ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – แกะรอยพันธมิตรฯภาคเหนือ หลังเสร็จศึกไล่รัฐบาลทรราชฆ่า ปชช. 193 วันสงครามครั้งสุดท้าย ทุกพื้นที่ยังยืนหยัดเจตนารมณ์สร้างการเมืองใหม่กลางดงเสื้อแดง เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง มุ่งเดินหน้าสร้างเครือข่ายวิทยุชุมชน เปิดช่องทางความรู้สู่รากหญ้า – ตั้งทีมงานทุกอำเภอ ขณะที่เหนือตอนบนถิ่นเสื้อแดงหนาแน่น เครือข่ายทุกจังหวัดยังปักหลักเหนียวแน่น หนุนแนวคิดตั้งพรรค พธม.ส่งตัวแทนทำการเมืองในอุดมคติต่อ
ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไร้แผ่นดินอยู่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ที่เรียกขานโดยรวมว่า “ระบอบแม้ว” ที่ทำให้พี่น้องผองไทยตกเป็น “ทาสทุนนิยม” แทบไม่ลืมหูลืมตาอยู่ในขณะนี้ ทำให้การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เกิดขึ้นอย่างยากลำบากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นยุค “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ต่อเนื่องมาถึง พธม.ปี 48-49 รวมถึงยุคสงครามครั้งสุดท้ายปี 51 นี้ก็เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางมวลชนใน “ระบอบแม้ว” ที่ใช้สัญลักษณ์ “เสื้อแดง” ในภาคเหนือ ก็ทำให้ “ดอกไม้พันธมิตรฯ” ผลิบาน และขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
ลุ่มน้ำเหนือล่างมุ่งสร้างข่ายทุกอำเภอ
ใช้วิทยุชุมชนปลุกการเมืองใหม่
โดยเฉพาะแถบภาคเหนือตอนล่าง ที่ดูเหมือนจะมีการผนึกร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ตั้งแต่การเคลื่อนไหวช่วงแรก (ปี 2548-2549) จนสามารถนำ 5 แกนนำ พธม.ขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ ได้เป็นครั้งแรกของภาคเหนือที่ พิจิตร – พิษณุโลก ท่ามกลางกระแสความรุนแรงที่คุกรุ่น ที่แกนนำพรรคไทยรักไทยยุคนั้นใช้มือไม้ในกรมอุทยานฯ มาชูโรง กระทั่งพี่น้องผองเพื่อนพันธมิตรฯ ได้ “เทพี พธม.-นิตยา กุระดาน”แกนนำ พธม.ตาก ที่นำทีมประท้วง “ทักษิณ” ระหว่างทัวร์นกขมิ้นจังหวัดตาก จนถูกกลุ่มลูกจ้างป่าไม้ ที่ระดมกันมาพิทักษ์แม้ว “ตี” จนได้รับบาดเจ็บ
กระทั่งช่วงปี 2551 เครือข่าย พธม.ในภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นพิจิตร พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ รวมถึงอุทัยธานี ได้รวมตัวกันก่อตั้ง “ชมรมลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง” ซ้อนเข้ากับการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทยภาคเหนือ หรือ ส.ป.ท.ภาคเหนือ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2551
ทั้งนี้ มีแกนหลักของพันธมิตรฯแต่ละจังหวัดเข้าร่วมเป็นกรรมการ ไม่ว่าจะเป็น สุวัฒน์ วัฒนศิริ ข้าราชการครูหัวก้าวหน้าแห่งเมืองกล้วยไข่-กำแพงเพชร ที่นอกจากจะเป็นประธานเครือข่ายลุ่มน้ำเหนือล่างแล้ว ยังเป็นเลขาธิการ ส.ป.ท.ภาคเหนือ และหนึ่งในแกนนำ พธม.กำแพงเพชร , พอพันธ์ จินันทุยา แกนหลัก ส.ร.ส.ปากน้ำโพ-นครสวรรค์ , สมเกียรติ โสภณพงศ์พิพัฒน์ เอ็นจีโอหนุ่มใหญ่ แห่งเมืองพิจิตร , นิตยา กุระดาน เทพี พธม.ตาก
ภิทัตย์ สุธาพันธุ์ หนึ่งในแกนนำ พธม.พิษณุโลก , ชูเลห์ สรรพานิช นักการเมืองท้องถิ่นจากพะเยา ที่แท็กทีมร่วมกับบรรเลง เอื้อรักสกุล และยงยุทธ สายสูงเนิน หนุ่มอีสานเขยพะเยา ที่เพิ่งถูกขว้างระเบิดขู่ถึงบ้านพักเมื่อคราวร่วมเคลื่อนไหวกับ พธม. เมื่อ 21 มิถุนายน 2551 , ส่วนเครือข่ายจากเพชรบูรณ์ ก็มีแกนนำอย่าง เกษม บุตรขุนทอง , รวมถึงชื่นศักดิ์ แย้มเจิม และสมชาย วงศ์เวช จากอุทัยธานี เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละจังหวัด ยังมีเพื่อนพ้องน้องพี่ ร่วมทำงาน
หลังยุติการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทรราชฆ่าประชาชน 193 วันไปแล้ว เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง ยังคงเดินหน้าที่จะขยายแนวร่วมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์การเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายใหญ่ของ พธม.
นายสุวัฒน์ วัฒนศิริ แกนนำ พธม.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า เบื้องต้น แต่ละจังหวัดในเขตลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง จะรวบรวมตัวแทนที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวตลอดระยะ 193 วัน รวมถึงกลุ่มที่เพิ่งจะออกมาร่วมในระยะหลัง ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นอย่างมาก มาเกาะกันเป็นกลุ่ม ตั้งทีมงานระดับอำเภอ เพื่อรวบรวมเครือข่าย จากนั้นก็จะพยายามดึงวิทยากรทั้งจากพื้นที่-ส่วนกลาง มาร่วมจัดเวทีขยายแนวคิดเรื่องการเมืองใหม่ เกาะติดสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะออกมาแสดงพลังได้ทุกเมื่อ
โดยเฉพาะกำแพงเพชร เขาบอกว่า ระยะแรกจะอาศัยเครือข่ายประชาชนที่เขาทำงานอยู่ และมีตัวแทนอยู่ทุกอำเภอ มาร่วมผลักดัน
“มาถึงตอนนี้ยอมรับว่า คนกำแพงเพชรตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ซึ่งเราอยากให้เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพื่อเพิ่มอำนาจการตรวจสอบของภาคประชาชนให้เข้มแข็งมากขึ้น อย่างการจัดเวทีสังสรรค์ใหญ่ 20 ธันวาคม ก็มีคนเข้าร่วมมากกว่า 3 หมื่นคนล้นลานวัฒนธรรมกำแพงเพชร”
อีกแนวทางหนึ่ง คือ การสร้างเครือข่ายวิทยุชุมชน เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงกระจายข้อมูลข่าวสาร-ความรู้เกี่ยวกับการเมืองใหม่ในอุดมคติ ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง โดยเชื่อมโยงเครือข่ายกับสถานีวิทยุแนวร่วมในทุกๆ จังหวัดเข้าด้วยกัน เพื่อส่งต่อ-ถ่ายทอดความเคลื่อนไหว ได้อย่างมีพลังมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ของกำแพงเพชร ก็มีอยู่แล้ว 3 สถานี หนึ่งในนั้นก็คือ คลื่น 105.75 เมกะเฮิรตซ์ ที่ถ่ายทอด ASTV ทั้งวัน และจะพยายามให้เกิดขึ้นทุกท้องที่
ส่วนที่นครสวรรค์ “กิ้น-อดิศักดิ์ จันทวิชานุวงศ์” อีกหนึ่งแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นครสวรรค์ กล่าวว่า พันธมิตรฯนครสวรรค์ ตื่นตัวกับการเมืองใหม่กันมากขึ้น หลังจากที่ร่วมต่อสู้กันมาตลอดเวลากว่า193 วัน ที่ผ่านมา ได้อาศัย ASTV เป็นแม่ข่ายหลัก กระจายความรู้ ซึ่งจริงๆ แล้วพันธมิตรฯก็ได้ใช้วิทยุชุมชนเป็นสถานีกระจายให้ความรู้และความเคลื่อนไหวของกลุ่มให้เครือข่ายนครสวรรค์รับฟังอยู่ทางบ้านอยู่แล้ว โดยพันธมิตรฯก่อตั้งขึ้นมาเองในคลื่น 101.50 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งในบางโอกาสก็จัดเวทีเสวนาทางการเมือง โดยจัดที่ห้องส่งและถ่ายทอดไปยังกลุ่มพันธมิตรฯนครสวรรค์
นอกจากนี้ยังมีคลื่น 93.75 ซึ่งเป็นวิทยุชุมชนของคนรถไฟ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มพันธมิตรฯนครสวรรค์ อยู่ก่อนแล้ว โดยรับสัญญาณจาก ASTV ที่กรุงเทพฯมาให้ฟัง เพียงแต่ไม่มีภาพเท่านั้น
เช่นเดียวกัน “ทวี ทองถัน-เฒ่าทระนงแห่งตลาดหัวรอ” แกนนำพันธมิตรฯพิษณุโลก กล่าวว่า การเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯจะทำให้ชาวพิษณุโลกตื่นตัว และสนใจเนื้อหาการเมืองมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับชมทาง ASTV แต่หากพื้นที่ไม่ได้รับชมก็สามารถติดตามทางคลื่นวิทยุชุมชน 100.75 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเครือข่ายรวบรวมทุนก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชน เพื่อกระจายข่าวสารให้แก่พี่น้องพันธมิตรฯ โดยตลอดทั้งวัน จะรับสัญญาณจากจอทีวี ASTV ถ่ายทอดออกมาเป็นคลื่นวิทยุ เนื้อหา และสาระทางการเมืองเหมือนกับทีวี แต่ไม่มีภาพให้เห็นเท่านั้น
ส่วนที่พิจิตร “สมเกียรติ โสภณพงศ์พิพัฒน์” แกนนำ พธม.พิจิตร, ประธานชมรมสหกรณ์จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ได้ก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนขึ้นมาแล้วในคลื่น 103.25 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะมีทั้งการจัดรายการโดย ดีเจ ในท้องถิ่น-วิเคราะห์ข่าวสาร-ถ่ายทอดสัญญาณ ASTV บางรายการ แทรกด้วยรายการเพลง เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายในบางช่วงเวลา
“ในอนาคตสถานีเครือข่ายทุกจังหวัด จะเชื่อมสัญญาณถึงกันหมด เพื่อเลือกนำเอารายการบางรายการมาถ่ายทอดให้เครือข่ายในพื้นที่ได้รับรู้ความเคลื่อนไหว ซึ่งเชื่อว่า แนวทางนี้จะสามารถขยายแนวร่วมในวงกว้างได้เป็นอย่างมากแน่นอน”
พธม.เหนือตอนบน กระจายเบ่งบานแทบทุกจังหวัด
ส่วนพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่ดูเหมือนจะมีเครือข่าย “เสื้อแดง” หนาแน่นกว่าตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 24 มิถุนาฯเชียงราย , กลุ่มเชียงรายฮักประชาธิปไตย กลุ่มฮักทักษิณ กลุ่มรักเชียงใหม่ 51 กลุ่มฮักลำปาง 51 ฯลฯ ที่เคลื่อนไหวสนับสนุน “ทักษิณ – ทรท.-พปช.และเพื่อไทย” เริ่มมีแกนหลักอย่างชัดเจนเมื่อ “มือปราบตี๋ใหญ่ – พล.ต.ท. สมเกียรติ พ่วงทรัพย์” ที่ประกาศตัวเป็นประธานเครือข่าย พธม.ภาคเหนือตอนบน นำทีม พธม.ลำปาง ตั้งเวทีถ่ายทอดสดสัญญาณ ASTV ต่อเนื่องหน้าห้างสรรพสินค้าเสรีพลาซ่า กลางเมืองลำปาง ได้เป็นจุดแรก และจุดเดียว
ภายใต้ทีมงานที่เข้มแข็งทั้ง สมโชค จันทร์ทอง ผู้ประสานงานองค์กรสัมพันธ์ กฟผ.เหมืองแม่เมาะ ที่อาสารับหน้าเสื่อเป็นเลขาธิการ พธม.เหนือตอนบน – หมอบุญจง ชูชัยแสงรัตน์ ผอ.โรงพยาบาลเขลางค์นครราม จ.ลำปาง ที่เข้าร่วมเป็นแกนหลัก ร่วมกับเหล่าแม่ยก พธม.ที่เข้าร่วมเวทีอย่างคับคั่งเป็นประจำ
กล่าวได้ว่าทีม พธม.ลำปาง มีส่วนช่วยสนับสนุน พธม.อีกหลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือตอนบนในการขยายเครือข่าย จัดกิจกรรม เปิดเวทีปราศรัยใหญ่ เช่น ที่เชียงใหม่ ทั้งมือปราบตี๋ใหญ่ – สมโชค จันทร์ทอง ล้วนแต่ยกกำลังมาช่วยเครือข่ายภาคีฮักเจียงใหม่ – สุริยันต์ ทองหนูเอียด ตลอดจนกลุ่มนักธุรกิจ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ในเชียงใหม่ ที่ปฏิเสธ “ระบอบทักษิณ” จัดเวทีใหญ่ทั้ง 2 ครั้ง คือ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ และโรงยิมเนเซียม 3 สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่
มิพักต้องพูดถึง “วิหคเรดิโอ 89.0 เมกะเฮิรตซ์ ” ของ “เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ที่ตั้งกลุ่ม “ทหารเสือพระราชา” ขึ้นมาเอง ถ่ายทอดเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของ พธม.ในส่วนกลางผ่านสัญญาณ ASTV อย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย จนกระทั่งนำมาสู่เหตุการณ์ “มิคสัญญีกลางเมืองเชียงใหม่” ที่กลุ่มคนเสื้อแดง ยกพลยิงถล่มสถานี ที่หมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ท่ามกลางสายตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ “เศรษฐา เจียมกิจวัฒนา” ผู้เป็นบิดา ถูกสังหารตายอย่างทารุณมาแล้ว
ส่วนในพื้นที่เชียงราย ถิ่นของ “ยุทธ ตู้เย็น – ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย , อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน มือทำงานคนสำคัญของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ยังภักดีมิเสื่อมคลายนั้น ถือเป็นพื้นที่สีแดงหนาแน่น แต่ทุกครั้งที่ 5 แกนนำ พธม.ประกาศระดมพลครั้งใหญ่ ก็จะมีขบวน “คนเสื้อเหลือง” จากเชียงราย – แม่สาย เล็ดลอดมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ร่วมชุมนุมใหญ่เป็นประจำ ไม่ว่าจะถูกเครือข่าย ขรก.ใต้ระบอบแม้ว – พลพรรคเสื้อแดง ยกกำลังไปสกัดกั้นอย่างไรก็ตาม
1 ในแกนหลักของ พธม.เชียงราย ที่ยืนหยัดท่ามกลางพลพรรคเสื้อแดงเต็มจังหวัดมาอย่างต่อเนื่องนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีชื่อ “ครูผ้าง พลชัย” อดีตแกนนำกลุ่มรักษ์แม่สาย ที่เคยออกหน้าคัดค้านการลำเลียงเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินของจีน เข้าพม่า ผ่านทางแม่สาย สำเร็จมาแล้ว – ข้าราชการครูบำนาญ สายเลือดคนนครศรีธรรมราช ที่ขึ้นมาเป็น “ครู” ที่เชียงราย กว่า 30 ปี คนนี้อยู่ด้วย โดยมีสถานีวิทยุชุมชนห้วยไคร้ ที่ลงทุนลงแรงก่อตั้งขึ้นมาเอง ในคลื่นเอฟเอ็ม 107.75 เมกะเฮิรตซ์ เลขที่ 108 หมู่ 2 ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นมือเป็นไม้ ถ่ายทอดสัญญาณการชุมนุมใหญ่ของ พธม.จากกรุงเทพฯ ไม่หยุดหย่อน จนถูกพลพรรคเสื้อแดงยกพลไปถล่ม – ทำลายทรัพย์สิน – ตัดกระแสไฟ บ้านพักที่เป็นสถานที่ตั้งสถานี รวมถึงข่มขู่หลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม “ครูผ้าง พลชัย” ยืนยันว่า เขาจะถ่ายทอดสัญญาณ ASTV ผ่านคลื่นวิทยุชุมชนของเขาต่อไป เพื่อถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นให้คนเชียงรายร่วมเดินหน้าสร้างการเมืองใหม่ที่โปร่งใส ปราศจากคอรัปชั่นต่อไป เพราะถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
ขณะที่เมืองแพร่ ถิ่น ทรท.-พปช.อีกจังหวัดหนึ่ง ก็มี “พันธมิตรฯเบ่งบาน” กลางหุบเขาบ้านแม่พุงหลวง ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ เช่นกัน เมื่อ “เกียรติ คำน้อย” ส.อบต.จากหมู่ 19 บ้านแม่พุงหลวง ที่ถือเป็นผู้นำท้องถิ่นที่ทำงานมวลชนมาตลอด ตัดสินใจตั้งจอโปรเจกเตอร์ ถ่ายทอดสัญญาณ ASTV กลางลานจอดรถของตนเอง เพราะไม่เห็นด้วยกับ “ระบอบทักษิณ” จนทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมานั่งดูจนล้นออกมาถนนหน้าบ้านเป็นประจำ และทำมาถึงทุกวันนี้ เพื่อปลุกให้เพื่อนบ้านในชุมชนตื่นจาก “ทาสทุนนิยม” ตั้งแต่ยุคกองทุนหมู่บ้าน
สำหรับที่แม่สอด หัวเมืองชายแดนจังหวัดตาก ที่ถือเป็นเมืองที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู คนส่วนใหญ่มีอันจะกิน เพราะมีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-พม่า ผ่านช่องทางนี้ปีละไม่น้อยกว่า 13,000 – 15,000 ล้านบาทนั้น ก็มีเครือข่ายพันธมิตรฯเกิดขึ้น ซึ่งเคยส่งคนหมุนเวียนร่วมชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ต่อเนื่อง ผ่านการประสานงานของ 2 แกนนำหลักอย่าง “พนัส รามสุต” ครูโรงเรียนแม่สอดวิทยาฯ-ผู้จัดการร้านอาหาร “ข้าวเม่า ข้าวฟ่าง” ร้านอาหารชื่อดังของแม่สอด และ “เอ-เขมิสรา เอกคณาสิงห์” Young Pad แม่สอด ที่ใช้ป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียนฯ เป็นสถานที่ประสานงานกับมวลชนร่วมอุดมการณ์ทุกครั้ง ที่มีเหตุรุนแรงในการชุมนุมที่ส่วนกลาง
“พนัส” เห็นว่า วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ พธม.ควรจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เพื่อส่งตัวแทนเข้าไปขับเคลื่อนการเมืองใหม่ ให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ เพราะหลังจากนี้การชุมนุมใหญ่แสดงพลังของ พธม.อาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น ความชอบธรรมน้อยลง ดังนั้นน่าจะตั้งพรรคของตนเองขึ้นมา ส่งคนสู้ในระบบ เชื่อว่าเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ พร้อมที่จะร่วมลงขันเป็นทุนในการเลือกตั้ง รวมทั้งมีคะแนนเสียงพอที่จะมีตัวแทนเข้าไปในสภาฯได้แล้ว