xs
xsm
sm
md
lg

ช.การช่างเฉือน"ซิโน-ไทย"คว้างานรถไฟฟ้าสายสีม่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ช.การช่าง ประเดิม คว้างานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา ที่ 1 เสนอต่ำสุด 16,724,500,000 บาท ต่ำกว่า ซิโน-ไทย 375.5 ล้านบาท ขณะที่ รฟม.เตรียมต่อรองราคา บีบให้อยู่ในกรอบค่าก่อสร้างที่มีแค่ 13,400 ล้านบาท เผยผู้รับเหมาคำนวณต้นทุนช่วงก.ค. 51 ซึ่งน้ำมันและเหล็กราคาสูง คาด 3 ผู้รับเหมา ช.การช่าง ,ซิโน-ไทย,อิตาเลียนไทย ดั๊มป์ราคาชิงรถไฟสีม่วง เหตุงานก่อสร้างขนาดใหญ่มีน้อย

วานนี้ (13 ม.ค.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดซองข้อเสนอด้านราคาของสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะทาง 23 กม. มูลค่าโครงการรวมประมาณ 36,000 ล้านบาท ในส่วนของสัญญาที่ 1 ปรากฏว่า กลุ่ม CKTC ซึ่งมี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ โตคิวจากญี่ปุ่น เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 16,724,500,000 บาท ลำดับที่ 2 กลุ่ม บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 17,100,000,000 บาท และลำดับที่ 3 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 17,917,009,462 บาท 

นายชูเกียรติ โพธยานุวัตร รองผู้ว่าฯรฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) เปิดเผยว่า ขั้นตอนจากนี้จะตรวจสอบรายละเอียดวงเงินค่าก่อสร้างที่ทั้ง 3 กลุ่มเสนอว่ามีความถูกต้องและสมเหตุสมผลหรือไม่ หากไม่มีปัญหาก็จะเจรจาต่อรองราคากับรายที่เสนอต่ำสุด และสรุปเสนอคณะกรรมการรฟม.จากนั้นจึงจะรายงานผลสรุปทั้งหมดไปยังองค์ความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) และเมื่อไจก้าตรวจสอบเรียบร้อยก็จะเสนอครม.ต่อไป

นายชูเกียรติ กล่าวว่าหากไม่มีปัญหาใดๆ คาดว่า จะสามารถลงนามก่อสร้างในสัญญาที่ 1 ได้ประมาณปลายเดือนมี.ค. หรือต้นเดือนเม.ย. 52

ส่วนสัญญาที่ 2 จะมีการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาในเดือนก.พ. และลงนามในสัญญาก่อสร้างได้ประมาณเดือนพ.ค. และสัญญาที่ 3 ลงนามก่อสร้างได้ประมาณเดือนมิ.ย. 52 ซึ่งถือว่ายังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

รายงานข่าวแจ้งว่า งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญาที่ 1 มีการกำหนดกรอบวงเงินค่าก่อสร้างไว้ประมาณ 13,400 ล้านบาท ในขณะที่ กลุ่ม CKTC ซึ่งมี บริษัท ช.การช่าง เป็นแกนนำ เสนอราคาต่ำสุดที่ 16,724,500,000 บาท นั้น ยังสามารถเจรจาต่อรองลงมาให้อยู่ในกรอบวงเงินที่มี หรืออย่างน้อยสูงกว่า กรอบไม่เกิน 10 % ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขณะนี้ราคาต้นทุนก่อสร้างทั้ง เหล็ก และน้ำมันได้ปรับลดลงแล้ว

แหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมากล่าวว่า คาดว่าวงเงินค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1 น่าจะสามารถเจรจาปรับลดลงได้เพราะเป็นราคาที่คำนวณในช่วงที่ต้นทุนค่าวัสดุสูง อย่างไรก็ตามในการประมูลทั้ง 3 สัญญา ผู้รับเหมาทั้ง 3 ราย จะเสนอราคาแข่งขันกันอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาครัฐไม่ค่อยมีการประมูลโครงการขนาดใหญ่

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ผู้รับเหมายื่นข้อเสนอสัญญาที่ 1 ในวันที่ 14 ส.ค. 51 ดังนั้น การคำนวณราคาก่อสร้างจะต้องทำในก่อนวันที่ 18 ก.ค.51 ก่อนที่จะมีการยื่นซองประมาณ 28 วัน ซึ่งในขณะนั้น ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงกว่าในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน กรอบวงเงินค่าก่อสร้างในสัญญา 1 รฟม.ก็คำนวนในช่วงนั้นเช่นกัน แต่ในการเจรจา นั้นจะต้องใช้ฐานค่าก่อสร้างต้นทุนวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันประกอบด้วย ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะยังสามารถเจรจาเพื่อปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างลงได้

"มีราคา ณ เดือนม.ค.แล้ว โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของรฟม.คือ  BBML ได้คำนวณค่าก่อสร้างล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2552 ไว้แล้ว แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเท่าไร โดยจะเอาราคานี้เป็นฐานในการเจรจาต่อรองกับผู้รับเหมา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์น่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งเชื่อว่าท้ายสุดค่าก่อสร้าง ต้องต่ำกว่าราคาที่ผู้รับเหมาเสนอมาแน่นอน ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่ารายที่เสนอราคาต่ำสุดวานนี้จะได้งานไป"นายชูเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการเปิดซองราคาในสัญญา 2 อาจจะต้องรอให้การพิจารณาสัญญาที่ 1 ได้ข้อสรุปก่อนเนื่องจากตามเงื่อนไขของไจก้า ระบุว่า ต้องให้ความเป็นธรรมต่อผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย และต้องไม่กระทำการที่เป็นการตัดสิทธิ์รายใดรายหนึ่ง

"จากการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิก ฐานะการเงิน ผู้รับเหมาทั้ง 3 กลุ่มที่ยื่นซองประมูลทั้ง 3 สัญญาเหมือนกัน ปรากฎว่ามีความแตกต่างกัน โดยบริษัทช.การช่างและบริษัทอิตาเลียนไทยฯ มีขีดความสามารถในการก่อสร้างทั้ง 3 สัญญาได้ แต่บริษัทซิโน-ไทย มีขีดความสามารถในการก่อสร้างเพียงสัญญาใดสัญญาหนึ่งเท่านั้น จึงต้องรอให้การพิจารณาแต่ละสัญญาได้ข้อยุติก่อน เช่นหากบริษัทซิโน-ไทย ได้รับการคัดเลือกในสัญญาที่ 1 รฟม. จะต้องคืนข้อเสนอสัญญาที่ 2 และ 3 คืนให้บริษัท เป็นต้น" นายชูเกียรติกล่าว

โดยสัญญาที่ 1 เป็นงานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ ส่วนตะวันออก ระยะทาง 12 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 8 สถานี เริ่มจากสถานีเตาปูนถึงสถานีสะพานพระนั่งเกล้า และงานก่อสร้างทางวิ่งช่วงบางซื่อ-เตาปูน กำหนดยื่นข้อเสนอประกวดราคา ในวันที่ 14 ส.ค.51 มีบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างยื่นข้อเสนอจำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่นจำกัด(มหาชน) และกลุ่ม CKTC ซึ่งมี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ โตคิวจากญี่ปุ่น

ส่วนสัญญาที่ 2 โครงสร้างยกระดับส่วนตะวันตก ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 8 สถานี เริ่มจากสถานีสะพานพระนั่งเกล้าถึงสถานีคลองบางไผ่ และงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ ของสะพานพระนั่งเกล้า กำหนดยื่นข้อเสนอประกวดราคา ในวันที่ 18 ส.ค.51 มีบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างยื่นข้อเสนอ จำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย 1. กลุ่ม CKTC 2.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ กลุ่ม ITON Joint Venture ประกอบด้วย ITD บริษัท โอบายาชิ คอร์ปอร์เรชั่น และ บริษัท เนาวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) นั้น คาดว่าในเดือน ก.พ.จะสามารถ ดำเนินการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาได้

ในส่วนของสัญญาที่ 3 ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ ประกอบด้วย งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่บางใหญ่ และอาคารจอดแล้วจร จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สถานีแยกนนทบุรี 1  สถานีท่าอิฐ  สถานีสามแยกบางใหญ่ และสถานีคลองบางไผ่ กำหนดยื่นข้อเสนอประกวดราคา ในวันที่ 20 ส.ค.51 มีบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างยื่นข้อเสนอ จำนวน 5 บริษัท ประกอบด้วย ด้วย 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)  ,2. CKTC Joint Venture ประกอบด้วย ด้วย บริษัท ช. การช่าง จำกัด(มหาชน)  และบริษัท โตคิวคอนสตรัคชั่น จำกัด 3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ,4. TAKENAKA-RITTA Joint Venture ประกอบด้วย บริษัท TAKENAKAและ บริษัท ฤทธา จำกัด  และ5.PAR Joint Venture  ประกอบด้วย  บริษัท  Power Line Engineering Public Company Limited   บริษัท  แอสคอน คอนสตรัคชั่น  จำกัด(มหาชน)  และ บริษัทรวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย)  จำกัดขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารด้านเทคนิค จากไจก้า ซึ่งคาดว่าภายในเดือนม.ค.25 นี้ไจก้าจะตอบกลับมา
กำลังโหลดความคิดเห็น