ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แกนนำพันธมิตรฯ ใต้ 3 แห่งทั้งสงขลา, สุราษฎร์ฯ และชุมพร ขานรับค้านเอกชนผลิตน้ำประปา โดยพันธมิตรฯ สงขลาและ สรส.หาดใหญ่ เป็นหัวหอกหลักการต่อสู้ครั้งนี้ ด้านพนักงานสำนักงานประปาหาดใหญ่ลงชื่อค้านสุดตัว แฉหากปล่อยเอกชนหลุดเข้ามาผลิตน้ำประปาเหมือนนำพิมเสนแลกกับเกลือ เฉพาะหาดใหญ่ที่เดียว กปภ.ต้องสูญเสียเงินต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อยเกือบ 8 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2552 (9 เดือน) ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ และหากมีการดำเนินการจริง ยังไม่รู้ว่าเงื่อนไขสัญญาต่างๆ จะทำให้รัฐเสียหายอีกเท่าไหร่ ด้านพันธมิตรฯ จ.สงขลา เตรียมยื่นหนังสือหาทางยับยั้งและยกเลิกโครงการ โดยเร็วที่สุด ผ่าน ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว. และนายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลาวันนี้ ( 27 ม.ค.)
ความคืบหน้ากรณีที่ผู้บริหารการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) มีโครงการว่าจ้างเอกชนบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาระบบประปาระหว่างปีงบประมาณ 2552 – 2554 เป็นระยะเวลา 3 ปี ในภาคใต้ คือ การประปาส่วนภูมิภาคสุราษฎร์ธานี การประปาส่วนภูมิภาคชุมพร และการประปาส่วนภูมิภาคหาดใหญ่ โดยล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 3 จังหวัด ณ เวทีพันธมิตรเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อนำเรื่องดังกล่าวทำความเข้าใจต่อประชาชนของแต่ละจังหวัด เพื่อร่วมกันคัดค้านนโยบายดังกล่าว
ในทางการต่อสู้ของการประปาฯหาดใหญ่ มีความเข้มแข็งทั้งในส่วนของพนักงาน ซึ่งต่อสู้ในนามของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) ซึ่งได้ส่งเรื่องให้แก่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สาขาหาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนการคัดค้านในภาพรวม และภาคประชาชนที่ร่วมติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.สงขลา เป็นตัวแทน เพื่อปกป้องประปาฯหาดใหญ่ให้พ้นจากความไม่โปร่งใส
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพนักงานสำนักงานประปาฯหาดใหญ่ ทำหนังสือถึงสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เปิดเผยข้อมูลในข้อเสียเปรียบในการเปิดรับเอกชนเข้ามาผลิตน้ำประปา ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณค่าจ้างในการบริหารจัดการผลิตน้ำประปาและบำรุงรักษาระบบประปา ในระหว่างปีงบประมาณ 2552-2554 โดยชี้ให้เห็นว่า จากการที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จ้างให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารตามช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งพนักงานสำนักงานประปาฯหาดใหญ่ได้ร่วมกันพิจารณาและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ ทั้งในส่วนของพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม และผลกระทบกับองค์กร ดังนี้
1.ผลกระทบกับพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม ทำให้ขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน เนื่องจากต้องโยกย้ายไปปฏิบัติงานในสำนักงานประปาฯอื่น หรือบางคนต้องไปปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ไม่ตรงกับตำแหน่ง ขาดความก้าวหน้าในอาชีพ และบางคนต้องแยกกันอยู่กับครอบครัว ส่งผลกระทบต่อด้านจิตใจและมีภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพิ่มขึ้น
ในส่วนของ กปภ.เองก็ต้องจ่ายเงินเดือนและเงินสวัสดิการอื่นๆ ให้แก่พนักงานที่โยกย้ายไปปฏิบัติงานสำนักงานประปาฯอื่นอยู่เดิม แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้น คือ ค่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งผลการปฏิบัติงานของพนักงานที่ผ่านมาก็สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ โดยไม่ได้เกิดความเสียหายต่อองค์กรแต่อย่างใด
2.ผลประโยชน์ที่ กปภ. ได้รับ ภายหลังจากที่ให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ ก็ไม่มีข้อมูลอ้างอิงตัวใดที่บ่งชี้ว่า กปภ. จะได้รับผลประโยชน์มากกว่าพนักงานของ กปภ.ปฏิบัติงานเอง ในทางตรงกันข้าม กปภ. อาจจะเสียผลประโยชน์มากกว่า
3.ทรัพย์สินที่ให้เอกชนใช้ในการดำเนินงานทั้งหมดเป็นของ กปภ. ซึ่งใช้เงินภาษีอากรของคนทั้งชาติมาสร้าง แต่ผู้ได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวกลับเป็นเพียงคนกลุ่มเดียว โดยกลุ่มคนส่วนใหญ่คือประชาชนผู้ใช้น้ำไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรต่อการที่จ้างให้เอกชนเข้ามาบริหาร
4.ความเชื่อมั่นในประสบการณ์ และความชำนาญงานระบบประปาในพื้นที่ เนื่องจากคุณภาพน้ำดิบประปาฯหาดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์และความรู้เฉพาะค่อนข้างสูงในการแก้ปัญหาในแต่ละสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสภาวะภัยแล้ง จะต้องแก้ไขโดยมีการประสานงานบูรณาการกับหน่วยงานราชการภายนอก จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้ แต่เมื่อ กปภ.จ้างเอกชนดำเนินการแล้ว ภาระหน้าที่ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ยังไม่พ้นความรับผิดชอบของ กปภ. เนื่องจากปัญหาดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อหน่วยงาน
5.เมื่อเกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำ หรือปริมาณน้ำจ่ายให้ผู้ใช้น้ำ จนมีการร้องเรียนจากผู้ใช้น้ำ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือสำนักงานประปาฯ และ กปภ. ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตน้ำให้ได้คุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนด และส่งจ่ายให้ผู้ใช้น้ำได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องแก้ไขและชี้แจงผู้ใช้น้ำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์แก่หน่วยงาน ขณะบริษัทเอกชนไม่ได้รับผลจากปัญหาดังกล่าว
6.หากเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการโดยพนักงานของ กปภ. เอง กับจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาผลิต อ้างข้อมูลจากจัดสรรงบประมาณทำหารปี 2552 (เพิ่มเติม) ตามบันทึกที่ มท 55501/203 ลว. 6 ตุลาคม 2551 เพื่อจ้างบริหารจัดการผลิตน้ำประปา และบำรุงรักษาระบบประปา สรุปได้ว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/เดือนที่ กผป. 5 แจ้งเปรียบเทียบระหว่างการผลิตน้ำโดยพนักงาน กปภ. เองกับจ้างเอกชนดำเนินการ จะทำให้ กปภ. มีค่าใช้จ่ายเงินขึ้นเดือนละ 879,981 บาท ซึ่งปีงบประมาณ 2552 (9 เดือน) คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 7,919,829 บาท
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาทรัพย์สิน (ค่าจ้างยาม) เนื่องจากปีงบประมาณ 2552 การประปาฯหาดใหญ่ได้ทำสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้วทั้งปี หากต้องยกเลิกอาจมีผลกระทบต่อการประปาฯหาดใหญ่ หากจะจ้างต่อก็จะเป็นค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน
ท้ายหนังสือแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการจ้างเอกชนมาบริหารจัดการผลิตน้ำประปา และบำรุงรักษาระบบประปาฯหาดใหญ่ ได้แนบรายชื่อพนักงานสำนักงานประปาฯหาดใหญ่เกือบ 40 คนอีกด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลกระทบดังกล่าวที่ประเมินมาในเบื้องต้นนั้น มาจากข้อมูลที่ต้องมีการเปิดเผย ซึ่งแม้เปรียบเทียบแล้วเสียหายแต่ผู้บริหารก็ยังเพิกเฉย จึงน่าเป็นห่วงยิ่งสำหรับข้อตกลงหรือเงื่อนไขสัญญาต่างๆ นั้นยังไม่ปรากฏ และยังไม่รู้ว่า กปภ.จะมีความเสียหายอีกมากเท่าไหร่ ซึ่งผลกระทบทั้งหมดย่อมมีต่อผู้ใช้น้ำโดยตรงอย่างหาข้ออ้างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในส่วนของการเดินหน้าคัดค้านในนามของภาคประชาชน นายสุมิตร นวลมณี รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.สงขลา เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่การประปาฯ ทั้ง 3 แห่งได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะคัดค้านการเข้ามาของเอกชน การเคลื่อนไหวภาคประชาชนของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะได้มีการส่งหนังสือคัดค้านการว่าจ้างเอกชนผลิตน้ำประปาของการประปาฯหาดใหญ่ ถึง ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา (ส.ส.) ในวันนี้ ( 27 ม.ค.) พร้อมแนบเอกสารรายละเอียดประกอบ โดยชี้ให้เห็นว่า การกระทำของผู้บริหารการประปาส่วนภูมิภาคเป็นการทำให้รัฐและประชาชนได้รับความเสียหาย ถือเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และที่สำคัญเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 84 (10)
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของประชาชนทุกภาคส่วน และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์สาขาหาดใหญ่ จึงขอร้องเรียน เพื่อหาทางยับยั้งและยกเลิกโครงการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชน