xs
xsm
sm
md
lg

ทีมศก.มาร์คปั่นจีดีพีโต2%ฉีดรากหญ้าฟื้นเชื่อมั่นตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กอร์ปศักดิ์” ระบุนโยบายหว่านเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจดึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคหวังสยบวงล้อหายนะ ขณะที่ “กรณ์” เผยตั้งใจดำเนินนโยบายให้เข้าถึงผู้ที่เดือนร้อนทั้ง 3 กลุ่ม มนุษย์เงินเดือน – อาชีพนอกระบบ – ผู้ประกอบการ มั่นใจหากประสานทุกแนวทางเดินร่วมกันได้จีดีพีพลิกลับมาที่ 2.0% ได้แน่นอน "มาร์ค"สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน โชว์มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เตรียมกระตุ้นงบท้องถิ่นค้างเก่ากว่าแสนล้านกระจายสู่รากหญ้าพร้อมเรียกความเชื่อมั่นสายตาชาวโลกผ่านถกอาเซียนซัมมิต

วานนี้(15 ม.ค.) ในงานสัมนา โพสต์ ฟอรั่ม 2009 "พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” ที่ รร.เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาถกฐาเรื่อง "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้ แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและใช้เงินภาษีทิ้งไปแบบสูญเปล่า ซึ่งมาตรการที่ออกมานั้นเป็นมาตรการเริ่มต้นและเป็นระยะสั้นที่ออกมาเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น
ซึ่งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยังมีนโยบายต่างๆ ที่จะนำมาใช้อีกมาก เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะกลางและระยะยาว โดยเม็ดเงินที่คืนให้แก่ประชาชนนั้น เป็นหนึ่งในทางแก้ที่จะเข้าไปเสริมสร้างความสามารถในการบริโภคให้ประชาชน ในกลุ่มที่รัฐบาลวิเคราะห์แล้วว่า เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินมากที่สุด ขณะที่กลุ่มอื่นๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมประกาศมาตรการออกมาใช้ต่อไป
" นโยบายนี้เป็นการเสริมรายได้ให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหมุนวงล้อแห่งหายนะให้กลับคืน และเป็นมาตรการที่รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาในขณะนี้นำมาปฏิบัติเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลทำต้องการดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา ” นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

ยันมาตรการครอบคลุมทุกกลุ่ม

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการต่างๆที่ออกมานั้น ครอบคลุมประชาชนแทบทั้งหมด โดยแบ่งเป็นหลักๆ 3 กลุ่มคือ มนุษย์เงินเดือน อาชีพอิสระนอกระบบและภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นว่า มาตรการใดที่ดีและมีประโยชน์ต่อประชาชนก็จะเดินหน้าต่อและมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพื่อเพิ่มวินัยในการใช้เงินให้แก่ประชาชน
โดยนโยบายต่างๆ ที่ออกมานั้น รัฐบาลยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกรอบวินัยทางการคลังและภายใต้กฎหมายกำหนด ซึ่งเพดานการก่อหนี้ในปัจจุบันอยู่ที่ 6.2 แสนล้านบาท รัฐบาลได้ทำแผนกู้เงินไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 5 แสนล้านบาท และยังเหลือวงเงินที่สามารถกู้ได้อีก 9 หมื่นล้านบาท และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือมาตรการที่มีความจำเป็นรัฐบาลก็พร้อมที่จะกู้เงินในส่วนนี้มาแก้ปัญหา
" รัฐบาลตั้งใจไว้ว่า งบประมาณที่นำมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และไม่ได้ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์แก้ปัญหาแบบไร้ทิศทาง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ รัฐบาลได้คำนึงถึงเสถียรภาพทางการคลังต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐ จะต้องไม่ส่งผลลบจากนโยบายนั้น” นายกรณ์กล่าว

มั่นใจจีดีพีถึงฝั่งฝัน 2.0%

รมว.คลังกล่าวต่อว่า จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศใช้นี้ เราเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจที่มีการคาดการว่าจะขยายตัวที่ 0% เพิ่มขึ้นเป็น 2.0% ได้ ซึ่งงบประมาณกลางปี1 แสนกว่าล้านบาท จะมีผลต่อจีดีพี 1.0% มาตรการทางด้านภาษีทุก 1 หมื่นล้านบาทที่คืนให้จะมีผล 0.06% ของจีดีพี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แสนล้านบาท ส่งผลต่อจีดีพี 0.2% การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณทุก 2.5 หมื่นล้านบาทจะได้ 0.1% ของจีดีพี และเงินลงทุนระยะยาวทุก 2.5 หมื่นล้านบาทจะส่งผล 0.1% ของจีดีพี
โดย ณ วันที่รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดินนั้น มาตรการการคลังต่างๆ ที่ได้ประกาศไว้จะมีผลต่อจีดีพีอย่างน้อย 1.0% ซึ่งโดยภาพรวมแล้วเชื่อมั่นว่าจะทำให้จีดีพีโตได้ที่ 2.0% อย่างแน่นอน ซึ่งอัตราการเติบโตในระดับนี้ จะมีส่วนชะลอให้อัตราการเลิกจ้างลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะมีคนว่างงาน 1 ล้านคนลดลงเหลือ 5 แสนคน ซึ่งกลุ่มผู้ว่างงานเหล่านี้ หากมีความต้องการกลับภูมิลำเนาก็จะมีงบประมาณต่างๆ รองรับมีการฝึกทักษะอาชีพและเป็นการสร้างโอกาสให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง
" ผลทางอ้อมที่รัฐบาลจะได้รับจากการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ การจัดเก็บภาษีที่จะมีการเพิ่มสูงขึ้นจากแรงงานที่ไม่ถูกเลิกจ้าง 5 แสนราย โดยผ่านทางภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ซึ่งมีการประเมินไว้เบื้องต้นที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการออกมาตรการเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง โอกาสรั่วไหลของงบประมาณมีน้อยมาก เนื่องจากผ่านส่วนราชการน้อยซึ่งรัฐบาลหวังผลที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจเต็มที่” รมว.คลังกล่าว

ตั้งทีมเฉพาะกิจดูแลเมกะโปรเจกต์

นายกรณ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการก็อก 2 หรือ PLAN B นั้น ระยะสั้นรัฐบาลก็จะออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น ตามที่ได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการภายใต้ระยะเวลาที่ยาวนานจะต้องตั้งคณะกรรมการติดตามการลงทุนขึ้นมา 1 ชุด โดยร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม เพราะมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
" มีความจำเป็นที่ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อดูแลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนสูงและมีความเสี่ยงสูงที่อาจทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า ซึ่งเป็นการยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในส่วนนี้มากที่สุด เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยคาดหวังมานานมากแล้ว” นายกรณ์กล่าว

รัฐบาลเร่งอัดงบแสนล.ให้ อปท.

วานนี้ (15ม.ค.) ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ครั้งที่ 1/2552
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญว่า มีการอนุมัติเงินอุดหนุนทั่วไป ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปีงบประมาณ พ.ศ.2552 จำนวน 104,099.79 ล้านบาท และอนุมัติการจัดสรรเงินภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บให้และแบ่งให้อปท.ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ซึ่งจะทำให้การทำงานของอปท.มีความคล่องตัวมากขึ้น และเพิ่มการเร่งรัดเงินงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ค้างมา เนื่องจากไม่มีการประชุมของคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ คาดว่าเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หน่วยงานก็จะโอนเงินไปให้
ทั้งนี้ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นได้ออกเงินไปบ้างแล้วเป็นบางส่วน เพราะเป็นภารกิจที่ท้องถิ่นไม่สามารถรอเงินได้ เช่น เรื่องอาหารกลางวันเด็ก เบี้ยยังชีพต่างๆ ซึ่งเห็นว่าเมื่อเงินนี้ลงไปสู่ประชาชนแล้ว จะสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ โดยงบตรงนี้น่าจะไปได้เร็วกว่า เพราะในส่วนงบประมาณกลางปีจะต้องไปผ่านสภาฯ ก่อน

แจงงบอุดหนุน อปท.

สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) ในครั้งนี้ ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่ อปท. ปีงบประมาณ พ.ศ.2552 จำนวน 104,099.79 ล้านบาท ดังนี้
1. เงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอนเลือกทำ จำนวน 57,233.60 ล้านบาท ให้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ร้อยละ 95 จำนวน 54,371.92 ล้านบาท ให้จัดสรรแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ร้อยละ 10 เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร้อยละ 90
ส่วนที่ 2 ร้อยละ 5 จำนวน 2,861.68 ล้านบาท ให้จัดสรรให้แก่ อปท. ที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของอปท.มากกว่ารายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนตามสัดส่วนของส่วนต่างที่เกิดขึ้น
2. เงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อดำเนินภารกิจถ่ายโอน รวม 46,717.44 ล้านบาท ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) จัดสรรให้แก่ อปท. ตามหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้ในการจัดสรรในปีที่ผ่านมา
3. เงินอุดหนุนทั่วไปรายการใหม่ จำนวน 148.75 ล้านบาท ให้ สถ.จัดสรร ดังนี้ (1) เงินอุดหนุนเพื่อฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จำนวน 75 ล้านบาท จัดสรรให้ อบจ. 75 แห่งๆ ละ1 ล้านบาท (2) เงินอุดหนุน เพื่อพัฒนานักจัดการชุมชน จำนวน 73.75 ล้านบาท จัดสรรให้ อปท. 2,950 แห่ง
สำหรับเงินภาษีที่รัฐจัดเก็บให้อปท. เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสุรา ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ และภาษีที่รัฐแบ่งให้ อปท. เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 อีกประมาณ 211,092.79 ล้านบาท ให้จัดสรรตามหลักเกณฑ์เดิมและตามสัดส่วนที่ อปท. แต่ละแห่งได้รับในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศกกถ.เรียบร้อยแล้ว

ศก.ฟื้นคนไทยตั้งหน้าทำกิน

เวลา 10.20 น. วานนี้ (15 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เป็นประธานบรรยาย เรื่อง “Fending Off Economic Crisis in Thailandv “ ที่ห้องบอลรูม โรงแรมโฟร์ซีซั่น ซึ่งจัดโดย บริษัทตลาดหลักทรัพย์ เคทีบีเอส ซีเคียวริตี้ จำกัด และมีบรรดานักลงทุนเข้าร่วมฟังการบรรยาย
นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายว่า รัฐบาลได้ประกาศชัดเจนว่า ภาระของพวกเราทุกคนในตอนนี้คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและนำความสามัคคีกลับคืนมาประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ซึ่งเราถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศได้ 10 วัน เป้าหมายที่กำหนดไปมีความชัดเจนไปแล้วคือ
1 ในแง่ของการทำให้ชาวโลกรับรู้ว่า ประเทศไทย และเศรษฐกิจไทยบ้านเมืองไทยของเรากลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือ การยืนยันที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งกำหนดการก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คือวันที่ วันที่ 27-28 ก.พ. และวันที่ 1 มี.ค.
"เสียดายนิดเดียวที่ว่า เราไม่สามารถจัดประชุมอาเซียนบวกสาม และอาเซียน บวกหกได้ในคราวเดียวกันเลย เนื่องจากว่าตารางเวลาของแต่ละประเทศไม่สอดคล้องกัน ในที่สุดเราจึงตัดสินใจว่า จะประชุม10 ประเทศก่อนในเดือนก.พ. และในเดือนเม.ย. จะมีการประชุมอาเซียนบวกสาม และอาเซียนบวกหก"นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนที่ 2 คือในระยะเวลา 10วันที่ที่ผ่ามา ได้มีการแถลงนโยบาย มีการลงมติในสภา และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ทำแผนปฏิบัติงานราชการแผ่นดินผ่านความเห็นชอบของครม.ไปแล้ว และหลักการกรอบงบประมาณก็ได้รับการอนุมัติแล้ว ตั้งเป้าว่าตัวกฎหมายจะเข้าสู่สภาได้ในวันที่ 28 ก.พ.นี้

แก้ระบบค้ำประกัน สช.ช่วยธุรกิจ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากการพิจารณาประสบการจากหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป และมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคนี้ว่า เขาพบความจริงว่า การทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมๆ เช่น พยายามหาทางที่จะเอาเงินของรัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดสินเชื่อ หรือการพยายามทำโครงการของรัฐในลักษณะที่เป็นทำโครงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันไม่ทันการ อย่างกรณีปัญหาทางด้านการเงิน เงินในระบบมี ดอกเบี้ยต่ำไหม ดอกเบี้ยพื้นฐานต่ำ แต่พอมีการประเมินความเสี่ยงต้นทุนในการกู้ยืมตัวเลขลดลง และจะปล่อยหรือไม่ สถาบันการเงินก็มีความกังวลในเรื่องความเสี่ยง ต้องแก้ที่ระบบค้ำประกันสินเชื่อ

"มาร์ค"เมิน"หม่อมอุ๋ย"วิจารณ์

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยากร เทวกุล อดีต รมว.คลัง วิจารณ์มาตรการรัฐบาลว่า รัฐบาลได้คิดดีแล้ว ที่จริงได้ยกตัวอย่างถึงกรณีที่ ทีดีอาร์ไอ เสนอมาก็ไม่ต่างจากรัฐบาล เช่น เสนอเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างแทนเงินประกันสังคม เพราะคำนวนแล้ว 2,000 บาทหกเดือนนั้น แทนที่จะไปยื่นในระบบประกันสังคมก็เอาไปให้ตรงถึงลูกจ้าง
" จะทั่วถึงหรือไม่ ตรงนี้ยืนยันทั่วถึง โดยเอาเกณฑ์เพดานประกันสังคมมาพิจารณา ส่วนคนกลุ่มอื่นๆของภาคเศรษฐกิจ รัฐบาลกำลังช่วยเหลือ"
กำลังโหลดความคิดเห็น