xs
xsm
sm
md
lg

เจาะฐานที่มั่น‘พันธมิตรฯสงขลา’ ลานประวัติศาสตร์-เวทีสร้างนักสู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันลานประวัติศาสตร์สถานีรถไฟหาดใหญ่ถูกล้อมรอบด้วยความเจริญทางวัตถุ ทำให้เหลือพื้นที่ว่างเพียง 1 ไร่เท่านั้น
รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีประวัติศาสตร์ยาวนานควบคู่กับพัฒนาการของเมืองหาดใหญ่ เพราะถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในยุคสมัยใหม่ จึงเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดความเจริญมากองรวมกันไว้ ส่งผลให้เมืองหาดใหญ่ในวันนี้กลายเป็นเหมือนเมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่างไปแล้ว

ความเป็นสถานีชุมทางหาดใหญ่ดังก็คือ เส้นทางรถไฟสายล่องใต้จากกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงสถานีนี้สามารถแยกออกไปได้ 2 เส้นทางสู่ประเทศมาเลเซียคือ เส้นทางหนึ่งตัดไปยังสถานีชายแดนไทยที่ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา จากนั้นก็ข้ามพรมแดนเช้าสู่สถานีบัตเตอร์เวิร์ธ ในรัฐปีนัง ของมาเลเซีย อีกเส้นทางหนึ่งมุ่งลงใต้ต่อไปยังสถานีสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งแต่ก่อนสามารถข้ามแดนต่อเข้าไปได้ถึงรัฐกลันตัน ของประเทศมาเลเซีย

แม้ว่าปัจจุบันการคมนาคมทางบกจะสะดวกรวดเร็ว แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังผูกพันสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แห่งนี้ ทั้งในบทบาทของขบวนม้าเหล็กผู้ซื่อสัตย์ ในการเดินทางติดต่อระหว่างเมืองท้องถิ่นในภาคใต้ด้วยกัน หรือเชื่อมความเจริญสู่กรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยเรา

ในส่วนของลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีชุมทางหาดใหญ่นั้น พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานควบคู่กับพัฒนาการของเมืองหาดใหญ่เช่นกัน แต่เป็นประวัติศาสตร์ด้านการเป็นศูนย์รวมของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนในพื้นที่ ทั้งในยามปกติที่มักจะถูกใช้ตั้งเวทีปราศรัยของทั้งนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ
สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ขณะกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ทว่า ที่ลานประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชน หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่แห่งนี้ จารจารึกอยู่ในความทรงจำของผู้คนอย่างยากจะลืมเลือนก็มีหลายเหตุการณ์ในช่วงวิกฤตของบ้านเมือง เช่น เหตุการณ์ตุลามหาวิปโยค พฤษภาทมิฬ หรือแม้กระทั่งยุคพันธมิตรฯ ลุกขึ้นโค่นล้มและขับไล่ระบอบทักษิณในเวลานี้

ย้อนหลังไปเมื่อเหตุการณ์ตุลามหาวิปโยค 2516 ซึ่งพลังนักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศได้ลุกขึ้นเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งบริหารบ้านเมืองแบบลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงของภาคประชาชน ทำให้ถูกขับไล่อย่างหนักจากเจ้าของอำนาจตัวจริง เกิดการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นในกรุงเทพฯ แล้วลุกลามไปยังต่างจังหวัด ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามตัดช่องทางการรับรู้ข่าวสารของประชาชน โดยเฉพาะทางสถานีโทรทัศน์ต่างถูกควบคุมอย่างหนัก ส่งผลให้กรมประชาสัมพันธ์ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงรับใช้อำนาจเผด็จการถูกขนานนามว่า “กรมกร๊วก” นับแต่นั้นมา

ณ ห้วงเวลานั้นคนในเมืองหาดใหญ่แม้จะมีความเจริญมากแล้ว แต่ในด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็ไม่ต่างอะไรกับบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไกลปืนเที่ยง เพราะไม่อาจรับข่าวสารจากส่วนกลางได้เลย ทั้งที่ผู้คนจำนวนมากในเมืองได้รับทราบแล้วว่าเกิดเหตุวิกฤตขึ้นในบ้านเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนในพื้นที่เริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐ แล้วขยายตัวเป็นร่วมกันขับไล่รัฐบาลทหารบ้าอำนาจชุดนั้น ดังที่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไว้ว่า…
ภาพลานกว้างหน้าสถานีรถไฟเมื่อหลายสิบปี ก่อนที่ตึกพาณิชย์และห้างสรรพสินค้าจะรุกคืบ
...10 ตุลาคม 2516 เริ่มมีการชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่)

...11 ตุลาคม 2516 วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลาประกาศงดสอบและหยุดเรียนอย่างไม่มีกำหนด ขณะเดียวกันสโมสรนักศึกษา มอ.หาดใหญ่ก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมผนึกกำลังเพื่อต่อสู้กับระบบทรราช และเรียกร้องให้นักศึกษาและประชาชนทั้งภาคใต้ตื่นขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

...12 ตุลาคม 2516 นักศึกษา มอ.หาดใหญ่ เริ่มติดโปสเตอร์โจมตีรัฐบาลเผด็จการ

...13 ตุลาคม 2516 นักศึกษาออกเดินขบวนไปชุมนุมที่ลานหน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ และปราศรัยบรรยายความเลวร้ายของ 3 ทรราช ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประพาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ซึ่งการชุมนุมได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างดี รวมทั้งนักศึกษาจากวิทยาลัยครูสงขลา วิทยาลัยวิชาการศึกษา และวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้เข้าร่วมประท้วงด้วย

...14 ตุลาคม 2516 นักศึกษา มอ.หาดใหญ่ ออกรับบริจาคเงินและโลหิต ขณะที่บางโรงเรียนได้ไว้อาลัยแด่วีรชน โดยการลดธงลงครึ่งเสา
ลานประวัติศาสตร์แห่งนี้ รับใช้สังคมตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นต้นมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อุตส่าห์ จันทร์อำไพ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ ซึ่งในอดีตสมัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ตุลามหาวิปโยค เขาเป็นยังนักศึกษาในรั้วสถาบันแห่งนี้ โดยมีตำแห่งเป็นถึงนายกสโมสรนักศึกษา มอ.หาดใหญ่ และกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บอกเล่าถึงภาพอดีตให้ฟังว่า หลังจากที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ประชุมและมีมติว่า ให้กลุ่มนักศึกษาต่างจังหวัดเคลื่อนตัวไปชุมนุมในที่สาธารณะของเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ จึงได้ออกค้นหาสถานที่ชุมนุมและเปิดเวทีปราศรัยกันอย่างคึกคัก

สุดท้ายคณะที่ออกหาสถานที่ชุมนุมก็ได้ตกลงใช้ลานสาธารณะ บริเวณหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ตั้งเวทีปราศรัยและขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวขณะนั้นมีสภาพเป็นสนามฟุตบอล โดยกลุ่มนักศึกษาได้เดินขบวนออกจากรั้ว มอ.หาดใหญ่ท่ามกลางเสียงก้องคำขู่ของอธิการบดีในสมัยนั้นว่า หากนักศึกษาคนไหนไปร่วมขบวนต่อต้านรัฐบาลจะไล่ออกจากมหาวิทยาลัย เพราะช่วงนั้นอยู่ในช่วงสอบ แต่เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ก็ไม่อาจมีใครทนอยู่นิ่งเฉยได้ ต่างออกมารวมตัวกับเพื่อนนักศึกษาจากสถานบันอื่นและประชาชนอีกจำนวนมาก

“ช่วงที่มีการชุมนุม ณ ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่อยู่ในเวลานั้น เราก็ได้มีการประสานงานกับ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ที่ตอนนั้นนั่งเป็น ผกก.หาดใหญ่ กับนายเจริญจิต ณ สงขลา ที่ตอนนั้นยังเป็นนายอำเภอหาดใหญ่ว่า กลุ่มนักศึกษาและประชาชนจะมีกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยไม่มีการกีดกันหรือข้องแวะแต่อย่างใด” ดร.อุตส่าห์กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่จุดประกายให้ลานสาธารณะแห่งนี้กลายเป็นลานประวัติศาสตร์ทางการเมืองของภาคประชาชนในที่สุด
ทุกย่ำค่ำวิทยาลัยการเมืองแห่งนี้หนาตาด้วยนักศึกษาทุกวัย
ต่อจากนั้นลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่แห่งนี้ก็ได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งคล้อยหลังเพียง 3 ปี ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ตุลา 2519 ที่จอมพลประภาส จารุเสถียร และจอมพลถนอม กิตติขจร ได้พยายามเดินทางกลับไทย หลังจากหลบออกนอกประเทศภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยจอมพลถนอมได้บวชเป็นสามเณรที่วัดไทยในสิงคโปร์ก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศ ส่งผลให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดชุมนุมใหญ่นักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นต่อต้าน แล้วสถานการณ์ ก็บานปลายกลายเป็นเหตุนองเลือดในที่สุด

หรือแม้แต่เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ที่สืบเนื่องจากการรัฐประหารของคณะทหารในนาม รสช.ในปี 2534 ทำการยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่หลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงสนับสนุนมากที่สุดในสภาฯ กลับไม่กล้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงมีการเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะ รสช.ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ทั้งที่ก่อนหน้า พล.อ.สุจินดาเคยให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนเป็นที่มาของวาทกรรมที่ว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” นั้น

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬรัฐบาลนอกจากจะบิดเบือนข่าวสารแล้ว ยังได้พยายามปิดช่องทางการรับรู้ข่าวสารของประชาชนด้วย และเมื่อมีการใช้กองกำลังที่เพียบพร้อมด้วยอาวุธสงครามสลายการชุมนุมของประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณ ทำให้เกิดกระแสการลุกขึ้นต่อต้านไปทุกหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ในพื้นที่ จ.สงขลาก็มีประชาชนจำนวนมากยึดลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ เป็นที่ชุมนุมเคลื่อนไหวอีกหน

ก่อนที่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬจะยุติลงด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเรียก พล.อ.สุจินดา กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการชุมนุมของภาคประชาชนในคราวนั้นเข้าเฝ้าเพื่อคลี่คลายวิกฤต แล้ว พล.อ.สุจินดาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด
ดนตรีเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการร่วมรณรงค์ทางการเมือง
หลังจากนั้นมาลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่แห่งนี้ก็แทบร้างลาจากการทำหน้าที่ จุดศูนย์กลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนมาเป็นเวลาเกือบ 15 ปี แต่ในระหว่างนั้นระบบทุนนิยมได้บ่มเพาะเข้าครอบงำสังคมไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้พื้นที่สาธารณะที่มากด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนในท้องถิ่นแห่งนี้ ถูกรุกคืบจากทุนนิยมในหลายๆด้าน จากพื้นที่กว้างประมาณ 30 ไร่ ที่เคยเป็นสนามฟุตบอลและลานอเนกประสงค์ ได้ถูกกลุ่มทุนสัมปทานไปทำห้างสรรพสินค้า และใช้ทำลานจอดรถควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเพื่อการค้าต่างๆ จนในเวลานี้ลานประวัติศาสตร์ดังกล่าวเหลือพื้นที่โล่งเพียงแค่ประมาณ 2 ไร่เท่านั้น

ทว่า นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเป็นแหล่งชุมนุมเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเลยแม้แต่น้อย เพราะในระหว่างปี 2548-2549 หรือที่คนในพื้นที่เรียกขานกันว่ายุค “ยิกทักษิณ” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่ดำเนินรายการโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ถูกอำนาจรัฐสั่งปลดหลังออกอากาศในวันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2548 จากสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ หรือช่อง 9 เนื่องจากพยายามเปิดโปงเบื้องลึกแห่งตัวตนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ซึ่งใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองแบบเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจครอบครัวและพวกพ้องอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแสดงกิริยาจาบจ้วงเบื้องสูงด้วยลักษณะคำพูดที่ไม่เหมาะสม

การแทรกแซงสื่อมวลชนครั้งนี้ผู้คนในสังคมเกิดคำถามว่า ทำไมรัฐบาลต้องปิดหูปิดตาประชาชน และจุดประกายการตื่นตัวรับข่าวสารอีกด้านหนึ่งที่ไม่ทีวีสาธารณะไม่กล้านำเสนอ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรจึงเกิดขึ้น โดยใช้สถานที่ในห้องประชุมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสวนลุมพินี พร้อมถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV สิ่งนี้ได้ช่วยปลุกจิตวิญญาณลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ขึ้นมาอีกคราครั้ง

การเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน ณ ลานประวัติศาสตร์หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่แห่งนี้ระลอกใหม่ เริ่มต้นจากสื่อมวลชนกับนักพัฒนาเอกชนกลุ่มเล็กๆ ที่เคยร่วมชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์อยู่กับเครือข่ายวิทยาลัยวันศุกร์ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายเสรีภาพสื่อเพื่อประชาชน” แล้วเคลื่อนตัวออกจากรั้ว มอ.หาดใหญ่มาร่วมกันกางผ้าขาวแทนจอ แล้วนำเครื่องโปรเจกเตอร์ไปตั้งฉายถ่ายทอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ณ ลานประวัติศาสตร์แห่งนี้
เฒ่าทระนง แห่งพันธมิตรสงขลาเตรียมพร้อมเดินทางเสริมทัพชุมนุมใหญ่ไล่ ทรราช
จากนั้นก็ได้รับความสนใจจากเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ นักศึกษาและบุคลากร มอ.หาดใหญ่ รวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ (สร.ร.ฟ.ท.หาดใหญ่) และองค์กรสมาชิกสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อื่นๆ ในพื้นที่อีกหลายองค์กรเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งได้ยกระดับเป็น “พันธมิตรกู้ชาติกู้ประชาธิปไตย สงขลา” แล้วก็ปรับเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “พันธมิตรสงขลาเพื่อประชาธิปไตย” โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมารองรับ

สำหรับการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ จ.สางขลาดังกล่าว มีลักษณะเป็นไปแบบคู่ขนานกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในส่วนกลาง และได้มุ่งเน้นการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารทางการเมืองแก่ประชาชนด้วย โดยมีเวทีปราศรัยที่เชิญทั้งแกนนำพันธมิตรฯ นักวิชาการ และศิลปินเพลงเพื่อชีวิตจากส่วนกลางและในพื้นที่เองมาขึ้นเวที รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์ทางการเมือง หรือเพื่อขับไล่และโค่นล้มระบอบทักษิณที่กุมกลไกอำนาจรัฐ พร้อมกดดันเปิดให้มีการตรวจสอบการทุจริตต่างๆ

เมื่อการชุมนุมของพี่น้องพันธมิตรฯ ยืดเยื้อเป็นแรมเดือน และใกล้ประสบความสำเร็จ ปรากฏว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในสมัยนั้น ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 ก.ย.2549 ก่อนวันนัดชุมนุมใหญ่ปิดบัญชีระบอบทักษิณของพันธมิตรฯ วันเดียว โดยคณะทหารดังกล่าวทำไปด้วยหวังคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องเร่ร่อนอาศัยต่างประเทศ

แม้ว่าการรัฐประหารครั้งนั้นจะไม่มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่กลับได้รับการต้อนรับจากประชาชนด้วยรอยยิ้มและดอกไม้มอบสู่มือทหาร พร้อมถ่ายภาพที่ระลึกคู่กับรถถัง แต่ 1 ปีที่มีรัฐบาลชั่วคราวจากการแต่งตั้งโดย คมช.กลับพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้คลี่คลายสถานการณ์ใดเลย แต่ทำให้ระบบการทำงานเกิดสุญญากาศ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ยังเปิดช่องให้ พ.ต.ท.ทักษิณสามารถผลักดัน “รัฐบาลตัวแทน” นำโดย นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาบริหารประเทศเพื่อแก้ต่าง และใช้เป็นเวทีต่อสู้คดีทุจริตคอร์รัปชันผลประโยชน์จากประเทศและประชาชน ซึ่งว่ากันว่ามีมูลค่าสูงนับหมื่นล้านบาท
ทัพคนใต้กู้ชาติต่างแบกหิ้วสัมภาระส่วนตัวเพื่อพักค้างแรมขึ้นขบวน ม้าเหล็ก เพื่อไล่รัฐบาลเถื่อน
สิ่งเหล่านี้เองทำให้ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่แห่งนี้ ถูกปัดกวาดต้อนรับการลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชนในพื้นที่กับระบอบทักษิณภาค 2 อีกครั้ง ในยุค “รัฐบาลนอมินี” ปี 2551 โดยมีคณะทำงานพันธมิตรฯ สงขลาแกนกลางในการประสานพลังประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ให้ร่วมต่อสู้กับรัฐบาลตัวแทนระบอบทุนสามานย์เป็นเวลา 193 วัน จนสามารถขับไล่นายกรัฐมนตรีจอมปลอมได้ 2 คนคือ นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งปัจจุบันเผชิญกับวิบากกรรมป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยคาดว่าจะใช้ชีวิตในวินาทีสุดท้ายอยู่ที่สหรัฐอเมริกาแทนที่จะเป็นบ้านเกิด และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาการต่อสู้กับระบอบทักษิณ ณ ลานประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟหาดใหญ่ แห่งนี้ มีแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ขึ้นปราศรัยมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ, อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายพิภพ ธงไชย, นายวีระ สมความคิด, นายศิริชัย ไม้งาม, นายชัยวัฒน์ สินสุวงศ์, น.ส.อัญชลี ไพรีรักษ์, ดร.ประยูร อัครบวร, นายประพันธ์ คูณมี, นายสาวิทย์ แก้วหวาน, นางเสน่ห์ หงษ์ทอง, นายอธิวัฒน์ บุญชาติ, นายบรรจง นะแส, พ.อ.(พิเศษ)ไพโรจน์ นิยมพันธ์ ฯลฯ

หรือแม้แต่ศิลปินกู้ชาติทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ รวมถึงศิลปินแดนสะตอเลือดใหม่ที่มีใจรักชาติเต็มเปี่ยม เช่นกัน อาทิ ตั้ว-ศรัญญู วงศ์กระจ่าง, สุกัญญา มิเกล, ซูซู, เสก ศักดิ์สิทธิ์, แสง ธรรมดา, วง ฅ.คนกู้ชาติ, วงบาโรย, วงภู-เล, วงคีรีธาร, วงยิปซีเล, วงมะลิซ้อน ฯลฯ

เรียกได้ว่าช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ เปรียบเสมือนจุดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐบาลที่กระหายอำนาจในทุกยุคทุกสมัย และคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ตราบเท่าที่การเมืองไทยยังอยู่ในวังวนการเมืองน้ำเน่า เช่นเดียวกับปัจจุบันที่แม้จะไม่มีการชุมนุม เพราะการเมืองได้ถูกเปลี่ยนขั้วเป็นพรรคประชาธิปัตย์บริหารประเทศ แต่ยังมิอาจนิ่งนอนใจได้ว่าจะทิ้งรูปการเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยนักการเมืองไร้จริยธรรม และคอร์รัปชันเป็นนิจศีล

บทบาทของ “ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่” แห่งนี้ จึงยังรับใช้สังคมเป็นครั้งคราว เพื่อเป็นพื้นที่เพาะบ่มความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน อันจะเป็นภูมิคุ้มกันในการต่อสู้และตรวจสอบนักการเมืองเส็งเคร็งในวังวนการเมืองน้ำเน่าแบบเก่าๆ และเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดสู่การเมืองใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่น่าจะยุติปัญหาการลุแก่อำนาจของผู้บริหารประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นคู่ขนานตลอดเวลาที่ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย


“แลนด์มาร์ก” การเมืองกลางเมืองหาดใหญ่

สำหรับบทบาททางจิตวิญญาณของ “ลานประวัติศาสตร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่” เคยถูกนำเสนอในรูปแบบของบทกวีเมื่อครั้ง “พันธมิตรฯ สงขลา” ได้เริ่มลุกขึ้นสู้กับระบอบทักษิณระลอกใหม่ต้นปี 2551 โดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “ภู-ติ-รัก” ซึ่งเป็นนามปากกาของสื่อมวลชนแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ถิ่นเกิดอยู่ที่ลุ่มน้ำน่าน เป็นหนึ่งในกวีผู้ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มกาแล” กลุ่มวรรณกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ถือเป็นกวีสายตระกูลช่างแรคำ เพราะเป็นศิษย์ของ “แรคำ ประโดยคำ” กวีซีไรต์แห่งลุ่มน้ำแม่ปิง มีเนื้อหาดังนี้

กี่ฝนกี่แดดที่แผดเผา
กี่ร้อนกี่หนาวที่บาดเนื้อ
กี่ซ่อม-กี่สี ที่จุนเจือ
และกี่สนิมเถือถึงเนื้อใน
กี่วารกี่วันที่ผันผ่าน
กี่ปรากฏการณ์ก่อความหมาย
กี่เดือนกี่ปีที่เรียงราย
และกี่คนได้อุดมการณ์
เวทีนี้สร้างคนกี่คนแล้ว
ที่ฉายแวววับวาวท้นกล่าวขาน
มากหน้านักต่อสู้ผู้เบิกบาน
สืบสานการเมืองภาคมวลชน
เวทีนี้กี่ครั้งที่สร้างค่า
แต้มชีวิตชีวาไว้เข้มข้น
ปลุกเมืองทั้งเมืองอย่างมากมนต์
และเติมคนให้เต็มคน-พลเมือง
ลานการเมืองแห่งนี้มีสีสัน
ที่ร้อยเรียงฝันอันฟูเฟื่อง
เกี่ยวใจใฝ่รักถักประเทือง
จนมากเรื่องเล่าขานตำนานมา
ลานการเมืองแห่งนี้มีศรีศักดิ์
เคยปักหลักไล่มารอย่างหาญกล้า
ต้านอยุติธรรม์-หนุนธรรมมา
จุดเทียนแห่งปัญญายื่นแก่กัน
คืนลานการเมืองภาคประชาชน
บนท้องถนนที่สร้างสรรค์
คือเวทีแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน
ของผองชนสามัญทุกชั้นชน
กำลังโหลดความคิดเห็น