่อนไขการโอนสิทธิ์บัตรไปให้บุคคลอื่นๆ และ การใช้บริการ กอล์ฟ สปา และ ตรวจสุขภาพ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเบื้องต้นครั้งละ 800 บาท จากเดิมที่ฟรีทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น