xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจโลกยิ่งส่อเค้ามืดมน เฟดชี้USอาจถดถอยยาวนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ – เศรษฐกิจทั่วโลกส่อเค้าอาการลำบากสาหัสหนักขึ้นอีกเมื่อวานนี้(20) ภายหลังสหรัฐฯแถลงตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดและความอ่อนแอกำลังเพิ่มมากขึ้น แถม “เฟด” ยังออกปากถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการถดถอยยาวนาน ขณะที่ทางฟากญี่ปุ่นก็ระบุว่า การส่งออกสู่เอเชียกำลังทรุดเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี และการปลดพนักงานก็กำลังมากขึ้น

เมื่อวันพุธ(19) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯรายงานว่า ราคาผู้บริโภคของอเมริกาดิ่งลงไป 1% ในเดือนตุลาคม อันเป็นการลดลงต่อเดือนที่มากที่สุดตั้งแต่ทางกระทรวงเริ่มรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 1947

ส่วนกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯก็ระบุว่า ที่อยู่อาศัยใหม่ก็ลดจำนวนลงมา 4.5% เมื่อเทียบกับปีต่อปีหรืออยู่ที่เท่ากับ 791,000 หน่วยเท่านั้น นับเป็นอัตราเพิ่มที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มรายงานมาในปี 1959

รายงานทั้งสองนั้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังอ่อนแอลงมากกว่าที่ได้คาดไว้เดิม ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆของประเทศในไตรมาสที่สี่และหลังจากนี้ลดน้อยลงอย่างมาก

“อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หดตัวพร้อมทั้งเงินเฟ้อที่ดิ่งลงด้วย ทำให้เริ่มมีเสียงพูดหนาหูถึงภาวะเงินฝืด” เจนนิเฟอร์ ลี จากบีเอ็มโอ แคปปิตอล มาร์เก็ตส์กล่าว “และคาดว่าภาพรวมในไตรมาสที่ปีนี้จะอัปลักษณ์ยิ่ง”

ในขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ก็ลดประมาณการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้าลง ซึ่งตอกย้ำความเป็นไปได้ที่ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะถดถอยรุนแรง ในขณะที่แง้มประตูสำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเอาไว้
คำทำนายล่าสุดของเฟดคราวนี้ระบุว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโตในอัตราระหว่างบวก 1.1% ไปจนถึงติดลบ 0.2% เทียบกับคาดการเมื่อเดือนตุลาคมที่บอกว่าเศรษฐกิจปี 2009 จะขยายตัวในราว 2.0 ถึง 2.8%

ส่วนสำนักอื่น ๆ นั้น ต่างคาดหมายกันแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯปีหน้าจะดิ่งลงแน่นอน โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟที่คาดว่าจะหดตัวถึง 0.7% เลยทีเดียว

จากประมาณการเบื้องต้น ช่วงไตรมาสสามของปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัว 0.3% และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไตรมาสสี่จะย่ำแย่กว่านี้อีก

“ภาวะชะลอตัวรุนแรงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2007 จะสาหัสขึ้นไปอีก” จอห์น รายดิง จากอาร์ดีคิว อีโคโนมิกส์กล่าว

“ตัวเลขการจ้างงาน การผลิต และการจับจ่ายใช้สอยดูเหมือนว่าจะดิ่งเหวในช่วงท้ายไตรมาสสามและต้นไตรมาสสี่”

ราคาผู้บริโภคเฉลี่ยเดือนตุลาคมลดลงอย่างมากเนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลงถึง 14% และค่าเชื้อเพลิงอื่น ๆก็ลดลงด้วย นอกจากนี้ราคาสินค้าอื่น ๆก็ลดลงอย่างมากในทุกประเภท รวมทั้งเสื้อผ้าและที่พักตากอากาศ มีเพียงอาหารเท่านั้นที่ยังคงเพิ่มขึ้น

นักวิเคราะห์ชี้ว่าตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกถึงการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงมาก อันเนื่องมาจากผู้บริโภคลดการใช้เงินลงในทุกประเภทสินค้า

แม้ว่าราคาผู้บริโภคที่ลดลงจะทำให้เกิดความโล่งใจในระดับหนึ่ง แต่นักวิเคราะห์ก็บอกว่าสภาพเงินฝืดอาจจะนำปัญหาใหญ่มาสู่เศรษฐกิจได้ เนื่องเพราะมันแสดงให้เห็นว่าตอนนี้บริษัทต่างพากันผลิตสินค้าเกินความต้องการ และกำลังมีสินค้าคงคลังอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจัดเป็นต้นทุนที่บริษัทต้องจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการเก็บสินค้าคงค้าง รวมทั้งไม่สามารถจะได้เม็ดเงินมาหล่อเลี้ยงการดำเนินงานต่อ ๆไป และการจับจ่ายใช้สอยที่อ่อนตัวลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะสหรัฐฯนั้นพึ่งการบริโภคภายในประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ
อย่างไรก็ตามผู้บริหารระดับสูงของเฟดก็ออกมาบอกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดในสหรัฐนั้นเป็นไปได้น้อย แต่ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจอาจจะหดตัวต่อไปอีกราวครึ่งปี ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเหมือนกับที่ญี่ปุ่นและยุโรปกำลังเผชิญอยู่
“เรากำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอมาก” รองประธานเฟด โดนัลด์ โคห์น กล่าว “ผมคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบในอีกสองสามไตรมาสข้างหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็จะถดถอยลงไปด้วย แต่จะไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน”
ญี่ปุ่นเคยประสบกับภาวะเงินฝืดเสียจนเศรษฐกิจไม่เติบโตเอาเลยเป็นเวลาหลายปีในช่วงทศวรรษ 1990 และช่วงนั้นก็ถูกเรียกว่าเป็น “ทศวรรษที่สูญหายไป” ซึ่งโคห์นกล่าวว่าภาวะเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ “ผมคิดว่าแม้ว่าเราจะเห็นว่ามันเป็นไปได้ แต่เราก็จะต้องเดินหน้านโยบายการเงินอย่างสุดกำลังเท่าที่จะทำได้เพื่อมิให้เกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นกับสหรัฐ” โคห์นกล่าว
สำหรับภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเวลานี้ ปรากฏว่า ยอดส่งออกของญี่ปุ่นไปยังเอเชียในเดือนตุลาคม ได้ลดต่ำลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตสินเชื่อตึงตัวกำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าญี่ปุ่นจำนวนมาก อาทิ จีน
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นก็มีการประกาศปลดพนักงานเพิ่มขึ้น โดยวานนี้ อิซูซุ มอเตอร์ แจ้งว่าจะลดตำแหน่งงานในประเทศ 1,400 ตำแหน่ง และลดการผลิตในประเทศลงมา 10% จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ ส่วน มาสด้า ก็แจ้งว่าจะลดพนักงาน 1,300 ตำแหน่ง
เมื่อวันพุธ โตโยต้า มอเตอร์ แถลงว่าจะหยุดการผลิตในโรงงานทั้งหมดของตนที่อยู่ในสหรัฐฯและแคนาดาเพิ่มขึ้นอีก 2 วันในเดือนหน้า เนื่องจากยอดขายไม่ดี ขณะที่นิสสัน มอเตอร์ ได้ตัดสินใจลดการผลิตและลดตำแหน่งงานทั่วโลก 3,500 ตำแหน่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น