xs
xsm
sm
md
lg

ทีมเศรษฐกิจปัจจัยที่จะเขย่ารัฐบาลอภิสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในที่สุดก็ได้เห็นหน้ากันชัดเจนแล้ว ถึงทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งหลักใหญ่ของเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะอยู่ที่ภาคการเงินการคลัง ภาคการผลิต อุตสาหกรรม ภาคการค้า และอาจจะพ่วงด้านการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการเมกะโปรเจกต์ การท่องเที่ยว และด้านการต่างประเทศเข้าไปด้วย

เมื่อพิจารณาถึงตัวบุคคลที่จะมารับผิดชอบด้านนี้ ประกอบไปด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง จากพรรคประชาธิปัตย์ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ จากพรรคภูมิใจไทย นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม จากพรรคเพื่อแผ่นดิน นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จากกลุ่มเพื่อนเนวิน นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ จากพรรคชาติไทยพัฒนา และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จากพรรคประชาธิปัตย์

จะเห็นได้ว่า แต่ละคนที่ประกอบเข้ามาเป็นทีมเศรษฐกิจ ล้วนมาจากต่างพรรค ต่างกลุ่ม ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงต้องเข้ามากำกับดูแลด้วยตัวเองในฐานะหัวหน้าทีม เพื่อความเป็นเอกภาพ โดยมีนายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยอย่างใกล้ชิด

บุคคลที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเพื่อกำกับดูแลในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายกรณ์ จาติกวณิช หรือนายกษิต ภิรมย์ ภาคธุจกิจและสังคมโดยรวมจะไม่ค่อยข้องใจในฝีมือ หรือความรู้ ความสามารถ

ต่างจากส่วนที่เหลือ ล้วนอยู่ในข่าย ไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ ถึงขนาดที่สภาหอการค้า สภาอุสาหกรรม สมาคมธนาคาร และสภาตลาดทุน แค่เห็น"ผในตอนแรก ก็ออกมาบ่นอย่างไม่เกรงใจนายกรัฐมนตรีว่า รู้สึกผิดหวัง

แต่นายอภิสิทธิ์ ก็ชี้แจงโดยยอมรับว่า การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ มีข้อจำกัดเรื่องกลุ่มการเมือง กลุ่มทุน และปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในส่วนของนายวีระชัย วีระเมธีกุล นั้น แม้จะไม่ค่อยมีใครข้องใจเรื่องประสบการณ์ และความสามารถ แต่ก็สร้างความปั่นป่วนในพรรคพอสมควร เนื่องจากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นแคนดิเดทก่อนหน้านั้น มาถูกเบียดในนาทีสุดท้าย จึงมีการออกมาแฉว่า นายวีระชัย เป็นตัวแทนกลุ่มทุน และเคยรับใช้รัฐบาลในระบอบทักษิณมาแล้ว

โดยปูมประวัติแล้ว นายวีระชัย ซึ่งเป็น"อดีตเขยซีพี" เคยช่วยงานในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในตำแหน่ง ผู้ช่วย รมว.คลัง (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ) มาถึงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มาเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

แต่ก่อนหน้านั้น เขาเคยรับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในขณะเดียวกันก็ยังได้รับเกียรติเชิญให้เข้าเป็นอาจารย์สอนพิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกหลายแห่ง เนื่องจากจบการศึกษาปริญญาเอกทางด้านบัญชีดุษฎีบัณฑิต

หลังจากลาออกจากราชการก็ได้ไปทำงานในประเทศจีน โดยได้เข้าดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามลำดับ ในธนาคาร TM International และสุดท้ายมาดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการธนาคาร Business Development Bank

เมื่อนายวีระชัย เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมือง และได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ระบบสัดส่วน ก็ได้มีโอกาสทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติที่สำคัญๆ หลายตำแหน่ง เช่น รองประธานกมธ. การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน และรองประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ผู้ช่วยรมว.เกษตรฯ ผู้ช่วยรมว.คลัง และผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ

ดังนั้นเขาจึงได้รับความไว้วางใจจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้เข้ามาทำงานในตำแหน่ง"พี่เลี้ยง"ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อดูแลด้านเศรษฐกิจ แม้จะเสี่ยงต่อความวุ่นวายในพรรค กระทั่งถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีเรื่องเงินบริจาค 80 ล้านบาท

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง เจ้าของห้องอาหารขนาบน้ำ รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ในช่วงที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ ลาออก และเป็นแคนดิเดท ที่จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต่อมาที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคกลับมีมติให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

นายชาญชัย เคยเป็น ส.ส.มหาสารคาม 6 สมัย เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และประธานส.ส.ภาคอีสานของพรรค กมธ.กิจการสภาผูแทนราษฎร เลขานุการรมช.มหาดไทย และรองโฆษกรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่การจัดตั้งครม.ยังไม่ลงตัว นายชาญชัย ได้รับการวางตัวเป็นรมช.มหาดไทย โดยมีร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นตัวเต็งในตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรม แต่เมื่อมีเสียงท้วงติงจากภาคเอกชน และ ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง นายชาญชัย จึงได้มานั่งเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม แม้จะไม่เคยดูแลงานด้านอุตสาหกรรมมาก่อนก็ตาม

ส่วนนางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นเป้าของภาคธุรกิจเอกชน ว่าไม่เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่ามีความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากเคยบริหารงานด้านอสังหาริมทรัพย์มาก่อน อีกทั้งการเข้ามารับตำแหน่งครั้งนี้ ก็นำอดีตทีมที่ปรึกษาของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรมว.พาณิชย์ และอดีต รมว.คลัง ในรัฐบาลทักษิณ มาร่วมทีม

อีกคนที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เหมาะสมในตำแหน่งที่มารับผิดชอบคือ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จากกลุ่มเพื่อเนวิน

นายโสภณ เคยเป็น รมช.คมนาคม มาแล้วในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยเข้ามาแทนที่ นายทรงศักดิ์ ทองศรี แกนนำกลุ่มเพื่อเนวินอีกคนหนึ่ง ที่บังเอิญไปวิพากษ์วิจารณ์ นายสมชาย จนสร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าของพรรคตัวจริงที่อยู่ต่างแดน จึงถูกปรับออกไป

ก่อนหน้านี้ นายโสภณ เคยเป็นส.ส.ในสังกัดพรรคชาติไทย เมื่อคราวเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ต่อมาการเลือกตั้งปี 2548 นายโสภณได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย อยู่ในความดูแลของนายเนวิน ชิดชอบ และสอบผ่านได้เป็นส.ส. เขต 6 โดยชนะคู่แข่งอย่าง นายสหภาพ เลี้ยงผ่องพันธุ์ พรรคชาติไทย ลูกชาย นายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทย แบบขาดลอย

ตำแหน่งรมว.คมนาคม ที่ได้รับในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็น "ส้มหล่น" ลูกใหญ่ เพราะทันทีที่กลุ่มเพื่อนเนวิน ประกาศย้ายขั้วมาร่วมกับประชาธิปัตย์ ก็มีข่าวออกมาทันทีว่า หนึ่งในเงื่อนไขที่ตกลงกันคือ กลุ่มเพื่อนเนวินต้องได้ดูแลกระทรวงคมนาคม และก็มีชื่อ "ชัย ชิดชอบ" พ่อของนายเนวิน จะมานั่งว่าการฯ แต่ก็มีเสียงปฏิเสธของนายชัย ตามมาว่า จะขอเป็นประธานสภาต่อไป ไม่สนใจตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะเขาเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเสนอให้ ยังไม่เอาเลย

หลังจากที่นายชัย ปฏิเสธเก้าอี้ตัวนี้ ก็มีชื่อ นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกรัฐมนตรียุคนายสมัคร สุนทรเวช ผู้พยายามผลักดันโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 6 พันคัน มูลค่าแสนล้าน แต่ต่อมาถูกปรับลดลงเหลือ 4 พันคันมาเป็นแคนดิเดท แต่สุดท้าย ส้มก็มาหล่นใส่ นายโสภณ ก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า หนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโสภณ จะมีการสานต่อโครงการรถเมล์ 4 พันคันนี้หรือไม่

จากข้อจำกัดทางการเมือง ที่ทำให้ทีมเศรษฐกิจของนายอภิสิทธิ์ ต้องมาจากหลายพรรค หลายกลุ่ม จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของนายอภิสิทธิ์ ว่าจะสามารถสร้างความเป็นเอกภาพ เพื่อให้การกู้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

กำลังโหลดความคิดเห็น