xs
xsm
sm
md
lg

อัยการญี่ปุ่นจับบริษัทติดสินบนอุโมงค์ฉาวยุค ‘หมัก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัยการญี่ปุ่นจับกุมอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่น
คดีติดสินบนอุโมงค์ฉาวกทม.ยุค ‘สมัคร’รวม 4 คน ในข้อหาแอบนำเงินสดเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ด้านกก.สอบข้อเท็จจริงนัดถก 21 ม.ค.นี้ พุ่งเป้าประเด็นใหญ่ในบันทึกจากสตง.ที่จี้ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ชี้ในบันทึกชี้ชัด “2 ส.” ร่วมงาบ

คดีบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นติดสินบนเจ้าหน้าที่ กทม.ยุคสมัครสุนทรเวช เพื่อให้ชนะประมูลโครงการระบบระบายน้ำเสีย มีความคืบหน้าวานนี้(14) เมื่ออัยการแดนอาทิตย์อุทัยจับกุมอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นแห่งนั้นรวม 4 คน ในข้อหาแอบนำเงินสดเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีจากกรุงโตเกียว
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่น นิชิมัตสึ คอนสตรักชั่น และบริษัทไทยอีกแห่งหนึ่ง ได้จ่ายเงินสินบนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 400 ล้านเยน (ประมาณ 140 ล้านบาท) ให้แก่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครผู้หนึ่ง เพื่อให้พวกเขาชนะการประมูลโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเสีย
คณะอัยการญี่ปุ่นแถลงวานนี้ว่า ได้จับกุม นายเคอิจิ ฟูจิมากิ วัย 68 ปี อดีตเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ตลอดจนอดีตเจ้าหน้าที่อีก 3 คนของบริษัทนิชิมัตสึ จากความผิดที่พวกเขาได้แอบนำเอาเงินสดจำนวน 70 ล้านเยน จากฮ่องกงและประเทศอื่นๆ เข้ามาในญี่ปุ่น
“เชื่อกันว่าผู้ต้องหาเหล่านี้ได้นำเงินเข้ามาในรูปของธนบัตรญี่ปุ่น” ในช่วงเวลาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ถึงเดือนสิงหาคม 2007 โดยที่ไม่ได้ทำรายงานยื่นเสนอกระทรวงการคลังตามระเบียบ คณะอัยการกล่าวในคำแถลง
พวกสื่อมวลชนของญี่ปุ่นรายงานว่า เงินดังกล่าวเหล่านี้เป็นการแอบรวบรวมอย่างผิดกฎหมาย เพื่อวัตถุประสงค์ในการติดสินบนให้บริษัทชนะประมูลทั้งในญี่ปุ่นเองและในต่างประเทศ
นายฟูจิมากิ ซึ่งเป็นอดีตรองประธานกรรมการบริหารของนิชิมัตสึ กำลังถูกกล่าวหาว่าได้แอบออกคำสั่งถึงบริษัทในเครือหลายแห่งในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ระดมเงินทุนเพื่อไว้ใช้ในการติดสินบน ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุง
โยมิอูริบอกด้วยว่า นิชิมัตสึได้รวบรวมเงินไว้ใช้เพื่อการทำเรื่องแบบนี้เป็นจำนวนราว 1,000 ล้านเยน โดยที่ส่วนใหญ่ฝากไว้ในบัญชีธนาคารต่างประเทศ
เดือนที่แล้ว ญี่ปุ่นถึงขั้นประกาศระงับการให้เงินกู้ทั้งหมดแก่เวียดนาม ภายหลังอดีตผู้บริหารหลายๆ คนของบริษัทแปซิฟิก คอนซัลแทนต์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียว ยอมรับสารภาพว่า ได้ให้เงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสของเวียดนามรายหนึ่ง ทั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้บริจาคเงินช่วยเหลือให้แก่เวียดนามมากที่สุด

กทม.รอข้อมูลอัยการญี่ปุ่น

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อมูลในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้หากมีการส่งหลักฐาน หรือข้อมูลมาจริง ทางกทม.อาจจะส่งหนังสือเพื่อประสานขอข้อมูลที่อัยการญี่ปุ่นส่งมาให้รัฐบาล ส่วนความคืบหน้าในการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งตนได้แต่งตั้งให้นายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัดกทม. เป็นประธานในการดำเนินการ ล่าสุดได้ตรวจสอบมาแล้ว 30 วัน ทั้งเอกสารและบุคคล ซึ่งตนเชื่อว่าหากกทม.ได้ข้อมูลหลักฐานที่อัยการญี่ปุ่นส่งมายังรัฐบาลไทยการสอบสวนของกทม.คงจะมีความรวดเร็วขึ้น                             
ขณะที่นายสมศักดิ์ กล่าวถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่า ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ  ส่วนหลักฐาน และข้อมูลที่ทางอัยการส่งมาให้รัฐบาลไทย ตนเข้าใจว่าน่าจะส่งมาให้กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่ง กทม.คงต้องรอให้รัฐบาลส่งข้อมูลมาให้กับกทม.ก่อนจึงค่อยพิจารณาเนื้อหาว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการฯ กทม. สาเหตุที่ยังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบหาหลักฐานได้ เพราะก่อนหน้านี้เคยทำหนังสือขอข้อมูลการทุจริตดังกล่าวกับรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นข้อมูลลับ จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้ ขณะเดียวกันข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน เป็นการพูดลอยๆ ขึ้นมาเท่านั้น  

นัดถก 21 ม.ค.พุ่งประเด็น 2 ส.ร่วมงาบ

  รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาในอีกประเด็นหนึ่งคือ กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ทำบันทึกกล่าวโทษส่งมาให้ กทม.ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สตง.ได้ส่งมาเมื่อเดือน พ.ย.2551 และให้เวลา กทม.ดำเนินการภายใน 90 วัน นอกจากนี้ สตง.ยังได้แจ้งไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ด้วย โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการฯ ของกทม. ได้แจ้งให้สำนักการระบายน้ำ(สนน.) รวบรวมข้อมูลส่งให้คณะกรรมการฯ แต่สนน.ขอเลื่อน อ้างว่าเป็นข้อมูลเก่า 5-6 ปี จำเป็นต้องใช้เวลารวบรวมนาน ทั้งนี้ในการประชุมครั้งหน้านี้ คณะกรรมการฯ คงจะหารือในเรื่องดังกล่าวกันอีกครั้ง
  แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับบันทึกที่ สตง.ส่งมานั้น ระบุว่าจากการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ-ลาดพร้าว พบว่า มีผู้บริหารระดับสูง กทม. และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตหลายประเด็น ทั้งในเรื่องราคากลางที่เกินกว่าความเป็นจริง มีเหตุให้ กทม.เสียหาย การกระทำที่ผิดขั้นตอนระเบียบการประกวดราคาซึ่งเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ส่วนเรื่องหลักฐานการจ่ายสินบน แม้ สตง.จะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนจากทางการญี่ปุ่น แต่โดยภาพรวมก็พอฟังได้ว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามหน้าที่ จึงเห็นว่ามีความผิดแล้ว จึงดำเนินการกล่าวโทษ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ สตง.ยังระบุรายชื่อผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดมาด้วย ซึ่งเป็นรายชื่อของผู้บริหารระดับสูงที่ตกเป็นข่าวคือ “ 2 ส.”รวมถึงข้าราชการที่อยู่ในคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ กทม.ยังไม่สามารถแจ้งผลกลับไปทาง สตง.ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น