สัปดาห์แห่งเทศกาลตรุษจีนปีนี้ รัฐบาลจะเสนอกฎหมายสำคัญเข้าสภาฯ คือในวันที่ 26-27 ม.ค.รัฐบาลจะนำกรอบความร่วมหนังสือสัญญาที่กระทรวงต่างๆร่างขึ้นเพื่อนำไปประชุมอาเซียนซัมมิท ที่หัวหิน เพื่อขอมติความเห็นชอบจากรัฐสภาและในวันที่27-28 รัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2552เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในวงเงิน 1.15แสนล้านบาท เพื่อขอความเห็นชอบผ่านกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร
รัฐบาลจึงต้องเผชิญศึกหนักในสภาตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ถือว่าเป็นสัปดาห์ของการชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ว่าได้ ต้องลุ้นกันว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะผ่านศึกสภาฯครั้งนี้ได้หรือไม่ หรือจะล้มคว่ำกลางสภา เพราะครั้งนี้ฝ่ายค้านจองกฐินเตรียมตีรวนรัฐบาลกันไว้แล้ว และที่น่ากลัวกว่านั้นก็มาจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเอง ที่มีส.ส.บางส่วนแสดงท่าทีจะพยศ
จึงยังเชื่อใจส.ส.ฝั่งรัฐบาลได้ไม่เต็มร้อยว่า ในการประชุมสภาสัปดาห์นี้จะไม่มีรายการแทงข้างหลัง!
เสียงรัฐบาลที่มีอยู่ 266 เสียงเหนือกว่าฝ่ายค้านอยู่มาก หากมีเอกภาพควบแน่นกันได้จริงก็ไม่มีปัญหาต้องหนักใจ แต่ที่ยังแน่ใจไม่ได้ ก็เพราะว่า ของจริงจำนวนเต็มๆ และเนื้อแท้ๆมีอยู่เท่าไหร่ ก็จะได้รู้กันแน่ในสัปดาห์นี้
การประชุมพิจารณากรอบหนังสือสัญญาเพื่อเป็นใบเบิกทางในการประชุมอาเซียนซัมมิท เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้เป็นการประชุมร่วมของรัฐสภา
แน่นอนว่ารัฐบาลไม่น่าจะหนักใจกับวาระนี้ คาดได้ว่ารัฐบาลจะได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาที่มีอยู่ 150 เสียงเข้ามาช่วยอีกมาก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของประเทศชาติ
อีกทั้ง ในส่วนสาระของหนังสือสัญญาที่จะนำเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณาจำนวนกว่า 40 ฉบับ เป็นเรื่องเก่าที่ส่วนใหญ่รัฐบาลของพรรคพลังประชาชนจัดทำไว้ เท่ากับเป็นของเดิมที่ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาวันนี้ทำไว้เอง
จึงเชื่อว่า ฝ่ายค้านไม่น่าจะอภิปรายค้านในเนื้อหาของหนังสือสัญญามากนัก แต่คงจะจัดทัพพุ่งเป้าถล่มไปที่นายกฯอภิสิทธิ์ กับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลัก
แต่สิ่งที่จะได้เห็นแน่ ก็คือส.ส.ฝ่ายค้านจะเดินเกมเรียงหน้าชำแหละนายกฯอภิสิทธิ์ในเรื่องการตั้งนายกษิตมาเป็นรมว.ต่างประเทศแบบม้วนใหญ่แน่ ในประเด็นที่รู้กันดีคือเรื่องที่นายกษิตร่วมชุมนุมประท้วงโค่นรัฐบาลนอมินีสมัคร-สมชายกับ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงการฉากสุดท้ายกับการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เขาโดยข้อหาฉกรรจ์ว่า เป็นผู้ก่อการร้ายสากล
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นโอกาสดี ที่รมว.กษิตจะใช้การประชุมของรัฐสภาครั้งนี้ เป็นเวทีชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา ก่อนที่เขาเข้ารับตำแหน่งรมต.ต่างประเทศให้แก่ประชาชนคนไทย และชาวโลกได้รับรู้ได้เข้าใจในเรื่องนี้อย่างกระจ่างเสียที
การประชุมตามมาตรา 190 นี้ จะใช้เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา คาดว่าหลังจากถูกฝ่ายค้านนวดในประเด็นที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลน่าจะได้รับความเห็นชอบกรอบหนังสือสัญญาฯจากรัฐสภา เพื่อเดินหน้าจัดการประชุมอาเซียนซัมมิทในระหว่างวันที่27ก.พ.-1มี.ค.ต่อไป
มาถึงการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2552เพิ่มเติม ที่จัดเวลาประชุมในวันที่28-29 ม.ค.ซึ่งจะเป็นศึกหนักของรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างแน่นอน เพราะเป็นกฎหมายการเงิน และตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงผ่านความเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
ศึกนี้น่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลจะไม่มีพี่เลี้ยงจากวุฒิสภาเข้ามาอุ้มแล้ว และถ้าได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมด แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ระบุไว้ให้ลาออกก็ตาม ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติคือ
รัฐบาลต้องลาออกสถานเดียว
พยากรณ์กันไว้ล่วงหน้าได้เลยว่า บรรยากาศการประชุมพิจารณากฎหมายฉบับนี้จะต้องเคร่งเครียดวุ่นวายแน่ ฝ่ายค้านจะขังพืดชำแหละรัฐบาลอย่างหนัก ในประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์ลอกแบบนโยบายประชานิยมมาจากรัฐบาลทักษิณ
แต่ฝ่ายค้านคงจะฝังเขี้ยวใส่รัฐบาลใน “มุมการเมือง”เท่านั้น ส่วนในประเด็นทางเศรษฐกิจคงไม่เข้มข้นนัก เพราะเมื่อสำรวจเข้าไปในพรรคฝ่ายค้านตอนนี้ ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ หาตัวขุนพลทางเศรษฐกิจที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ไม่เจอ ที่จะสามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้อย่างมีเนื้อหาสาระ
รัฐบาลเบาใจได้ในส่วนของฝ่ายค้าน เพราะเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ ที่จะคว่ำรัฐบาลได้ แต่ปัญหาหนักกลับอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะสามารถคุมเสียงของ ส.ส.ในฝั่งรัฐบาลไม่ใ ห้ส.ส.แตกแถวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะมีสัญญาณร้ายเตือนมาแล้ว จากการประชุมสภาฯเมื่อสัปดาห์ก่อนที่สภาล่มเพราะ ส.ส.รัฐบาลโดดร่ม
แม้ว่า รัฐบาลจะมีการวางมาตรการควบคุมส.ส.ไว้แล้ว แต่ก็ยังเชื่อมั่นไม่ได้ว่า จะไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น
ความระทึกใจทางการเมือง จึงอยู่ที่สภาฯ รัฐบาลอภิสิทธิ์จะอยู่ต่อไป หรือล่มปากอ่าวเสียก่อน ก็ได้ลุ้นกันในสัปดาห์นี้