xs
xsm
sm
md
lg

กูรูชี้กลยุทธ์ผสมผสานรับวิกฤตเศรษฐกิจปีวัว พาร์ทเนอร์ชิพ-การตลาดโลกดิจิตอลหมัดเด็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กูรู ชี้สารพัดกลยุทธ์สู้ปีวัวดุ ควักการตลาดแบบผสมผสาน รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ ปลุกกำลังการซื้อผู้บริโภค ระบุหมัดเด็ดพาร์ทเนอร์ชิพ มาร์เก็ตติง อัดโปรโมชัน 70-80% พร้อมปรับตัวทะลวงช่องทางตลาดบนโลกดิจิตอล รอจังหวะลุยผุดเซกเมนต์ใหม่ แนะจับตลาดเจนบี-เอ็ม กำลังซื้อไม่ตกแม้เศรษฐกิจถดถอย

ผศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักการตลาดและนักวางกลยุทธ์หลายองค์กร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2552 นี้ว่า ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตลาดแบบผสมผสานหลากหลายกลยุทธ์ร่วมกัน กลยุทธ์แรก คือ การทำการตลาดร่วมกับพาร์ทเนอร์ ( Partnership Marketing) แต่ปีนี้ต้องดำเนินการด้วยคอนเซปต์ลึกซึ้ง ขยายในวงกว้าง และเป็นมากกว่าแค่การทำโคว โปรโมชัน มีการจัดกิจกรรมออกบูธสินค้าร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการตลาด แต่การจับมือร่วมกันต้องยึดไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคร่วมกัน ขณะเดียวกันยังเป็นการข้ามโปรดักส์ไลน์มากขึ้น

การร่วมกับพาร์ทเนอร์ สินค้าที่มีมูลค่าระดับใกล้เคียงกัน ช่วยเพิ่มจำนวนผู้มาร่วมงานได้มากขึ้น และขณะเดียวกันลูกค้าอีกสินค้าหนึ่งอาจมีทดลองใช้สินค้าอีกอย่างหนึ่ง เพราะลักษณะพื้นฐานของลูกค้าเหมือนกันไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามการร่วมพาร์ทเนอร์ไม่ควรดำเนินการมากแบรนด์เกินไป เพราะอาจประสบปัญหาด้านการวางกลยุทธ์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถจดจำแบรนด์ได้ และประการสำคัญ คือ ต้องเลือกพันธมิตรที่มีศักยภาพ เพื่อให้การดำเนินตลาดอย่างยั่งยืน

กลยุทธ์ 2 คือ การทำโปรโมชัน (Sales Promotion) ปีนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้น และมีการลดราคาสินค้า 70-80% ถึงจะดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี การลดราคาเพียง 30-50% ไม่สามารถจูงใจผู้บริโภคได้อีกต่อไป ขณะเดียวกันอาจมีการจัดแคมเปญชิงโชค กิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากปีที่ผ่านมา รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงต้องทำโปรโมชันอย่างหนัก โดยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยมุ่งเน้นการลดกันอย่างรุนแรง ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค มุ่งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย จัดรายการชิงโชค ของแถม

ผศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าวถึงกลยุทธ์ 3 สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวด้านการทำตลาดผ่านทางช่องทางบนโลกออนไลน์ให้มากขึ้น คือ เว็บ มาร์เก็ตติง ดิจิตอล ไลฟ์สไตล์ (Web Marketing Digital lifestyle) โดยมีข้อดีในแง่ของความประหยัด และทันสมัยสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยสามารถดำเนินการตลาดผ่านทาง โมบายโฟน อินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่น่าจับตามอง เพราะขณะที่รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังนำกลยุทธ์นี้มาใช้

ส่วนกลยุทธ์ 4 คือ การมองหาตลาดใหม่หรือสร้างเซกเมนต์ใหม่ ( Look new marketing / new segment) เพื่อสร้างยอดขายให้กับแบรนด์อื่นๆ เพิ่มเติม ขณะที่กรีน มาร์เก็ตติง ก็ยังมาแรง แต่ผู้ประกอบการอาจนำไปใช้ในองค์กร ในรูปแบบการทำซีเอสอาร์มากขึ้น

**จับตาพฤติกรรมเปลี่ยนตามเศรษฐกิจ**
ด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ปีนี้คำนึงถึงความประหยัดมากขึ้น การตัดสินใจซื้อสินค้าเน้นใช้คุ้มค่าคุ้มราคา ดังนั้นจุดขายที่หลายแบรนด์ควรดึงออกมาชู คือ ความประหยัด หรือกระทั่งสินค้า Do it yourself (DIY) สินค้าที่ซื้อมาทำเองจะได้รับความสนใจ เพราะมีความประหยัด ส่วนกลุ่มที่ยังมีกำลังการซื้อไม่ตก แม้ว่าเศรษฐกิจจะถดถอย คือ กลุ่มBaby Boom Generation อายุ 40 ปีขึ้นไป (Gen-B) เป็นกลุ่มที่มีกำลังการซื้อสูง และยังสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ตามภาวะปกติ ส่วนกลุ่มที่เป็นแรงขับเคลื่อนการตลาดได้เป็นอย่างดี มีอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่ม Millennial Generation 18-25 ปี (Gen-M) เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นสูง เลือกซื้อสินค้าตามความคิดตัวเอง

สำหรับกลุ่มสินค้าที่มาแรงท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ คือ กลุ่มเพื่อสุขภาพ กลุ่มเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย ธุรกิจให้บริการ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน หรือช่วยเพิ่มความสะดวกมากยิ่งขึ้น อาทิ ธุรกิจโรงพยาบาลตอนกลางคืน ธนาคารที่เปิดให้บริการ 7 วันทำการ การจ่ายค่าสาธารณูปโภคผ่านทางโทรศัพท์ การจำหน่ายสินค้าผ่านทางแคตาล็อก ซึ่งจะเห็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งจากสหพัฒน์และยูนิลีเวอร์ ให้ความสำคัญกับช่องทางดังกล่าวมากขึ้น เพราะคนไม่ต้องการเสียเวลา

**ซัพพลายเออร์ปรับตัวรับวิกฤต**
ผศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าวว่า ปีนี้ผู้ประกอบการจะมีการปรับตัวสารพัดแบบ เริ่มตั้งแต่ การลดต้นทุนสิ่งที่ไม่จำเป็นบางอย่างทิ้งไป (Adjust product / Service portfolio) ขณะเดียวกันธุรกิจจะเกิดการสนับสนุนดิสทิบิวเตอร์ (Support distributors) โดยมีการนำพริตตี้ หรือทีมงานไปช่วยกระตุ้นยอดขายทางร้านค้า เพื่อสร้างยอดขาย นอกจากนี้ยังมีการใช้กลยุทธ์ราคา (Adjust pricing tactics) โดยมีการปรับเปลี่ยนราคาตามมูลค่าสินค้าที่เหมาะสม ตามมาด้วยการเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ากลุ่มครอบครัว (Focus on Family Values) เพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่อยู่บ้านมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการเก็บข้อมูลทางการตลาดจากพนักงานมากกว่าการจ้างบริษัททำการวิจัย หรือกระทั่งเก็บข้อมูลจากทางออนไลน์ (Online - On field by Sale People Research) ส่วนหนึ่งเพราะพนักงานมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากกว่า และประการสำคัญ คือ การคงงบการตลาด อย่าตัดงบเพราะมีโอกาสทำให้แบรนด์เสีย แต่ต้องใช้งบให้เกิดประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น