กลุ่มทุนท่องเที่ยวไทยดันฟื้นโปรแกรมเที่ยว “5 เชียงบวกคุนหมิง” ลุยเจรจาการท่องเที่ยวสิบสองปันนา – หยุนหนัน ต่อเนื่อง เสนอตั้งสมาคมท่องเที่ยวไทย-จีน(ตอนใต้) ก่อนพัฒนาเป็นสมาคม 4 ชาติลุ่มน้ำโขงตอนบน ดึงต่างชาติเข้า GMS - ชวนคนจีนเที่ยวไทย
รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า ในรอบปี 2551 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)และภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว นำโดยสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย และสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัดได้จัดคณะเดินทางไปหารือกับกรมการท่องเที่ยวมณฑลหยุนหนัน ประเทศจีนและการท่องเที่ยวสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ซึ่งเป็นมณฑลที่อยู่ใกล้กับ จ.เชียงราย มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานความร่วมมือด้านธุรกิจท่องเที่ยวไทย-จีนตอนใต้ รองรับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมด้านต่างๆ
โดยเฉพาะทางบกผ่านถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ ซึ่งทางจีนเรียกกันว่า "คุน-มั่งกงลู่" เนื่องจากปัจจุบันแม้เส้นทางคมนาคมจะดีขึ้น แต่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ โดยไม่ได้มีการประสานงานกันอย่างเป็นทางการระหว่างภาครัฐกับรัฐหรือรัฐกับเอกชน
นายสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัดภาคเหนือ และสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย กล่าวว่า การสร้างความสัมพันธไมตรีและความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับจีนตอนใต้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน กุมภาพันธ์ 2551 สมาคมฯ ร่วมกับปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางไปหารือกับการท่องเที่ยวของมณฑลหยุนหนัน ที่เมืองคุนหมิง และเมืองเชียงรุ้งหรือจิ่งหง เขตสิบสองปันนา โดยเป็นการหารือกันในภาพกว้างๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน
จากนั้นวันที่ 19-24 เมษายน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จ.เชียงราย ร่วมกับสมาคมฯ ได้เดินทางไปหารือกับทั้ง 2 หน่วยงานอีกครั้ง เพื่อแจ้งต้นแบบหรือโมเดลในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน คือ องค์กรภายในของท้องถิ่นแต่ละประเทศจะต้องดำเนินการตามบันได 5 ขั้นคือ
ขั้นที่ 1 คือสร้างกองพันโดยรวมกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ขั้นที่ 2 จัดกลุ่มธุรกิจทำคลัสเตอร์ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ขั้นที่ 3 จัดทำสินค้า พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว เช่น โปรแกรมทัวร์ สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ขั้นที่ 4 ทดสอบสินค้า และขั้นที่ 5 ออกจำหน่ายตามตลาดท่องเที่ยวต่างๆ จากนั้นนำบันไดทั้ง 5 ขั้นมาประยุกต์ใช้กับภาคการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศต่อไป
กรมการท่องเที่ยวหยุนหนัน และการท่องเที่ยวสิบสองปันนา ให้ความสนใจมากและได้เดินทางสำรวจถนนอาร์สามเอผ่าน สปป.ลาว เพื่อมา จ.เชียงราย เมื่อเดือน กรกฎาคม 2551 พร้อมกับเชิญคณะจากประเทศไทยไปร่วมหารือเพื่อสานต่อแนวทางความร่วมมือดังกล่าว
ดังนั้น วันที่ 7-12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาคณะจากประเทศไทยนำโดยนายเศรษฐพล จินดานนท์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ (17 จังหวัด) ททท.นายอุดม อ่อนนวล ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ จ.เชียงราย นางจิรารัตน์ มีงาม ผู้อำนวยการ ททท.เชียงราย ดร.สมพล ชื่นธีระวงศ์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ และตน รวมทั้งผู้บริหารจาก ททท.เมืองพัทยา-สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.มุกดาหาร ฯลฯ รวมทั้งหมด 40 กว่าคน จึงเดินทางผ่านถนนอาร์สามเอไปหารือกับนายซือ ฉงฟง ผู้ช่วยผู้ว่าการกรมการท่องเที่ยวมณฑลหยุนหนัน - นายเติ่ง หลี่หมิง ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่องเที่ยวมณฑลหยุนหนัน ที่เมืองคุนหมิง และที่เมืองเชียงรุ้ง เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเขตสิบสองปันนา และการท่องเที่ยวและโรงแรมสิบสองปันนา ตามลำดับ
ผลการหารือพบว่า จีนตอนใต้ยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า มีศักยภาพในด้านการรองรับการท่องเที่ยว และเป็นที่ต้องการไปเยือนของชาวต่างประเทศซีกโลกตะวันตก ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวจีนก็ประสงค์จะมาเที่ยวประเทศไทยผ่านถนนอาร์สามเอ-เชียงราย ไปเที่ยวทะเลที่เมืองพัทยา และเดินทางกลับโดยผ่านถนนใน สปป.ลาว ผ่านทาง จ.มุกดาหาร
ด้านคณะจากประเทศไทย เสนอแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมไทย-จีน ด้วยการสานต่อความร่วมมือเดิม คือ 1.พัฒนาองค์กรท่องเที่ยวภายในแต่ละประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดเจ้าภาพในการรับผิดชอบ โดยหากจะติดต่อเรื่องการท่องเที่ยวก็สามารถมีองค์กรประสานงานได้โดยทันที หรือไม่ทำให้เกิดความสับสน
2.จัดตั้งสมาคมการท่องเที่ยว 2 ประเทศระหว่างไทย-จีนตอนใต้ และอนาคตพัฒนามาเป็นสมาคมการท่องเที่ยว 4 ชาติลุ่มน้ำโขง(ไทย จีน ลาวและพม่า)โดยมีพันธกิจและพันธสัญญาในสมาคมร่วมกัน รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมการจากแต่ละประเทศ ระบุเนื้อหาการพัฒนา ปัญหาอุปสรรคทุกอย่าง
3.จัดทำเส้นทางหรือรูตทัวร์สากล โดยคณะกรรมการทั้งหมดร่วมกันไปดูตามเส้นทางประเทศต่างๆ เพื่อเสนอแนะการพัฒนาด้านต่างๆ ร่วมกันซึ่งเบื้องต้นใช้สูตร 5 เชียงบวกคุนหมิง คือเชียงราย เชียงใหม่ เชียงรุ้ง (จีน) เชียงตุง (พม่า) เชียงทอง (หลวงพระบาง) และเมืองคุนหมิง
4.นำตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยว หรือเอเยนซีจากยุโรป-อเมริกา หรือทั่วโลกไปดูรูตทัวร์ดังกล่าว และ 5.ร่วมกันพัฒนาตลาด เช่น ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ
สำหรับเป้าหมายเป็นลูกค้าจากชาติตะวันตกที่จะมาเยือนจีเอ็มเอส นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวไทยไปจีนตอนใต้
ทั้งนี้ สมาคมฯแจ้งทางจีนว่า คงไม่สามารถใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวไทย-จีน หรือเอ็นทรีเอ็กซิสเพอมิสได้เหมือนที่เคยใช้หลายปีก่อนได้อีกแล้ว เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศไม่ยอมรับเนื่องจากเราไม่มีดินแดนติดกัน ดังนั้น จึงควรใช้ระบบหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตซึ่งในยุคปัจจุบันถือว่าสะดวกเพราะคนจีนมีฐานะดีขึ้น จึงทำพาสปอร์ตกันได้มากขึ้น
ภาครัฐและเอกชนของจีนตอนใต้เห็นชอบกับแผนการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด แต่เนื่องจากติดระบบภายในประเทศ โดยต้องมีการนำเสนอการดำเนินการทั้งหมดไปยังรัฐบาลจีนที่กรุงปักกิ่ง หากรัฐบาลกลางให้การรับรองว่าสามารถดำเนินการได้ ทางท้องถิ่นจีนตอนใต้ ทั้งภาครัฐและเอกชนก็พร้อมจะเดินหน้าตามแผนดังกล่าวโดยทันทีต่อไป