xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำโลกพูดที่ UN ตั้งคำถาม "ทุนนิยม" แบบบุช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีบุช
เอเจนซี - การประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติวันแรกเมื่อวันอังคาร (23) ทั้งประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ และบรรดาผู้นำโลกคนอื่นๆ ที่ขึ้นปราศรัย ต่างต้องให้น้ำหนักกับการเน้นย้ำหาทางพลิกฟื้นวิกฤตการณ์การเงินโลกที่ทรุดดิ่ง เพราะปัญหาในวอลล์สตรีทก่อแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

ในการปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเป็นครั้งอำลาของเขาคราวนี้ บุชย้ำถึงพันธกิจของเขาที่จะสร้างเสถียรภาพในตลาดโลกให้ได้ โดยเห็นชัดว่าเรื่องนี้กำลังเข้ามาบดบังปัญหาระหว่างประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาชะงักงันในกรณีรัสเซีย อิหร่าน หรือเกาหลีเหนือ

ขณะเดียวกัน บุชก็ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพวกผู้นำโลกคนอื่นๆ ซึ่งต่างวิตกถึงความเกินเลยของระบบทุนนิยมโลกที่สหรัฐฯ ยืนยันสนับสนุนมาตลอดว่าจะเป็นเส้นทางไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศสนั้น ถึงกับตั้งคำถามว่า "ใครจะรับผิดชอบกับความหายนะที่เกิดขึ้น ขอได้โปรดนำตัวผู้ที่รับผิดชอบมาลงโทษและแสดงความรับผิดด้วย" ทั้งนี้ ซาร์โกซียังได้เรียกร้องให้จัดประชุมสุดยอดผู้นำโลกในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อสำรวจหาหนทางที่จะชำระสะสางสิ่งที่เป็นการคบคิดกันทางการเงิน "อย่างบ้าคลั่ง" จะได้สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ

นอกจากนั้น ประธานาธิบดีมาห์มุด อาหมัดดิเนจัด แห่งอิหร่าน ก็ได้ผสมโรงโจมตีสหรัฐฯ โดยให้สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์ว่า วิกฤตการณ์ในวอลล์สตรีทนั้นมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ เช่น ในอิรัก และว่า "จักรวรรดิอเมริกันในโลกกำลังเดินไปถึงปลายทางแล้ว ผู้นำคนต่อไปจะต้องจำกัดขอบเขตการเข้าไปแทรกแซงผู้อื่นไว้ภายในอาณาเขตของตนเท่านั้น"

คำถามถึง "มนตร์วิเศษ" ของตลาด

ในการกล่าวปราศรัยของซาร์โกซีนั้น เขาได้เสนอให้สร้าง "ระบบทุนนิยมที่มีการกำกับดูแล เพื่อไม่ให้การทำธุรกรรมทางการเงินต้องตกไปอยู่ภายใต้ดุลพินิจของพวกผู้ซื้อขายหุ้นในตลาดตามลำพัง"

ส่วน บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็กล่าวว่า การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินนั้นต้องอาศัยแนวทางอย่างใหม่ซึ่ง "ลดความเชื่อมั่นใน 'มนตร์วิเศษ' ของตลาดโดยไม่ลืมหูลืมตาลง" คำพูดของเขายังสอดคล้องกับความเห็นของบรรดาผู้แทนจากรัฐบาลหัวซ้ายที่คัดค้านลัทธิตลาดเสรีตามแบบของบุชมาโดยตลอดด้วย

ประเด็นหลักที่บุชเน้นย้ำในการกล่าวปราศรัยต่อยูเอ็นครั้งนี้ ยังคงเป็นเรื่องการเรียกร้องให้เพิ่มแรงกดดันในการต่อสู้กับการก่อการร้าย โดยเขาได้ย้ำการกล่าวหาว่าอิหร่านและซีเรียนั้นเป็นประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย และยังเรียกร้องให้สหประชาชาติเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านและเกาหลีเหนือด้วย

ทว่า ประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ได้กล่าววิจารณ์บุชว่า "เขาเลือกพูดเรื่องการก่อการร้ายอีกแล้ว ผมนึกว่าเขาจะพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจเสียอีก ผมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้นะ"

ทั้งนี้ นอกจากเหล่านักลงทุนและผู้นำทางเศรษฐกิจทั้งหลายจะหวั่นวิตกกับสถานการณ์ตลาดการเงินโลกแล้ว บรรดาประเทศยากจนเองก็หวั่นเกรงเช่นกันว่าเงินช่วยเหลือจากประเทศผู้บริจาคจะลดลงตามไปด้วย ดังเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์รอโยแห่งฟิลิปปินส์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกเจ็บปวดของประเทศกำลังพัฒนาว่า "ความผันผวนทางเศรษฐกิจมีลักษณะเหมือนกับการเกิดสึนามิทั่วโลก ซึ่งพัดพาทรัพย์สมบัติทั้งหลายให้จมหายไป"
กำลังโหลดความคิดเห็น