36. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นกรรมฐานเพื่อให้เกิดปัญญารู้เห็นรูปนาม หรือ กายใจ ของตนได้ตรงตามความเป็นจริงว่า ตัวเราไม่มี ตัวตนก็ไม่มี มีแต่ รูป กับ นาม ซึ่งมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
คำว่า ปัญญา ในทางพุทธ นั้น หมายถึง วิปัสสนาเท่านั้น! โดยที่ วิปัสสนา นี้หมายถึง ความซาบซึ้งในหลักธรรมเรื่องอริยสัจกับปฏิจจสมุปบาท ที่ผู้นั้นค่อยๆ บ่มเพาะพัฒนาจนแจ่มกระจ่างมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านการเจริญภาวนาตามแนวทางวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งผู้นั้นสามารถเข้าถึงพุทธธรรมหรือมีดวงตาเห็นธรรมได้ ด้วยตัวของผู้นั้นเอง
การจะเข้าถึง อริยสัจ ได้นั้น จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ให้ได้เสียก่อน โดยที่หัวใจในการเข้าถึง ปฏิจจสมุปบาท นั้น อยู่ที่การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของคำว่า วิญญาณ ในคำสอนของศาสนาพุทธ ที่สอนว่า วิญญาณ คือ ตัวรู้อารมณ์โดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ วิญญาณ ในศาสนาพุทธ จึงมี 6 อย่างได้แก่ จักษุวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตา) โสตวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยหู) ฆานวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยจมูก) ชิวหาวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้น) กายวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายสัมผัส) และ มโนวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจหรือความรู้สึกนึกคิด)
หลักของ ปฏิจจสมุปบาท คือ หลักที่ต้องการให้ผู้ภาวนาวิปัสสนากรรมฐานมีความเข้าใจว่า การที่คนเราจะมีความนึกคิดเช่นใดเกิดขึ้น ก็เพราะจะต้องเคยได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รับรส ได้สัมผัสอะไรมาก่อน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มโนวิญญาณ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยวิญญาณทั้ง 5 มาก่อน ความคิดทุกอย่างของคนเรา จึงมีเหตุมีที่มาทั้งสิ้น ว่า เพราะมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น จึงทำให้คิดได้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงควรที่จะมีความสามารถที่จะอ่านความคิดของตัวเองได้ทะลุปรุโปร่ง ดุจอ่านหมากในกระดานหมากล้อม ว่าทำไมตัวเองจึงคิดอย่างนี้ หรือทำไมตัวเองจึงคิดอย่างนั้นโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ อะไรบ้าง เนื่องเพราะ มีแต่ผู้ที่มีสติสมบูรณ์ สามารถ “อ่าน” ความคิดต่างๆ ของตนเองได้อย่างทะลุปรุโปร่งแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถ “รู้ทัน” ความคิดต่างๆ ของตน และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำจากความคิดต่างๆ เหล่านั้น อันเป็นที่มาแห่งทุกข์ได้
ด้วยเหตุนี้ หลักปฏิจจสมุปบาท จึงบอกว่า “เพราะวิญญาณมีอยู่ นามและรูปจึงได้มี อีกทั้งนามและรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย”
นาม ในที่นี้หมายถึง เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำได้) และสังขาร (ความปรุงแต่ง) ทั้งหลาย การที่คนเรามีความคิดต่างกัน ทางพุทธจึงอธิบายว่า ก็เป็นเพราะเวทนา สัญญา และสังขารทั้งหลายที่เป็น วิบากที่สั่งสม เอาไว้ในจิตใจของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
หลักปฏิจจสมุปบาทยังบอกอีกว่า อุปทาน หรือความคิดทั้งหลายที่ตกอยู่ในมายาคติเกิดขึ้นมาจาก ตัณหา หรือ “เพราะตัณหามีอยู่ อุปทานจึงได้มี อีกทั้งอุปทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย”
เหตุที่ทางพุทธเชื่อว่า คนเราเมื่อตายไปแล้ว วิญญาณ (ตัวรู้) ก็ต้องเกิดอีก นั้น เพราะตัณหาหรือความอยากในวิญญาณยังมีอยู่นั่นเอง ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นอยู่เสมอนั้น ล้วนมาจากตัณหาหรือความอยากที่ฝังอยู่ในกมลสันดานทั้งสิ้น การเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ (ตัวรู้) ในวัฏสงสาร จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริง ตราบเท่าที่ยังมีตัณหาอยู่ในวิญญาณนั้น ที่สำคัญทางพุทธยังสอนอีกว่า วิญญาณ (ตัวรู้) สามารถเกิดขึ้นได้โดยตัวของมันเอง โดยอาศัยเพียงตัณหา เพราะฉะนั้น แม้คนเราจะสิ้นใจไปแล้ว วิญญาณจะต้องเกิดอีก ตราบเท่าที่ตัณหาที่อยู่ในสันดานทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นในห้วงนึก ขณะที่คนเรากำลังจะสิ้นใจ
หลักปฏิจจสมุปบาท จึงบอกว่า “เพราะอุปทานมีอยู่ ภพจึงได้มี อีกทั้งภพมีเพราะอุปทานเป็นปัจจัย” ด้วยเหตุนี้ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นการปฏิบัติภาวนาตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ที่บอกว่า “เพราะวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงได้มี อีกทั้งนามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย” จะเห็นได้ว่าตราบใดที่วิญญาณยังมีกิเลส ตัณหา อุปทานอยู่ ตราบนั้นถึงวิญญาณจะดับไปแล้ว ก็ต้องเกิดอีกเสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อนามรูปเกิดขึ้นมาแล้ว นามรูปก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณสืบต่อไปอีก และแล้ววิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปสืบต่อไปอีกเช่นกัน ส่วนนามรูปก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ หมุนเวียนสืบต่อกันไปอย่างนี้โดยลำดับไม่ขาดสาย ตราบใดที่กิเลสและวิบากของกรรมยังคงมีอยู่ในวิญญาณ (ตัวรู้) ตราบนั้น การสืบต่อของวิญญาณและนามรูปก็จะต้องมีอยู่เช่นนี้ตลอดไป ไม่มีทางสิ้นสุดลงได้ แม้ว่าโลกจะสิ้นไปแล้วก็ตาม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดเลยที่ การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือการตรัสรู้ในเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่เอง เพราะพระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งในหลักปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้งว่า ตัณหาในวิญญาณเป็นที่มาของการเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ และเป็นที่มาของการเกิดนามรูปไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสามารถค้นพบ หลักวิปัสสนากรรมฐาน ในฐานะที่เป็นหนทางในการ “ตัด” กลไกของปฏิจจสมุปบาทอันเป็นกลไกการเกิดทุกข์ และเข้าถึงการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงครบถ้วนทุกกระบวนการได้
เพราะในการเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน นั้นเป็นกระบวนการที่ผู้นั้นใช้สติพิจารณารูปนามในกายตนในใจตน ตามความเป็นจริงจนกระทั่งเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาว่า สิ่งต่างๆ ที่ตัวเองเคยคิดเคยนึกว่ามีความหมายนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่มีความหมายอะไรเลย พอเห็นแจ้งได้ดังนี้แล้ว ความนึกคิดในใจทั้งหลายของผู้นั้นก็จะหยุดลง ใจของผู้นั้นจะว่างขึ้นโดยลำดับ ไม่เกาะเกี่ยว ไม่ติดอยู่ในสิ่งใด ผู้นั้นจะรู้แจ้งขึ้นมาเองว่า ถ้าหากตัณหาอุปทานไม่มี วิญญาณก็จะไม่มี แต่ถ้าหากตัณหาอุปทานยังมีอยู่ วิญญาณก็จะเกิดขึ้น และเมื่อวิญญาณเกิดขึ้นอีก นามรูปก็จะต้องมีอีกหมุนเวียนไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทไม่ขาดสาย เนื่องเพราะ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เป็นปรากฏการณ์ของวิญญาณ (ตัวรู้) มิใช่ปรากฏการณ์ของร่างกาย หรือของสมองและระบบประสาทอย่างที่พวกนักวัตถุนิยมเข้าใจผิดกัน
คนเราเกิดมาตามธรรมชาติก็จริง แต่ธรรมชาติที่ว่านี้ในทางพุทธก็คือ วิญญาณ (ตัวรู้) นั่นเอง วิญญาณ (ตัวรู้) นี้แหละที่เป็นรากฐานของสรรพสิ่งทั้งปวง โลกหรือจักรวาฬ (Kosmos) นี้ก็หมุนไปตาม จิต และวิวัฒนาการไปตาม จิต โดยที่ จิตก็คือวิญญาณ และวิญญาณก็คือจิต และเพราะ จิตหรือวิญญาณวิวัฒนาการได้ ชีวิตและจักรวาฬก็ย่อมวิวัฒนาการได้ นี่คือ ความจริงในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานพึงหมั่นพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้เข้าถึงความหมายของความจริงแห่งคำสอนนี้ได้อย่างลึกซึ้ง
***
เคล็ดลับและอุบายวิธีของ คุรุ ของ “เขา” ในการเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะในการฝึก “ดูจิต” เพื่อให้เห็นแจ้งในสภาวะแห่งการรับรู้ของจิต อันเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยนั้น คุรุ ของ “เขา” ท่านให้ลูกศิษย์ของท่านศึกษาเรียนรู้สภาพจิต 10 ประการที่ท่านเรียกว่า “อาการของจิต 10 อย่าง” เสียก่อน ซึ่งได้แก่
(1) คิดเป็น จิต
(2) น้อมไปในอารมณ์ที่คิดเรียกว่า มโน
(3) เก็บอารมณ์นั้นไว้ เรียกว่า หทัย
(4) พอใจเรียกว่า มนัส
(5) แช่มชื่นเบิกบานเรียกว่า ปัณฑระ
(6) สืบต่อในอารมณ์นั้นเรียกว่า มนายตนะ
(7) เป็นใหญ่ในอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า มนินทรีย์
(8) รับรู้อารมณ์เรียกว่า วิญญาณ
(9) รู้เป็นเรื่องๆ อย่างๆ เรียกว่า วิญญาณขันธ์
(10) รู้แจ้งในอารมณ์นั้นเรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ หรือ สาธุจิต อันเป็นจิตมหากุศล เป็นจิตที่เปี่ยมไปด้วยปัญญาล้วนๆ
อาการจิต 10 อย่างข้างต้นนี้ คุรุ บอกว่า คือ ภูมิวิปัสสนาญาณ หรือ ภูมิของวิปัสสนา ซึ่งท่านยืนยันว่า เป็นภูมิที่เป็นหัวใจของวิปัสสนา และของฌานสมาบัติของปัญญา ของสติ ของความรู้ทั้งปวง ทั้งส่วนโลกียะ โลกุตตระ ทั้งส่วนกุศล อกุศล และอัพยากฤต (จิตที่เป็นกลาง)
เพราะฉะนั้น การรู้จิตเบื้องต้นคือ การรู้จักและรู้ทันจิต 10 อาการข้างต้นนี้นั่นเองว่า มันเกิดอาการนี้เมื่อใด ด้วยเหตุปัจจัยอะไร การฝึกดูจิตในจิตเบื้องต้น คือการฝึกดูอาการจิต 10 นี้ โดยเฉพาะเฝ้าดู “ตัวคิด” ตัวเดียวก่อน อุบายวิธีในการฝึกดู “ตัวคิด” ของ คุรุ ก็คือ ให้ผู้นั้นเขียนตารางอาการจิต 10 ใส่แผ่นกระดาษ เมื่อใดที่ “คิด” ให้ขีด 1 ขีดในช่อง “จิต” เมื่อใดที่ “น้อมไปในทางความคิด” ให้ขีดในช่อง “มโน” เมื่อใดที่ “เก็บอารมณ์นั้นไว้” ให้ขีดในช่อง “หทัย” คือให้ขีดทุกครั้งที่ผู้นั้นเห็นอาการจิตตามลักษณะอาการจิต 10 อย่าง ดังข้างต้นอย่างจริงจังและจดจ่อ อุบายวิธีในการฝึก “ดูจิต” ด้วยการขีดนี้ มีอยู่ใน ศาสนาพุทธฝ่ายวัชรยานสายยิงมา อันเป็นสายที่เก่าแก่ที่สุดในพุทธศาสนาแบบทิเบต แต่ในประเทศไทยนี้ ดูเหมือน คุรุ ของ “เขา” จะเป็นคนแรกที่สอนอุบายวิธีแบบนี้ในการเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน
คุรุ ของเขาบอกว่า วิธีการฝึกดูจิต ด้วยการขีดนี้เป็นวิธีเพิ่ม “ตัวรู้” ได้ดีที่สุด มันเป็นวิธีการฝึกสติและสัมปชัญญะได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดที่ตัว คุรุ เองก็ได้ ใช้วิธีนี้ในการฝึกจิตของท่านให้มีปัญญารับรู้สภาพตามความเป็นจริง เพราะนี่เป็นพื้นฐานของการฝึกเป็นผู้แจ้งในอารมณ์เพื่อที่จะสลัดให้หลุดออกจากการยึดติดของอารมณ์ทั้งปวง
คุรุ สอนว่า การรู้เรื่องจิต คือ การรู้ขบวนการเกิดจิต รู้หน้าที่จิต รู้อาการจิต รู้ลักษณะจิต รู้เครื่องปรุงจิต รู้ลักษณะของจิตก่อนปรุงและหลังปรุง รวมทั้งรู้สิ่งที่เข้ามาครอบงำจิต เพราะฉะนั้นการฝึกดูจิต จึงไม่จำเป็นต้องหลับตา ผู้นั้นสามารถลืมตาแล้วส่งความรู้สึกเข้าไปในกายของตน เข้าไปจับที่โครงกระดูกของตนแล้วไปรับรู้สภาพที่ปรากฏภายในทุกสภาพการณ์ โดยให้ผู้นั้นเฝ้าดูจิต ดูแล้วขีด รู้แล้วขีด เข้าใจแล้วขีด รู้ชัดเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยให้รู้ชัดจนกระทั่งเกิด นิพพิทาญาณ หรือญาณหยั่งรู้ที่เป็นความเบื่อหน่ายคลายความยึดติด
คุรุ ยังบอกอีกว่า การรู้เรื่อง “อาการจิต 10 อย่าง” นี้เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ มรรคจิต หรือ หนทางสู่วิชชา 8 ของพระพุทธเจ้า ที่เริ่มต้นจากวิปัสสนาญาณที่หมายถึง ญาณหยั่งรู้ชัดตามความเป็นจริง (ยังมีต่อ)
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นกรรมฐานเพื่อให้เกิดปัญญารู้เห็นรูปนาม หรือ กายใจ ของตนได้ตรงตามความเป็นจริงว่า ตัวเราไม่มี ตัวตนก็ไม่มี มีแต่ รูป กับ นาม ซึ่งมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
คำว่า ปัญญา ในทางพุทธ นั้น หมายถึง วิปัสสนาเท่านั้น! โดยที่ วิปัสสนา นี้หมายถึง ความซาบซึ้งในหลักธรรมเรื่องอริยสัจกับปฏิจจสมุปบาท ที่ผู้นั้นค่อยๆ บ่มเพาะพัฒนาจนแจ่มกระจ่างมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านการเจริญภาวนาตามแนวทางวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งผู้นั้นสามารถเข้าถึงพุทธธรรมหรือมีดวงตาเห็นธรรมได้ ด้วยตัวของผู้นั้นเอง
การจะเข้าถึง อริยสัจ ได้นั้น จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ให้ได้เสียก่อน โดยที่หัวใจในการเข้าถึง ปฏิจจสมุปบาท นั้น อยู่ที่การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของคำว่า วิญญาณ ในคำสอนของศาสนาพุทธ ที่สอนว่า วิญญาณ คือ ตัวรู้อารมณ์โดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ วิญญาณ ในศาสนาพุทธ จึงมี 6 อย่างได้แก่ จักษุวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตา) โสตวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยหู) ฆานวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยจมูก) ชิวหาวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้น) กายวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายสัมผัส) และ มโนวิญญาณ (แปลว่า วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจหรือความรู้สึกนึกคิด)
หลักของ ปฏิจจสมุปบาท คือ หลักที่ต้องการให้ผู้ภาวนาวิปัสสนากรรมฐานมีความเข้าใจว่า การที่คนเราจะมีความนึกคิดเช่นใดเกิดขึ้น ก็เพราะจะต้องเคยได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รับรส ได้สัมผัสอะไรมาก่อน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มโนวิญญาณ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยวิญญาณทั้ง 5 มาก่อน ความคิดทุกอย่างของคนเรา จึงมีเหตุมีที่มาทั้งสิ้น ว่า เพราะมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น จึงทำให้คิดได้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงควรที่จะมีความสามารถที่จะอ่านความคิดของตัวเองได้ทะลุปรุโปร่ง ดุจอ่านหมากในกระดานหมากล้อม ว่าทำไมตัวเองจึงคิดอย่างนี้ หรือทำไมตัวเองจึงคิดอย่างนั้นโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ อะไรบ้าง เนื่องเพราะ มีแต่ผู้ที่มีสติสมบูรณ์ สามารถ “อ่าน” ความคิดต่างๆ ของตนเองได้อย่างทะลุปรุโปร่งแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถ “รู้ทัน” ความคิดต่างๆ ของตน และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำจากความคิดต่างๆ เหล่านั้น อันเป็นที่มาแห่งทุกข์ได้
ด้วยเหตุนี้ หลักปฏิจจสมุปบาท จึงบอกว่า “เพราะวิญญาณมีอยู่ นามและรูปจึงได้มี อีกทั้งนามและรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย”
นาม ในที่นี้หมายถึง เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำได้) และสังขาร (ความปรุงแต่ง) ทั้งหลาย การที่คนเรามีความคิดต่างกัน ทางพุทธจึงอธิบายว่า ก็เป็นเพราะเวทนา สัญญา และสังขารทั้งหลายที่เป็น วิบากที่สั่งสม เอาไว้ในจิตใจของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
หลักปฏิจจสมุปบาทยังบอกอีกว่า อุปทาน หรือความคิดทั้งหลายที่ตกอยู่ในมายาคติเกิดขึ้นมาจาก ตัณหา หรือ “เพราะตัณหามีอยู่ อุปทานจึงได้มี อีกทั้งอุปทานมีเพราะตัณหาเป็นปัจจัย”
เหตุที่ทางพุทธเชื่อว่า คนเราเมื่อตายไปแล้ว วิญญาณ (ตัวรู้) ก็ต้องเกิดอีก นั้น เพราะตัณหาหรือความอยากในวิญญาณยังมีอยู่นั่นเอง ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นอยู่เสมอนั้น ล้วนมาจากตัณหาหรือความอยากที่ฝังอยู่ในกมลสันดานทั้งสิ้น การเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ (ตัวรู้) ในวัฏสงสาร จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริง ตราบเท่าที่ยังมีตัณหาอยู่ในวิญญาณนั้น ที่สำคัญทางพุทธยังสอนอีกว่า วิญญาณ (ตัวรู้) สามารถเกิดขึ้นได้โดยตัวของมันเอง โดยอาศัยเพียงตัณหา เพราะฉะนั้น แม้คนเราจะสิ้นใจไปแล้ว วิญญาณจะต้องเกิดอีก ตราบเท่าที่ตัณหาที่อยู่ในสันดานทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นในห้วงนึก ขณะที่คนเรากำลังจะสิ้นใจ
หลักปฏิจจสมุปบาท จึงบอกว่า “เพราะอุปทานมีอยู่ ภพจึงได้มี อีกทั้งภพมีเพราะอุปทานเป็นปัจจัย” ด้วยเหตุนี้ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นการปฏิบัติภาวนาตามหลักของปฏิจจสมุปบาท ที่บอกว่า “เพราะวิญญาณมีอยู่ นามรูปจึงได้มี อีกทั้งนามรูปมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย” จะเห็นได้ว่าตราบใดที่วิญญาณยังมีกิเลส ตัณหา อุปทานอยู่ ตราบนั้นถึงวิญญาณจะดับไปแล้ว ก็ต้องเกิดอีกเสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อนามรูปเกิดขึ้นมาแล้ว นามรูปก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณสืบต่อไปอีก และแล้ววิญญาณก็เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปสืบต่อไปอีกเช่นกัน ส่วนนามรูปก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ หมุนเวียนสืบต่อกันไปอย่างนี้โดยลำดับไม่ขาดสาย ตราบใดที่กิเลสและวิบากของกรรมยังคงมีอยู่ในวิญญาณ (ตัวรู้) ตราบนั้น การสืบต่อของวิญญาณและนามรูปก็จะต้องมีอยู่เช่นนี้ตลอดไป ไม่มีทางสิ้นสุดลงได้ แม้ว่าโลกจะสิ้นไปแล้วก็ตาม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดเลยที่ การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือการตรัสรู้ในเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่เอง เพราะพระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งในหลักปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้งว่า ตัณหาในวิญญาณเป็นที่มาของการเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ และเป็นที่มาของการเกิดนามรูปไม่รู้จักจบสิ้น ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสามารถค้นพบ หลักวิปัสสนากรรมฐาน ในฐานะที่เป็นหนทางในการ “ตัด” กลไกของปฏิจจสมุปบาทอันเป็นกลไกการเกิดทุกข์ และเข้าถึงการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงครบถ้วนทุกกระบวนการได้
เพราะในการเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน นั้นเป็นกระบวนการที่ผู้นั้นใช้สติพิจารณารูปนามในกายตนในใจตน ตามความเป็นจริงจนกระทั่งเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาว่า สิ่งต่างๆ ที่ตัวเองเคยคิดเคยนึกว่ามีความหมายนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่มีความหมายอะไรเลย พอเห็นแจ้งได้ดังนี้แล้ว ความนึกคิดในใจทั้งหลายของผู้นั้นก็จะหยุดลง ใจของผู้นั้นจะว่างขึ้นโดยลำดับ ไม่เกาะเกี่ยว ไม่ติดอยู่ในสิ่งใด ผู้นั้นจะรู้แจ้งขึ้นมาเองว่า ถ้าหากตัณหาอุปทานไม่มี วิญญาณก็จะไม่มี แต่ถ้าหากตัณหาอุปทานยังมีอยู่ วิญญาณก็จะเกิดขึ้น และเมื่อวิญญาณเกิดขึ้นอีก นามรูปก็จะต้องมีอีกหมุนเวียนไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทไม่ขาดสาย เนื่องเพราะ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เป็นปรากฏการณ์ของวิญญาณ (ตัวรู้) มิใช่ปรากฏการณ์ของร่างกาย หรือของสมองและระบบประสาทอย่างที่พวกนักวัตถุนิยมเข้าใจผิดกัน
คนเราเกิดมาตามธรรมชาติก็จริง แต่ธรรมชาติที่ว่านี้ในทางพุทธก็คือ วิญญาณ (ตัวรู้) นั่นเอง วิญญาณ (ตัวรู้) นี้แหละที่เป็นรากฐานของสรรพสิ่งทั้งปวง โลกหรือจักรวาฬ (Kosmos) นี้ก็หมุนไปตาม จิต และวิวัฒนาการไปตาม จิต โดยที่ จิตก็คือวิญญาณ และวิญญาณก็คือจิต และเพราะ จิตหรือวิญญาณวิวัฒนาการได้ ชีวิตและจักรวาฬก็ย่อมวิวัฒนาการได้ นี่คือ ความจริงในคำสอนของพระพุทธองค์ที่ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานพึงหมั่นพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้เข้าถึงความหมายของความจริงแห่งคำสอนนี้ได้อย่างลึกซึ้ง
***
เคล็ดลับและอุบายวิธีของ คุรุ ของ “เขา” ในการเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะในการฝึก “ดูจิต” เพื่อให้เห็นแจ้งในสภาวะแห่งการรับรู้ของจิต อันเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยนั้น คุรุ ของ “เขา” ท่านให้ลูกศิษย์ของท่านศึกษาเรียนรู้สภาพจิต 10 ประการที่ท่านเรียกว่า “อาการของจิต 10 อย่าง” เสียก่อน ซึ่งได้แก่
(1) คิดเป็น จิต
(2) น้อมไปในอารมณ์ที่คิดเรียกว่า มโน
(3) เก็บอารมณ์นั้นไว้ เรียกว่า หทัย
(4) พอใจเรียกว่า มนัส
(5) แช่มชื่นเบิกบานเรียกว่า ปัณฑระ
(6) สืบต่อในอารมณ์นั้นเรียกว่า มนายตนะ
(7) เป็นใหญ่ในอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า มนินทรีย์
(8) รับรู้อารมณ์เรียกว่า วิญญาณ
(9) รู้เป็นเรื่องๆ อย่างๆ เรียกว่า วิญญาณขันธ์
(10) รู้แจ้งในอารมณ์นั้นเรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ หรือ สาธุจิต อันเป็นจิตมหากุศล เป็นจิตที่เปี่ยมไปด้วยปัญญาล้วนๆ
อาการจิต 10 อย่างข้างต้นนี้ คุรุ บอกว่า คือ ภูมิวิปัสสนาญาณ หรือ ภูมิของวิปัสสนา ซึ่งท่านยืนยันว่า เป็นภูมิที่เป็นหัวใจของวิปัสสนา และของฌานสมาบัติของปัญญา ของสติ ของความรู้ทั้งปวง ทั้งส่วนโลกียะ โลกุตตระ ทั้งส่วนกุศล อกุศล และอัพยากฤต (จิตที่เป็นกลาง)
เพราะฉะนั้น การรู้จิตเบื้องต้นคือ การรู้จักและรู้ทันจิต 10 อาการข้างต้นนี้นั่นเองว่า มันเกิดอาการนี้เมื่อใด ด้วยเหตุปัจจัยอะไร การฝึกดูจิตในจิตเบื้องต้น คือการฝึกดูอาการจิต 10 นี้ โดยเฉพาะเฝ้าดู “ตัวคิด” ตัวเดียวก่อน อุบายวิธีในการฝึกดู “ตัวคิด” ของ คุรุ ก็คือ ให้ผู้นั้นเขียนตารางอาการจิต 10 ใส่แผ่นกระดาษ เมื่อใดที่ “คิด” ให้ขีด 1 ขีดในช่อง “จิต” เมื่อใดที่ “น้อมไปในทางความคิด” ให้ขีดในช่อง “มโน” เมื่อใดที่ “เก็บอารมณ์นั้นไว้” ให้ขีดในช่อง “หทัย” คือให้ขีดทุกครั้งที่ผู้นั้นเห็นอาการจิตตามลักษณะอาการจิต 10 อย่าง ดังข้างต้นอย่างจริงจังและจดจ่อ อุบายวิธีในการฝึก “ดูจิต” ด้วยการขีดนี้ มีอยู่ใน ศาสนาพุทธฝ่ายวัชรยานสายยิงมา อันเป็นสายที่เก่าแก่ที่สุดในพุทธศาสนาแบบทิเบต แต่ในประเทศไทยนี้ ดูเหมือน คุรุ ของ “เขา” จะเป็นคนแรกที่สอนอุบายวิธีแบบนี้ในการเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน
คุรุ ของเขาบอกว่า วิธีการฝึกดูจิต ด้วยการขีดนี้เป็นวิธีเพิ่ม “ตัวรู้” ได้ดีที่สุด มันเป็นวิธีการฝึกสติและสัมปชัญญะได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดที่ตัว คุรุ เองก็ได้ ใช้วิธีนี้ในการฝึกจิตของท่านให้มีปัญญารับรู้สภาพตามความเป็นจริง เพราะนี่เป็นพื้นฐานของการฝึกเป็นผู้แจ้งในอารมณ์เพื่อที่จะสลัดให้หลุดออกจากการยึดติดของอารมณ์ทั้งปวง
คุรุ สอนว่า การรู้เรื่องจิต คือ การรู้ขบวนการเกิดจิต รู้หน้าที่จิต รู้อาการจิต รู้ลักษณะจิต รู้เครื่องปรุงจิต รู้ลักษณะของจิตก่อนปรุงและหลังปรุง รวมทั้งรู้สิ่งที่เข้ามาครอบงำจิต เพราะฉะนั้นการฝึกดูจิต จึงไม่จำเป็นต้องหลับตา ผู้นั้นสามารถลืมตาแล้วส่งความรู้สึกเข้าไปในกายของตน เข้าไปจับที่โครงกระดูกของตนแล้วไปรับรู้สภาพที่ปรากฏภายในทุกสภาพการณ์ โดยให้ผู้นั้นเฝ้าดูจิต ดูแล้วขีด รู้แล้วขีด เข้าใจแล้วขีด รู้ชัดเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยให้รู้ชัดจนกระทั่งเกิด นิพพิทาญาณ หรือญาณหยั่งรู้ที่เป็นความเบื่อหน่ายคลายความยึดติด
คุรุ ยังบอกอีกว่า การรู้เรื่อง “อาการจิต 10 อย่าง” นี้เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ มรรคจิต หรือ หนทางสู่วิชชา 8 ของพระพุทธเจ้า ที่เริ่มต้นจากวิปัสสนาญาณที่หมายถึง ญาณหยั่งรู้ชัดตามความเป็นจริง (ยังมีต่อ)