xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวหน้ามืดจี้รัฐช่วยด่วน หั่นเงินขอกู้ลง2เท่าเหลือ5พันลบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ-เอกชน กลัวรัฐบาลไม่ช่วย ยอมถอยปรับลดวงเงินขอความช่วยเหลือของรัฐบาลจาก 15,500 ล้านบาท เหลือ เพียง 5,000 ล้านบาท พร้อมปรับลดเงื่อนไขอีก 3 ประเด็นหลักหวังพบกันครึ่งทาง เน้นช่วยอุตสาหกรรมรายเล็ก เตรียมยื่นข้อเสนอผ่าน “ชุมพล” นำเข้าที่ประชุมครม. ด้านเอกชนขีดเส้นทาง ใน 1 เดือนถ้ารัฐไม่ช่วย ธุรกิจชักแถวปิดกิจการกว่า20%

นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในการประชุมกับธนาคาร SMEs และ ภาคเอกชน เรื่อง “การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว” มีมติปรับลดวงเงินสำหรับชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แบ่งเป็นวงเงินกู้เดิมที่ภาคเอกชนกู้ไว้ และ ให้วงเงินกู้ใหม่เพิ่มเติม จากที่คาดว่าจะยื่นขอในวงเงิน 15,500 ล้านบาท ปรับลดเหลือ 5,000 ล้านบาท

ในการปรับลดวงเงินดังกล่าว ได้ปรับลดเงื่อนไขทั้งใหม่หมดรวม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ระยะเวลาการให้เงินช่วยเหลือ จาก 4 ปี ลดเหลือ 2 ปี 2.ลด ภาระดอกเบี้ยที่จะให้รัฐบาลช่วย จากอัตรา 3% ลดเหลือ 2% และ3.ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรมจะช่วยเหลือเฉพาะโรงแรมขนาดไม่เกิน 4 ดาว เพราะ ต้องการช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่เป็นระดับเอสเอ็มอีจริงๆ ขณะที่โรงแรมระดับมากกว่า 4 ดาวจะมีการลงทุนสูงกว่ารายละ 1,000 ล้านบาท หากต้องช่วยก็จะใช้เงินจำนวนมาก และมองว่า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้น่าจะมีเงินทุนและสายป่านที่ดีกว่าผู้ประกอบการรายเล็ก

“ ที่เลือกช่วยเฉพาะหนี้ใหม่ เพราะถือว่าเป็นผลกระทบที่เกิดจากผลของเหตุการณ์การปิดสนามบินจริงๆ และเลือกช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีเงินทุนน้อย โดยวงเงิน 5,000 ล้านบาทลดลงเกือบ 2 เท่านี้จะครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น บริษัททัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ร้านจิวเวอรี่ จึงไม่มากไปที่จะขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเมื่อเทียบกับ 15,500 ล้านบาท ” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกล่าว

ทั้งนี้ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ดังกล่าวนี้ จะทำให้รัฐบาล ต้องใช้งบประมาณในการบริกหารจัดการ เพื่อ ค้ำประกันสินเชื่อ และ การรับภาระดอกเบี้ยในส่วนต่างที่จะเกิดขึ้นเพียง ปีละ 50 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 2 ปี ต่างจากวงเงินเดิมที่รัฐต้องใช้ถึงปีละ 200 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 4 ปี ซึ่งภาระการปล่อยกู้ เป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ แต่รัฐบาลจะปล่อยเงินค้ำประกันผ่านไปยังบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย(บสย.) และ ให้ธนาคารเอสเอ็มอี เป็นผู้ดูแล


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการจะต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯที่กระทรวงการท่องเที่ยวได้ตั้งขึ้นอย่างเคร่งครัด โดยเตรียมเสนอมติที่ประชุมในครั้งนี้ ต่อนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในวันจันทร์ที่ 26 ม.ค.52 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาโดยเร็วที่สุด

นางสาวศศิธารา กล่าวถึง วงเงิน 1,900 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือค่าที่พักและอาหารแก่นักท่องเที่ยวที่ติดค้างอยู่ในประเทศไทยในช่วงเหตุการณ์ปิดสนามบิน ล่าสุดสำนักงบประมาณอนุมัติให้เบิกจ่ายได้แล้วตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปในวงเงินก้อนแรก 220 ล้านบาท

ทางด้านนายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว(ทีทีเอเอ) กล่าวว่า วงเงิน 5,000 ล้านบาท ที่เอกชนรวบรวมเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านเงินกู้นั้น ถือเป็นวงเงินที่คัดกรองมาอย่างดีแล้วถึงความจำเป็นมากที่สุด หาก รัฐบาลยังไม่อนุมัติ หรือเร่งเบิกจ่ายให้ภายใน 1 เดือน นับจากนี้ จะมีผลทำให้เอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องปิดกิจการเพิ่มเป็น 20% จากขณะนี้มีเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องปิดกิจการจากผลของการปิดสนามบินไปแล้วราว 10% ของจำนวนธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด 6,000 ราย ในระบบที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น