xs
xsm
sm
md
lg

สงครามที่เป็นธรรมหรือ Just War

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

ว.ร.ฤทธาคนี
nidd.riddhagni@gmail.com


เงื่อนไขทางการเมืองส่วนใหญ่ได้รับการแก้ไขตามแนวทางใหม่ที่ได้ผลกว่าการรัฐประหาร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางรัฐศาสตร์ที่ขมขื่น แต่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่สังคมเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แนวทางใหม่ที่เป็นผลได้แก่หลักการตุลาการภิวัฒน์ซึ่งมีความชัดเจนอย่างต่อเนื่องมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ระเบียบการเมืองได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบที่พิสูจน์ได้ เพราะคนที่กระทำผิดกฎหมายมหาชนถูกระบบตุลาการชี้เฉพาะเจาะจงถึงความผิดที่กระทำต่อสังคม เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีการกำหนดหนทางที่ป้องกันความวุ่นวายในชาติถึงขั้นเป็นรัฐอนาธิปไตย และเกิดสงครามการเมืองในที่สุด

มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เกิดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา เมื่อเกิดภาพพระจันทร์ยิ้มต่อสายตาคนไทยในคืนก่อน การสวนสนามสาบานตนของทหารรักษาพระองค์ต่อพระพักตร์ในหลวง และการพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองที่มีความผิดในข้อหาทุจริตเลือกตั้งรวม 3 พรรค ตามที่ทราบกันแล้ว และปรากฏการณ์ทางการเมืองนี้จะเป็นบทเรียนที่คนไทยทั้งหมดยินดีที่จะให้เป็นเช่นนั้น

หากนึกย้อนหลังไปในวันที่ 25 เมษายน 2549 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานโอวาทแก่บรรดาผู้พิพากษาศาลปกครองและศาลฎีกาที่เข้าเฝ้าฯ พระองค์ในวันนั้นให้ตระหนักถึงความหายนะของประเทศชาติ หากบ้านเมืองขาดหลักยุติธรรม

ปรากฏการณ์ทางหลักตุลาการนี้เปรียบเสมือนหนทางนำประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า แทนที่จะแก้ไขด้วยกำลังทหารหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ยังมีหนทางปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตยในส่วนของอำนาจตุลาการที่จะปรับแก้เหตุการณ์ร้ายที่นำพาชาติสู่ความล่มจมได้แทนการปฏิวัติ

นับตั้งแต่นั้นมา อำนาจตุลาการในหลายขบวนการยุติธรรมที่ให้อำนาจกับองค์กรอิสระทางตุลาการ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นหรือมีอำนาจมากขึ้นจากกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนฉบับแรกคือ ฉบับ 2540 และพัฒนาให้รัดกุมมากขึ้น ป้องกันการเป็นเผด็จการรัฐสภาจากต้นตอแห่งอำนาจคือ รัฐสภา ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงเป็นกลไกรัฐศาสตร์ที่ป้องกันการก่อรัฐประหารได้ และเป็นมาตรฐานหรือบทเรียนให้กองทัพได้ยึดถือปฏิบัติในอนาคต

ดังนั้นที่พูดถึงสงครามที่เป็นธรรมหมายถึงอะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์บ้านเมือง ประการแรก ต้องพิจารณาถึงความหมายของสงครามก่อน ซึ่งมีนักวิชาการทางการทหารรัฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์การทหารได้ให้นิยามศัพท์ไว้มากมาย แต่ขอเสนอความหมายหนึ่งที่ดวงเด่น นุเรมรัมย์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ไว้ในวิทยานิพนธ์ปี 2545 ว่า

“สงครามคือปรากฏการณ์ความรุนแรงที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางการเมืองของแต่ละประเทศ ซึ่งการต่อสู้ในสงครามนั้น ไม่ใช่เฉพาะการต่อสู้ระหว่างรัฐกับรัฐเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงสงครามกลางเมือง การก่อจลาจล และการก่อกบฏภายในรัฐหนึ่งๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม การทำสงครามทุกรูปแบบต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อีกฝ่ายที่แพ้ทำตามความเจตจำนงของฝ่ายที่ชนะ อีกทั้งการดำเนินสงครามไม่ว่าในรูปแบบใด หรือแม้กระทั่งการดำเนินสงครามโดยไม่มีการใช้กำลังทหารหรืออาวุธก็ตาม ย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ชีวิต และทรัพย์สินของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

และเมื่อให้กิจกรรมการต่อสู้ตามนัยสำคัญของสงครามตามที่กล่าวนี้เป็นการดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม มีความถูกต้อง มีความชอบธรรมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ผลที่เกิดจากสงครามนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาเพราะสงครามได้ขจัดความเสี่ยงที่นำสู่ความหายนะของชาติบ้านเมือง หรือป้องกันไม่ให้วัฒนธรรม และหลักความชอบธรรมของชาติถูกทำลาย จึงเรียกว่าสงครามที่เป็นธรรมหรือ Just War

ให้ห้วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤตการเมืองที่ส่อให้เห็นว่าความขัดแย้งของสังคมมีความรุนแรงจนอาจนำประเทศสู่สงครามการเมือง ทั้งมีการดึงเอากองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่หลายครั้ง เพื่อให้เกิดพหุเหตุ หรือเพื่อให้เป็นพวกตนหรือเป็นฝ่ายสนับสนุนตน ทั้งพวกต่อต้านระบอบทักษิณหรือพวกสนับสนุนระบอบทักษิณ ระบอบนี้กินความหมายกว้างตั้งแต่ตัวบุคคล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอง หรือกว้างขวางถึงกลุ่มต่อต้านระบบสถาบันชาติซึ่งแฝงอยู่ในกลุ่ม นปช.

ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเมื่อฝ่ายรัฐบาลที่เกิดจากระบอบทักษิณ และเป็นตัวแทนระบอบนี้พยายามจะทำลายฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ จึงเกิดการต่อสู้ขึ้นมีการใช้อาวุธสามัญข้างถนนกัน เช่น มีด กระบอง ระเบิดขวด ต่อมาพัฒนาเป็นปืน และอาวุธสงคราม เช่น M 79 มีการล่อหลอกให้ตำรวจข้างกลุ่มระบอบทักษิณเพื่อสลายฝูงชนจนมีคนตาย มีการลอบยิง ส่วนฝ่าย พธม.ที่ต่อต้านระบอบทักษิณก็จนตรอกจึงต้องยึดสถานที่สำคัญของรัฐ และท่าอากาศยานฯ อันเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจของชาติให้เป็นการประท้วงรัฐบาลขั้นรุนแรงที่สุด เป็นสงครามการเมืองขั้นรุนแรงที่มีคนนับหมื่นๆ คนต้องชะตากรรม เพราะว่าในบทสุดท้ายของสงครามการเมืองที่ใช้กลยุทธ์การประท้วงมักจะลงเอยเช่นนี้เพราะต้องการสาธารณชนได้รับรู้ด้วย

และจุดนี้เองที่สงครามการเมืองล่อแหลมมากต่อการพัฒนาสู่สงครามการเมืองย่อยที่กองทัพจะต้องออกมาจัดการ เพราะตำรวจฝ่ายเดียวกระทำไม่ได้ และพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ต้องถูกออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร. เพราะไม่ต้องการนองเลือด ส่วนกองทัพได้รับการปกป้องจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ซึ่งป้องกันการแทรกแซงของนักการเมืองหรือป้องกันมิให้กองทัพต้องสวามิภักดิ์ต่อนักการเมือง เพราะมีคณะกรรมการรวม 7 คนในการพิจารณาโยกย้ายทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีบังคับกองทัพด้วยอำนาจรัฐไม่ได้โดยตรง

ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนที่ผ่านมา จึงเป็นเหมือนสงครามการเมืองที่มีความเข้มข้น และล่อแหลมมากที่สุด

แต่ด้วยพระบารมีอันยิ่งใหญ่และดำรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งมวลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทำให้เหตุร้ายกลายเป็นดี และเกิดแนวทางที่จะเกิดสันติธรรม นิติรัฐ และการเมืองที่สดใสขาวสะอาดขึ้น เป็นบทเรียนข้อจดจำเป็นวัฒนธรรมใหม่ จึงขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น