รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
บทบาทของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งสมาชิกประกอบขึ้นจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.) ต่างๆ รวม 43 แห่ง ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง หรือต่อสู้ไม่ให้รัฐวิสาหกิจถูกนักการเมืองนำไปขายหรือแสวงหาผลประโยชน์เท่านั้น แต่ได้ปรากฏชัดแล้วในการขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตลอดห้วงเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา
สรส.ถือได้ว่าเป็นเหมือนทัพหน้าของขบวนการต่อสู้ของผองพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการขับไล่และโค่นล้มระบอบทักษิณ พิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมปูทางสร้างสรรค์การเมืองใหม่ที่ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางอย่างแท้จริง อันเป็นการเมืองใหม่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในส่วนของ สรส.สาขาหาดใหญ่ ซึ่งสมาชิกคือ สาขาในพื้นที่ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การโทรศัพท์ (ทีโอที) การบินไทย ธนาคารออมสิน การเคหะแห่งชาติ ธ.ก.ส. ทอท. และ กสย. ก็จัดว่าเป็นทัพหน้าในการขับเคลื่อนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา ซึ่งได้ลุกขึ้นต่อสู้แบบคู่ขนานไปกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเช่นกัน
นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม รองเลขาธิการ สรส.สาขาหาดใหญ่ เปิดเผยว่า องค์กร สรส.ได้ถือกำเนิดขึ้นมากว่า 20 ปีแล้ว ในสมัยที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นประธานสหภาพผู้ปฏิบัติงานรถไฟหาดใหญ่ ที่ผ่านมาการต่อสู้ของ สรส.ได้ยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนมาตลอด ไม่อิงแอบอยู่กับพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ที่ร่วมกับประชาชนตั้งเวทีขับไล่รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ณ ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่
“ช่วงที่ สรส.สาขาหาดใหญ่ ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬอยู่ สมาชิกเราจำนวน 10 คน แม้จะสังกัด สร.ร.ฟ.ท.สาขาหาดใหญ่ก็ตาม โดยทั้งหมดได้ร่วมใจกันโกนศีรษะประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ทหารหยุดใช้อาวุธสงครามยิงใส่ประชาชนที่ชุมนุมกันอยู่ในกรุงเทพฯ” รองเลขาธิการ สรส.สาขาหาดใหญ่กล่าวและว่า
เช่นเดียวกับเหตุการณ์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 ซึ่งแม้ว่า สรส.สาขาหาดใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการคลื่อนไหวทั้งหมดของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่เราก็ได้เปิดพื้นที่ เพื่อการแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชน และร่วมสนับสนุนพี่น้องประชาชนในบางประเด็น รวมถึงการตั้งเวทีต่อต้านกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือที่มักเรียกกันว่ากฎหมายขายชาติ 11 ฉบับในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
นายวิรุฬห์กล่าวว่า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการผลักดันให้มี พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจนั้น เรื่องนี้ สรส.สาขาหาดใหญ่เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย จึงตัดสินใจตั้งเวทีปราศรัยและล่ารายชื่อคัดค้านอย่างจริงจังในเวลานั้น แต่การต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวก็ไม่สามารถทัดทานแรงดันจากฝ่ายการเมืองได้ ทำให้มีการประกาศใช้เมื่อปี 2542 ในที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าฝ่ายที่ผลักดันให้ออกกฎหมายนี้คือ พรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงสำคัญอยู่ในภาคใต้ ทำให้ประชาชนมองข้าม และไม่ฉุกคิดถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา
“การทำงานของ สรส.สาขาหาดใหญ่ ในสมัยก่อนจะใช้วิธีการระดมทุนจากสมาชิกมาใช้เคลื่อนไหว แม้การต่อสู้แต่ละครั้งจะเป็นไปแบบเข้มข้นก็ตาม เพราะทุกเรื่องที่เราทำล้วนมีผลกระทบในวงกว้าง เช่นต่อต้านการนำรัฐวิสาหกิจไปขายเพื่อชำระหนี้ให้นายทุน เพราะมันเหมือนกับปูฟูกให้นายทุนล้ม หรือการจ้องขายรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกัน อย่างองค์การแบตเตอรี่ องค์กรฟอกหนัง ด้านการสื่อสาร การปิโตรเลียม เป็นต้น แต่การขยายผลไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเราขาดสื่อที่จะเป็นตัวกลางนำข่าวสารไปสู่มวลชน”
นายวิรุฬห์กล่าวด้วยว่า จากบทเรียนในการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยขาดเครื่องมือสื่อสารกับมวลชนนั้น ทำให้ สรส.สาขาหาดใหญ่คิดขวนขวายที่จะมีสื่อของตัวเอง ซึ่งก็นำไปสู่การตั้งวิทยุชุมชนขึ้นมารองรับคือ สถานีวิทยุเสียงกรรมกร FM 102.75 MHz เพื่อให้เป็นคลื่นวิทยุของภาคประชาชน เป็นสื่อกลางในการปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม อันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ก็รับรองไว้ด้วย โดยระดมทุนจากเพื่อนพ้องน้องพี่พนักงานรถไฟหาดใหญ่
จากการที่ สรส.สาขาหาดใหญ่ เล่นบทอยู่แนวหน้า ทุกครั้งที่ออกรบกับภาคประชาชน นายวิรุฬห์กล่าวถึงผลกระทบในเรื่องนี้ว่า ได้ทำให้ถูกกลั่นแกล้งหรือข่มขู่จากกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์และไม่เห็นด้วยหลายหน เช่น มีการขว้างหลังคาสำนักงานของ สร.ร.ฟ.ท.สาขาหาดใหญ่ การลอบวางระเบิดมือไว้ริมรั้วหลังสถานีรถไฟหาดใหญ่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ทีมงาน สรส.สาขาหาดใหญ่ ถอดใจที่จะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมต่างๆ
นายวิรุฬห์กล่าวถึงงานช้างของ สรส.สาขาหาดใหญ่ ที่กระโดดเข้าร่วมโค่นล้มระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาว่า เกิดจากการได้ติดตามรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งจัดโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ โดยเฉพาะรายการนี้ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อถูกการเมืองเล่นงานถูกขับออกช่อง 9 จนต้องหันไปใช้ ASTV สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพียงอย่างเดียว
“ช่วงเวลานั้น สรส.ส่วนกลางก็ได้ประกาศเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล โดยส่งตัวแทนคือ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เข้าร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีทั้งหมด 5 คน สรส.สาขาหาดใหญ่เองก็รับไม้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ เช่นกัน และก็เป็นหนึ่งในกลไกหลักของพันธมิตรฯ สงขลามาตลอด” นายวิรุฬห์กล่าวและเสริมว่า
สรส.สาขาหาดใหญ่ร่วมสนับสนุนการต่อกรกับระบอบทักษิณ ตั้งแต่ที่มีตัวแทนสื่อมวลชนและเอ็นจีโอในพื้นที่กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันตั้งเป็นเครือข่ายเสรีภาพสื่อเพื่อประชาชนขึ้นมา จากนั้นก็พัฒนาเป็นพันธมิตรกู้ชาติกู้ประชาธิปไตย สงขลา แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นพันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งในท้ายที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ยกขึ้นเป็นองค์กรที่ชัดเจนขึ้นคือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา ซึ่งก็มีตัวแทน สรส.สาขาหาดใหญ่ร่วมเป็นกรรมการอยู่หลายคน
“สรส.สาขาหาดใหญ่เราร่วมขับเคลื่อนกับพันธมิตรฯ ตั้งแต่อำนวยความสะดวกการใช้พื้นที่ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ สนับสนุนการตั้งจอโปรเจกเตอร์ถ่ายทอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ทาง ASTV และยังได้เชื่อมสัญญาณถ่ายทอดเข้าสู่วิทยุเสียงกรรมกร FM 102.75 MHz ด้วยในประเด็นที่ตรงกับการขับเคลื่อนของ สรส.ทั้งในส่วนกลางและสาขาหาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นถือว่าจุดแข็งของ สรส.สาขาหาดใหญ่ มีมากขึ้นตามระดับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเหตุการณ์ต่างๆ โดยสามารถดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และสามารถสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนได้เพิ่มมากขึ้นด้วย จนสามารถเปิดพื้นที่ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ เพื่อทำการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและให้สังคมเป็นผู้ตัดสินใจเอง
แม้เวลานี้การไล่บี้ระบอบทักษิณจะประสบผล ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องระเหเร่ร่อนอยู่นอกประเทศ รัฐบาลนอมินีนายสมัคร สุนทรเวช กับรัฐบาลคนในครอบครัว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีอันต้องล้มครืนลงไปแล้ว แต่ต้องนับว่าการจัดการกับระบอบทักษิณก็ยังทำได้แบบไม่ถึงฝั่ง ทว่าบทบาทของ สรส.สาขาหาดใหญ่ก็มีแต่จะยิ่งทวีบทบาทความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการคาดการณ์กันของหลายฝ่ายที่ว่า หลังจากย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2552 การทำงานการเมืองของภาคประชาชนจะเข้มข้นขึ้น
“สิ่งที่ทำให้การร่วมต่อสู้กับระบอบทักษิณจนประสบผลสำเร็จได้ในระดับนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นผลจากที่เรามีสื่อในเครือผู้จัดการและ ASTV คอยสนับสนุน เพราะสามารถนำข่าวสารเข้าไปได้ถึงพี่น้องประชาชน และจุดประกายให้ร่วมกันลุกขึ้นสู้ได้ในวงกว้าง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้สังคมเริ่มเข้าใจรัฐวิสาหกิจต่างๆ มากขึ้น และเห็นบทเรียนจากการแปรรูป ปตท.ว่าสุดท้ายแล้ว เราเองนั่นแหละที่เป็นผู้เสียผลประโยชน์”
นายวิรุฬห์กล่าวต่อด้วยว่า แม้หน้าประวัติศาสตร์การชุมนุมของพี่น้องพันธมิตรฯ ทั่วประเทศครั้งยิ่งใหญ่จะยุติลง และพันธมิตรฯ สงขลาก็ได้รื้อเวทีและจอโปรเจกเตอร์ ณ ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ไปแล้ว แต่ สรส.สาขาหาดใหญ่ก็จะไม่ละทิ้งอุดมการณ์อย่างแน่นอน โดยพร้อมๆ กับการยกระดับองค์กรขึ้นเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสงขลา ก็ได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานร่วมกันขึ้น โดยใช้พื้นที่สำนักงานของ สรส.สาขาหาดใหญ่ที่เป็นที่เดียวกับสำนักงานของ สร.ร.ฟ.ท.สาขาหาดใหญ่เป็นที่ตั้งศูนย์ประสานงานพันธมิตรฯ สงขลาด้วย
สำหรับงานเร่งด่วนของ สรส.สาขาหาดใหญ่ นับจากนี้คือ ร่วมกับพันธมิตรฯ สงขลาวางแผนจัดกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชนเป็นปฏิทินประจำปี 2552 เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้ก้าวข้ามความเป็นสปริงให้นักการเมืองใช้เหยียบย่ำสู่ที่สูง ซึ่งจะร่วมกันผลักดันการเมืองใหม่ให้เข้าไปแทนที่การเมืองน้ำเน่าแบบเก่าๆ โดยใช้วิทยุเสียงกรรมกร FM 102.75 MHz เป็นสื่อทางเลือกให้แก่คนในสงขลา ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีการปรับผังรายการใหม่ใหม่ให้สอดคล้องกับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นไป
“สำหรับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปัจจุบัน ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนในการจัดตั้งขึ้นมานั้น เราก็ต้องให้เวลาเขาบริหารไปสักระยะหนึ่งก่อน แต่หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เราเชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนจะรู้เท่าทันแน่นอน เพราะทุกคนมีประสบการณ์จากรัฐบาลภายใต้ปีกโอบของระบอบทักษิณมาแล้วเป็นอย่างดี” นายวิรุฬห์กล่าวทิ้งท้าย