xs
xsm
sm
md
lg

“แดวู”ขอใช้ที่ดินฟรีขนาดครึ่งปท.เบลเยียม เพื่อปลูกข้าวโพด-ปาล์มน้ำมันส่งเกาหลีใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียลไทมส์ – บริษัทแดวู โลจิสติกส์ แห่งเกาหลีใต้ ทำข้อตกลงกับประเทศมาดากัสการ์ เพื่อขอปลูกข้าวโพดและปาล์มน้ำมันบนที่ดินผืนใหญ่ขนาดเท่ากับราวครึ่งหนึ่งของเบลเยียม แล้วนำผลผลิตกลับไปใช้ในแดนโสมขาวตลอดจนส่งออก โดยที่ทางบริษัทอาจจะไม่ต้องจ่ายเงินค่าใช้ที่ดินใดๆ ความเคลื่อนไหวคราวนี้ซึ่งน่าจะเป็นการทำดีลประเภทนี้ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้หลายๆ ฝ่ายแสดงความวิตกกังวล
มาดากัสการ์ที่มีลักษณะเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดียจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนครั้งนี้ เพียงแค่จากการที่บริษัทจะจ้างแรงงานคนท้องถิ่นเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่หลายรายของแดวู โลจิสติกส์บอกว่า ตามความตกลงที่ทำกับรัฐบาลมาดากัสการ์นั้น แดวูจะได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินรวมทั้งสิ้น 1.3 ล้านเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์เท่ากับ 6.25 ไร่ ดังนั้น 1.3 ล้านเฮกตาร์จึงเท่ากับ 8.125 ล้านไร่) เป็นเวลา 99 ปี และการลงทุนครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อประกันความมั่นคงทางอาหารของเกาหลีใต้
“เราต้องการที่จะปลูกข้าวโพดที่นั่นเพื่อประกันความมั่นคงทางอาหารของเรา เพราะในโลกขณะนี้ อาหารสามารถใช้เป็นอาวุธได้” ฮองจองวาน ผู้จัดการผู้หนึ่งของแดวูกล่าว “เราสามารถส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ รวมทั้งส่งกลับไปยังเกาหลีในกรณีที่เกิดวิกฤตอาหารขึ้น
แดวูระบุว่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลมาดากัสการ์เมื่อเดือนพฤษภาคมไว้ว่าจะเพาะปลูกพืชผลในพื้นที่การเกษตร 1.3 ล้านเฮกตาร์โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ดินใด ๆ และหลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ลงนามในสัญญากันเมื่อเดือนกรกฎาคมโดยเพิ่มเงื่อนไขเข้ามาว่าอาจจะต้องมีการหารือเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆกับมาดากัสการ์ แต่ทางแดวูก็เชื่อว่าบริษัทจะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินใด ๆทั้งสิ้น
“พื้นที่ดังกล่าวไม่เคยมีการพัฒนาหรือใช้ประโยชน์มาก่อนเลย และเราจะจ้างงานแรงงานท้องถิ่นในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับมาดากัสการ์” ฮองกล่าว พื้นที่ 1.3 ล้านเฮกตาร์เหล่านี้คิดเป็นครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่เหมาะกับการเพาะปลูกของประเทศแอฟริกาแห่งนี้ที่มีอยู่ทั้งสิ้นราว 2.5 ล้านเฮกตาร์
แม้จะมีความเป็นไปได้ที่ว่ามาดากัสการ์จะไม่ได้ค่าเช่า แต่ประเทศก็จะได้ประโยชน์จากการที่แดวูจะเข้าไปลงทุนสร้างถนน ระบบชลประทาน รวมทั้งโรงเก็บผลผลิตทางการเกษตรหลายแห่งด้วย
อย่างไรก็ตาม มีเสียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมา เป็นต้นว่า นักการทูตชาวยุโรปที่ประจำในแอฟริกาตอนใต้คาดว่ามาดากัสการ์จะได้รับประโยชน์โดยตรงน้อยมาก โดยที่ไม่น่าจะมีผลประโยชน์อื่นใดหล่นร่วงลงไปสู่กระบวนการแปรประเทศไปสู่อุตสาหกรรมของมาดากัสการ์โดยรวม
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียได้เริ่มหันไปมองแอฟริกาเพื่อที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรที่ตนเองขาดแคลน โดยเฉพาะจีนซึ่งได้เดินหน้าลงทุนในธุรกิจบ่อน้ำมันและเหมืองแร่ในทวีปแห่งนี้อย่างมหาศาล จนทำให้บางครั้งเกิดข้อครหาเรื่องการล่าอาณานิคมใหม่ขึ้นมา
และตอนนี้หลายประเทศเอเชียก็เคลื่อนย้ายจากการลงทุนในแร่ธาติและน้ำมัน มาเป็นเรื่องอาหาร โรลอฟ ออร์น ซึ่งบริหารจัดการกองทุนในแอฟริกาให้แก่ อินเวสเทค แอสเสท แมเนจเมนท์ กล่าวว่าต่อไปยังจะมีการลงทุนทางด้านเกษตรกรรมอีกมากในทวีปนี้ “เพราะแอฟริกาเป็นดินแดนอุดมสมบูรณ์ที่มีการใช้ประโยชน์น้อยที่สุดในโลก” แต่เขาก็เตือนด้วยว่ากรณีที่ดินเป็นเรื่องอ่อนไหวในแถบนี้เสมอ
นอกจากแดวูแล้ว ก็ยังมีบริษัทเกาหลีใต้อีกไม่น้อยที่กำลังเข้ามาลงทุนในมาดากัสการ์ในโครงการนานาประเภทตั้งแต่เหมืองนิเกิลไปจนถึงโรงไฟฟ้า โคเรีย รีซอสเซสซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเพิ่งลงนามในสัญญาขั้นต้นกับรัฐบาลมาดากัสการ์ เพื่อขยายความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากร ซึ่งมีโครงการทำเหมืองแร่ทางด้านโลหะหลายประเภทรวมอยู่ด้วย
แดวูวางแผนการที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ 2,000 เฮกตาร์ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จากนั้นก็จะค่อย ๆขยายไปสู่ส่วนต่าง ๆของพื้นที่ที่ได้รับกรรมสิทธิ์มา โดยจะปลูกข้าวโพดในเนื้อที่ 1 ล้านเฮกตาร์ทางตะวันตกของประเทศ และปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 300,000 เฮกตาร์ทางตะวันออก
บริษัทคาดว่าจะส่งผลิตผลที่ได้กลับไปยังเกาหลีใต้และส่งออกไปประเทศอื่น ๆบางส่วน ยังไม่แน่ชัดว่าพืชผลที่ได้จะส่งเข้าตลาดในประเทศมาดากัสการ์บ้างหรือไม่ ในขณะที่ความเป็นจริงก็คือมาดากัสการ์นั้นขาดแคลนอาหารอย่างมากจนถึงพึ่งโครงการอาหารโลก (World Food Programme)ของสหประชาชาติ ให้มาแจกจ่ายอาหารให้แก่ประชาชนราว 6 แสนคนหรือ 3.5% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ
โครงการอาหารโลกชี้ว่าประชาชนของมาดากัสการ์มากกว่า 70% มีรายได้อยู่ในระดับใต้เส้นความยากจน และเด็ก ๆอายุต่ำกว่า 3 ขวบมากกว่า 50% ประสบภาวะขาดอาหารเสียจนอัตราการเติบโตของร่างกายเป็นไปอย่างเชื่องช้าผิดปกติ
แดวูกล่าวว่าที่เลือกมาดากัสการ์ เป็นเพราะเป็นประเทศที่ยังไม่มีการลงทุนโดยบริษัทของประเทศตะวันตก โดยที่ฮองกล่าวว่าทำให้บริษัทมีโอกาสมากขึ้นในการทำธุรกิจ ในช่วง 15 ปีข้างหน้าแดวูจะพัฒนาพื้นที่การเกษตรของเกาะแห่งนี้เพื่อให้สามารถผลิตและส่งข้าวโพดกลับประเทศของตนราวครึ่งหนึ่งของการนำเข้าของเกาหลีใต้
เวลานี้เกาหลีใต้เป็นผู้นำเข้าข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก และยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากแต่มีพื้นที่การเพาะปลูกและทรัพยากรอย่างจำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น