xs
xsm
sm
md
lg

ระทึกยุบ 3 พรรค!

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงการณ์ปิดคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณของทหารมหาดเล็กและทหารรักษาพระองค์

แต่ดูเหมือนว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนยังสับสนอยู่เป็นอันมาก จึงควรทำความเข้าใจและติดตามจับตาดูเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง

ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าคดียุบ 3 พรรคนั้นไม่เหมือนกัน โดยมีความต่างกันบ้างคือ

ก. คดียุบพรรคพลังประชาชนเป็นคดีที่ กกต. ได้รับรองกรรมการบริหารพรรคท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อให้เป็น ส.ส. ไปก่อน ต่อมาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วพบว่ามีการทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง จึงยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้เพิกถอนฐานะ ส.ส. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ไต่สวนแล้ว พิพากษาว่ากรรมการบริหารพรรคดังกล่าวทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจริง จึงเพิกถอนการรับรองและให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

กกต.จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพลังประชาชน

ข. คดียุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยเป็นเรื่องอย่างเดียวกันคือ กกต.ตรวจสอบพบว่ากรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จึงสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยกรรมการบริหารพรรคที่กระทำความผิดไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง

หลังจากนั้น กกต.ก็ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคชาติไทยและพรรคพลังประชาชน

ผลทางกฎหมายเบื้องต้นของคดียุบพรรคดังกล่าวมีดังนี้

หนึ่งสำหรับพรรคพลังประชาชน มีพยานหลักฐานจากการตรวจสอบไต่สวนของ กกต.ซึ่งทุกฝ่ายได้นำพยานหลักฐานเข้าชี้แจงพิสูจน์อย่างเต็มที่มาก่อนแล้วอย่างหนึ่ง และมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นบรรทัดฐานเป็นที่สิ้นสุด และผูกพันผู้เกี่ยวข้องอีกอย่างหนึ่ง

สองสำหรับพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย มีพยานหลักฐานจากการตรวจสอบไต่สวนของ กกต. ซึ่งทุกฝ่ายได้นำพยานหลักฐานเข้าชี้แจงพิสูจน์อย่างเต็มที่มาก่อนแล้ว และการชี้ขาดของ กกต.นั้นเป็นที่สุด ไม่สามารถฟ้องศาลให้เพิกถอนใดๆ ได้

ด้วยเหตุดังกล่าวพยานหลักฐานที่ได้พิสูจน์ไต่สวนมาเป็นที่ยุติแล้ว ในชั้น กกต.จึงเป็นอย่างเดียวกันทั้ง 3 พรรค ยกเว้นก็แต่พรรคพลังประชาชนที่ยังมีพยานหลักฐานในศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และคำพิพากษาอันถึงที่สุดผูกมัดอยู่อีกชั้นหนึ่ง

อัยการสูงสุดได้ยื่นเรื่องขอยุบพรรคทั้ง 3 พรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามขั้นตอนกฎหมาย คือให้ผู้ถูกฟ้องยื่นแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งทั้ง 3 พรรคก็ได้ยื่นแก้ข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ได้นัดพร้อมคดีทั้ง 3 ในวันเดียวกันคือวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 เพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี เพราะเป็นคดีที่มีปัญหาข้อพิพาทอย่างเดียวกัน ถึงวันนัดคู่ความทุกฝ่ายได้ไปพร้อมกันที่ศาลตามกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัย 3 ประเด็นหรือ 3 เรื่องเหมือนกันทั้ง 3 คดีคือ

1. มีการทุจริตในการเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

2. มีเหตุต้องยุบพรรคหรือไม่

3. จะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคหรือไม่


เมื่อได้กำหนดประเด็นพิพาทตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้คู่ความทุกฝ่ายยื่นบัญชีพยานและส่งพยานหลักฐานต่อศาลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาปกติ

ครั้นคู่ความทุกฝ่ายได้ยื่นบัญชีพยานและส่งพยานหลักฐานเสร็จเรียบร้อย ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานที่ได้ยื่นต่อศาลเพียงพอ คดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานอีกต่อไป จึงมีคำสั่งงดสืบพยาน และกำหนดให้คู่ความทุกฝ่ายแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธันวาคม 2551

ในวันดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญอาจออกนั่งบัลลังก์ฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของคู่ความทุกฝ่าย จากนั้นก็จะเป็นกระบวนพิจารณาของศาลโดยเฉพาะคือการประชุมวินิจฉัยคดี ซึ่งอาจจะประชุมปรึกษาในวันเดียวกันนั้นหรือในวันอื่นก็ได้ และคาดหมายว่าน่าจะมีคำวินิจฉัยคดียุบทั้ง 3 พรรคในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าเป็นอย่างช้า

ดังนั้นในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ซึ่งสื่อมวลชนรายงานข่าวว่าเป็นวันวินิจฉัยคดียุบพรรค จึงยังไม่ตรงกับความจริงนัก เพราะเป็นแค่วันนัดแถลงการณ์ปิดคดี แต่หลังจากฟังแถลงการณ์แล้วศาลอาจจะวินิจฉัยคดีในวันนั้นก็ได้หรือในวันอื่นก็ได้

ขณะนี้มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มของคดีดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดหมายกันไปต่างๆ นานา และส่วนใหญ่จะคาดหมายตรงกันว่าจะมีการยุบพรรค แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องก็ควรทำความเข้าใจแต่ละประเด็นพิพาทไปก่อน

ประเด็นแรกที่ว่ามีการทำผิดตามกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่นั้น มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์กันมาอย่างเต็มที่ก่อนหน้าแล้ว ทั้งคำวินิจฉัยของ กกต. ก็ดีและของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งก็ดี ย่อมเป็นที่สุดสำหรับแต่ละสถาบัน แต่น่าจะมีผลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เพราะเป็นปัญหาในทางข้อเท็จจริง ทั้งได้มีการปฏิบัติเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งไปแล้ว คือการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่และกรรมการบริหารพรรคที่ทำผิดต่างก็พ้นฐานะ ส.ส. หรือถูกแจกใบแดงไปแล้ว กรณีจึงน่าจะฟังได้ว่ามีการทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง โดยผู้มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคจริงตามข้อกล่าวหา

ประเด็นที่สองที่ว่ามีเหตุต้องยุบพรรคหรือไม่นั้น เป็นปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งมีหลักกฎหมายว่าถ้าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคทุจริตในการเลือกตั้ง ก็ให้ศาลมีอำนาจยุบพรรคการเมืองนั้น เป็นบทบัญญัติในทางบังคับเด็ดขาด ไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ คือถ้าเป็นหัวหน้าพรรคก็ดี หรือกรรมการบริหารพรรคก็ดี ทุจริตในการเลือกตั้งก็ต้องยุบพรรคสถานเดียว

ในประเด็นเช่นนี้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วในคดียุบพรรคไทยรักไทยว่าต้องยุบพรรค ซึ่งมีผลผูกมัดองค์กรทั้งปวง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงน่าที่จะถูกผูกมัดโดยรัฐธรรมนูญและบรรทัดฐานแห่งการวินิจฉัยดังกล่าวที่ไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากการยุบพรรค

ประเด็นที่สามที่ว่าจะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ในประเด็นนี้อัยการสูงสุดได้แถลงต่อศาลในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคที่ถูกร้องให้ยุบว่าไม่ปรากฏหลักฐานในสำนวนว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคได้รู้เห็นเป็นใจหรือละเลยให้มีการทุจริตในการเลือกตั้ง

เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนในวงการกฎหมายพากันงงเป็นไก่ตาแตก ว่าทำไมอยู่ดีๆ ฝ่ายผู้กล่าวหาจึงไปแถลงเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงอันเป็นยุติแล้วปรากฏว่าผู้กระทำความผิดคือกรรมการบริหารพรรค จะไปแถลงว่ากรรมการบริหารไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือละเลยให้มีการทุจริตเลือกตั้งได้อย่างไร

ข้อเท็จจริงจึงน่าจะเป็นยุติดังกล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า การกระทำความผิดในคดียุบพรรคทั้ง 3 พรรคนี้ ผู้กระทำผิดคือผู้มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารโดยตรง

จึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าในกรณีหัวหน้าพรรคก็ดี หรือกรรมการบริหารพรรคก็ดี ทำผิดทุจริตในการเลือกตั้ง และศาลมีคำสั่งยุบพรรค ก็ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี

ในประการนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานในคดียุบพรรคไทยรักไทยว่าเมื่อหัวหน้าพรรคกระทำความผิดในการเลือกตั้ง และต้องยุบพรรคการเมือง ก็ต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดด้วย หากกรรมการบริหารพรรคได้รับความเสียหายก็ต้องไปว่ากล่าวเอากับหัวหน้าพรรคผู้กระทำความผิดเอง

เมื่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้เช่นนี้แล้ว จึงย่อมผูกมัดองค์กรทั้งปวง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ผู้กระทำความผิดมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคหรือไม่เท่านั้น หากมีตำแหน่งดังกล่าวและศาลมีคำสั่งยุบพรรค ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดด้วย

และถ้าหากศาลวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ก็จะมีผลให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งขาดคุณสมบัติ และต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งจะรักษาการต่อไปไม่ได้ด้วย

ดังนั้นจึงต้องติดตามจับตาคดียุบ 3 พรรคการเมืองด้วยความระทึกใจยิ่ง!
กำลังโหลดความคิดเห็น