xs
xsm
sm
md
lg

กาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ วันที่ท่านผู้อ่านออนไลน์จะได้อ่านบทความนี้ก็คือ ค่ำหรือกลางคืนวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2551 สำหรับท่านที่จะเข้ามาอ่านทีหลัง จะได้อ่านเมื่อใดก็สุดแท้แต่ความสะดวกที่ท่านจะเปิดเข้ามา ส่วนท่านที่คอยอ่านจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ก็จะได้อ่านในวันอังคารที่ 30 ธันวาคม 2551

อีก 2 วัน ก็จะถึงวันขึ้นปีใหม่ ผมขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่แด่ท่านผู้อ่านโดยทั่วถึงกันทุกคน

ขอให้ตลอดปี 2552 ที่จะถึงนี้เป็นปีที่สุขสำราญบานใจของท่านและบ้านเมือง ขออย่าได้มีความเครียดเหมือนหนูติดจั่นอย่างกับในปีหนูที่ผ่านมาเลย

ที่ผมเริ่มคุยกับท่านผู้อ่านด้วยเรื่องวันเดือนปี กับความสะดวกที่ท่านจะสามารถอ่านหนังสือได้นั้น ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาเฉยๆ ถ้าไม่คิดอะไร หรือบางทีสำหรับบางคนก็คิดไม่ออกหรือไม่เห็นจะต้องคิดอะไรเลย ก็มันเป็นอย่างนี้เองไม่ใช่หรือ ผมก็จะตอบว่า ไม่ใช่ดอกครับ เมื่อก่อนมันหาเป็นเช่นนี้ไม่

เดี๋ยวนี้ เกือบจะทันทีที่ผมเขียนเสร็จ ท่านก็จะได้อ่านทันทีหรือจะเลือกอ่านเมื่อใดก็ได้ตามสะดวก แถมจะอ่านแบบออนไลน์หรืออ่านในหน้าหนังสือพิมพ์จริงๆ หรือไม่ก็จากอินเทอร์เน็ตอี-เมลที่เพื่อนฝูงส่งมาให้เป็นกลุ่มๆ ก็ยังได้อีก ผมจึงเก็บเอาเรื่องนี้มา ตอกย้ำให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและความมหัศจรรย์ของกาลเวลา กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ร่นโลก ร่นเวลา ร่นระยะที่มนุษย์จะติดต่อสื่อสารกันได้ อย่างช้าที่สุดก็ประเดี๋ยวเดียว ถ้าจะให้เร็วที่สุดก็ทำได้เดี๋ยวนั้น คือในเวลาจริงในขณะนั้นๆ ที่ฝรั่งเรียกว่า Real Time หรือเวลาจริงเลยทีเดียว

นี่ต้องนับว่ามหัศจรรย์ยิ่งสำหรับคนที่เกิดภายในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหมือนอย่างผม และศตวรรษที่ 20 นี้ ก็เป็นศตวรรษที่มหัศจรรย์ที่สุดสำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก และความมหัศจรรย์อันหลังนี้ก็เกิดจากความมหัศจรรย์ของมันสมองของมนุษย์

มนุษย์บางคนคิดและเชื่อว่า มนุษย์จะเดินทางไปสู่โลกพระจันทร์ได้ และในที่สุดยังไม่ถึงปลายศตวรรษดี มนุษย์ก็สามารถไปเหยียบโลกพระจันทร์

ผมเกิดที่เชียงใหม่แต่ไปโตเป็นหนุ่มเรียนชั้นม.ปลายที่โรงเรียนหนองคายวิทยาคาร ร่วมโรงเรียนกับพล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนที่พล.อ.สุจินดากับผมเดินทางเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ นั้น ถนนลาดยางระหว่างหนองคายกับอุดรธานียังไม่มี รถไฟก็ยังไปไม่ถึงหนองคาย ผมต้องขึ้นรถไฟจากอุดรฯ ไปค้างคืนที่โรงแรมฟ้าสางที่สถานีรถไฟโคราช รุ่งขึ้นเช้าจึงขึ้นรถต่อมาถึงกรุงเทพฯ ค่ำพอดี

ในช่วงนั้นแหละ ที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเริ่มคิดถึงการเดินทางไปโลกพระจันทร์ แต่กว่าคนจะไปโลกพระจันทร์ได้จริงๆ ผมก็เกือบจะเดินทางไปเรียนต่อเมืองนอกพอดี ผมมีสิทธิเลือกว่าจะไปอังกฤษ ฝรั่งเศส หรืออเมริกา ผมเลือกไปอเมริกาประเทศที่เกิดหลังประเทศไทยตั้ง 500 ปี

ตอนที่ผมออกเดินทางนั้น ยังไม่มีเครื่องบินเจ็ต ผมเลือกไปทางยุโรป ซึ่งอย่างเร็วก็จะต้องค้างปารีส หรือโคเปนเฮเกน หรือแฟรงก์เฟิร์ตหนึ่งคืน ถ้าจะให้สบายๆ ก็ขยายเวลาเป็น 2 คืน คือแวะพักกลางทางที่เมืองเดลฮีของอินเดียเสียก่อน

ตลอดเวลาที่ผมเรียนอยู่กรุงเทพฯ คิดถึงพ่อแม่ใจจะขาดอย่างไร ก็ไม่เคยคิดที่จะโทรศัพท์ไปถึง เพราะจะต้องไปพูดได้ที่เดียวคือไปรษณีย์กลาง บางรัก คงได้อาศัยแต่จดหมายปิดสแตมป์หรือไม่ก็ฝากคนไป ปิดเทอมทีจึงจะได้กลับไปเยี่ยมบ้านครั้ง

พอไปอยู่อเมริกาก็อีก คนที่ผมคอยใจจดใจจ่อที่สุดในรอบสัปดาห์หนึ่งๆ ก็คือบุรุษไปรษณีย์ เรื่องจะโทรศัพท์ก็อย่าไปฝันถึง สมัยโน้นอย่าว่าแต่มือถือเลย แม้โทรศัพท์ประจำบ้านมีกันทุกหลังคาเรือนก็โทร.ทางไกลข้ามประเทศยังไม่ได้ เรื่องจะกลับมาเยี่ยมบ้านตอนปิดเทอมก็อย่าได้ฝันเลย ค่าเครื่องบินแพงและการไปมาก็ยังเรียกไม่ได้ว่าสะดวก

เห็นหรือยังครับ ท่านเจ้าของศตวรรษที่ 21 ซึ่งโทรศัพท์มือถือ และจานดาวเทียมบุกเข้าไปถึงท้องนาของภูมิภาคที่ทุรกันดารที่สุด

สมัยโน้น ความคิดถึงบ้านมันช่างเป็นความสุขที่ปวดร้าวทรมานเสียเหลือเกิน เพื่อนผมหลายคนทั้งหญิงและชายต้องถอนหมั้นไปมีคู่ใหม่ เพราะไม่สามารถเอาชนะความหงอยเหงา ระยะทางและกาลเวลาได้

ความคิดถึงบ้านทำให้ผมต้องเกณฑ์ให้พวกพ้อง ซึ่งอยู่ต่างมหาวิทยาลัยพากันเขียนคอลัมน์ “คิดถึงเมืองไทย” ส่งมาให้

นสพ.ประชาธิปไตยรายวัน สมัยที่คุณไสว พรหมิ เป็นบรรณาธิการ พูดไปทำไมมี นอกจากจะไม่ได้ค่าเขียนแล้ว แม้แต่ค่าแสตมป์ก็ยังไม่มี แต่ที่มีค่ายอดยิ่งคือทางโรงพิมพ์ส่งหนังสือไปให้อ่านทางเมล์อากาศสัปดาห์ละครั้ง แค่นั้นเราก็ซึ้ง และเขียนส่งกันอย่างมีวินัยยอดเยี่ยมมิเคยขาด ต้นฉบับทั้งหมดเขียนด้วยลายมือ ผู้ที่ช่วยผมประสานงานอย่างเข้มแข็งในช่วงต้นๆ คือ ดร.กมล สมวิเชียร และดร.วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ วารินทร์จากไปแล้ว และกมล หลังจากที่ได้ดีในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่วายฝันสลายกับการเมืองแบบกงจักรกวนน้ำเน่าแบบไทยๆ ตัดสินใจไปหากินเป็นศาสตราจารย์สอนหนังสืออยู่ในอเมริกา

เมื่อเปรียบเทียบกับความสะดวกของการสื่อสารคมนาคมของยุคนี้แล้ว ผมรู้สึกว่าเราแทบจะอยู่กันคนละโลก ความแตกต่างในเรื่องนี้ผมอยากรู้จริงๆ ว่าความคิดและระบบพฤติกรรมของบุคคล สังคม และระบบการเมืองของเราจะแตกต่างกันแค่ไหนอย่างไร อย่างใดจึงจะเรียกว่าดีขึ้น อย่างใดจึงจะเรียกว่าเลวลง เอามาตรฐานอะไรเป็นเครื่องตัดสิน

ปีใหม่นี้ หลังจากเป็นสิบๆ ปีมาแล้ว ผมมีโอกาสอยู่บ้านเป็นปีแรก เพิ่งกลับมาถึงจากการไปเยี่ยมเพื่อนฝูงในประเทศเพื่อนบ้าน คืนนี้เตรียมจะไปออกเอเอสทีวีตอน 3 ทุ่ม ยังไม่รู้ว่าเรื่องอะไร

ผมเลยถือโอกาสไปกราบสวัสดีญาติผู้ใหญ่ นอกจากคุณอาหมอเสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์รุ่นน้องของพ่อ ซึ่งปีนี้อายุย่าง 98 ปีแล้ว ยังแข็งแรงและรื่นเริง ท่านบ่นเสียดายอดีตนายกฯ คนหนึ่งบอกว่าดีได้ตั้ง 2 ปีแล้วไม่น่าจะดีแตกเลย เสียดายจริงๆ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมพี่สาวลูกป้า พี่แท้ๆ ของศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหะอำไพ ชื่อพี่ไขแสง สุวรรณศร พี่แสงอายุ 86 ปีแล้ว ยังร่าเริงแจ่มใส ถึงจะเป็นเบาหวานอ่อนๆ และเดินเหินขัดบ้าง ก็ยังไปได้สบายๆ

แต่ที่อยากจะเล่าก็คือ พอผมกับน้องสาวคนสุดท้องชื่ออังสนา พันธุ์เจริญ ซึ่งกลับมาเยี่ยมจากอเมริกา โผล่หน้าเข้าไป ทั้งๆ ที่ในบ้านอยู่กัน 3 คน ทำไมจึงบอกว่าคนมาคอยอยู่เต็มบ้านตั้ง 3 ชั่วโมงแล้ว

ปรากฏว่าแท้ที่จริงคือหลานสาว หลานเขย และลูกๆ ครอบครัวของสมปอง สงวนบรรพ์ อุปทูตไทยประจำรัสเซียคอยอยู่บนจออินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้เครื่องและระบบที่เรียกว่าสไกต์ ทำให้สามารถพูดจาเห็นหน้ากันได้หมดโดยไม่เสียเงินเลย ทั้งๆ ที่เขาอยู่บนอพาร์ตเมนต์ที่กรุงมอสโก อากาศหนาวเหน็บต่ำกว่าสิบดีกรี

เรื่องที่ว่านี้อาจจะธรรมดาๆ สำหรับคนสมัยใหม่ แต่สำหรับผมแล้วมันช่างมหัศจรรย์เสียจริงๆ

ผมจึงเฝ้าแต่คิดว่า เราจะถ่ายทอดความมหัศจรรย์นี้มาเป็นความมั่งคั่งและศานติสุขในสังคมไทยได้อย่างไร

ความรู้และเทคโนโลยีทุกวันนี้ ถ้าเรา “เข้าถึง” “สู้ราคาได้” และมี “ปัญญาในการเลือก” เราก็จะเป็นนายของมัน และนำมาใช้ให้เป็นคุณได้อย่างแน่นอน และแน่นอนที่สุดตัวชี้วัดก็คือ “ความรู้” และ “ความรู้สึก” ในเรื่องของความ “พอเพียง”

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ปีใหม่ปีนี้ สบายๆ หายเครียดนะครับ และอีกครั้ง ขอให้มีความสุขอย่าง “พอเพียง” และ “เพียงพอ” ทุกท่านนะครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น