xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แม้วพังเพราะภาคพลเมือง พัฒนาปชต.ต้องเน้นที่ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 พ.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ สถาบันพระปกเกล้าจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง " บทบาทรัฐสภา ในการปฏิรูปการเมืองไทย" โดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่าประชาธิปไตยเท่านั้นที่ทำให้ประเทศและประชาชนเจริญขึ้น สังเกตจากนานาประเทศ ประเทศใดมีประชาธิปไตยก่อน ประเทศนั้นเจริญก่อน อย่างไรก็ดี วันนี้ยังมีคนคิดว่าไม่น่าจะมีสภา มีการเรียกร้องสารพัด ซึ่งนอกกรอบของประชาธิปไตย ทั้งที่น่าจะหมดสงสัยได้แล้ว แต่ก็ถือเป็นธรรมดาโลก เหมือนศาสนาพุทธ มีปาราชิก ทำผิดก็ไล่ออกไป แต่ไม่ใช่เหตุให้เลิกนับถือพุทธ ประเทศไทยเวลานี้ก็เหมือนกัน นักการเมืองชั่วตายไปเยอะ นักการเมืองดี ก็ตายไปเยอะ ถามว่าจะไปผูกไว้กับนักการเมืองที่เข้ามาชั่วคราวแล้วออกไปอย่างนั้นหรือ ฉะนั้นต้องเอาระบอบไว้ และพัฒนากันไป ทั้งนี้ประชาธิปไตยไทยพัฒนาไปมาก แม้จะมีบางช่วงจะเจอคนไม่ดี ก็พัง ซึ่งก็ต้องหาคนใหม่มา ไม่ใช่เลิกระบบ อย่างสงสัยระบอบประชาธิปไตย แต่ตรงไหนบกพร่องก็แก้ตรงนั้น
คราวที่แล้ว รัฐธรรมนูญปี 40 ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง ก็เจอตุ๊กตาที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นต้นแบบ ต่อมาคนรู้ทันว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ทำความเสียหายไว้เยอะ สุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พัง เพราะความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ปฏิวัติ คณะปฏิวัติแค่สวมรอยฉวยโอกาส เพราะความสุกงอมของระบอบประชาธิปไตย กำลังจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ล้มอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญปี 40 เปิดโอกาสให้องค์กรอิสระตรวจสอบ แต่ก็โดนแทรกแซง ส่วนฝ่ายค้าน และสื่อ ก็ตรวจสอบเข้มข้น ทำให้ประชาชนมีความรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และร่วมตรวจสอบไปด้วย ความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมตรงนี้เป็นพลัง พ.ต.ท. ทักษิณ อ้างว่ามีคนชอบเยอะ แต่การเลือกตั้งครั้งหลัง คนเห็นความผิด และรักน้อยลง เป็นล้านคน ทหารจึงหยิบตรงนั้นเข้ามาได้ง่ายดาย ซึ่งน่าเสียดาย เพราะประชาธิปไตยหยุดเดิน ต้องเยียวยานานเป็นสิบปี
นายอุทัย กล่าวว่า สำหรับการปฏิรูปการเมือง มีหลายฝ่ายพูด ตนฟังฝ่ายพันธมิตรฯ พูดถึงการเมืองใหม่ทุกคืน แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรแน่ จึงต้องรอความชัดเจนก่อน ส่วนปัญหาอีกอย่างที่ถูกมองข้ามคือ ที่มาของนักการเมือง ซึ่งมีคำพูดที่ว่า "ผู้แทนฯ คือเงาสะท้อนของประชาชน" ดังนั้นอย่าโทษว่านักการเมืองไม่ดี ต้องโทษที่ประชาชน ซึ่งเป็นคนทำคลอดออกมา และผู้แทนฯไม่ใช่คนโง่ บางคนที่พูดคำ ท้าชกคำ หลังสุดก็จะไปเตะคนอื่น นี่คือเงาสะท้อนของประชาชน ที่มีผู้แทนฯ อย่างนี้ เพราะในพื้นที่นั้นมีแต่ บ่อนไก่ นักเลงจำนวนมาก ถ้าใครไม่ทำตามก็โดนเตะ โดนอัด ดังนั้นต้องทำให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชน เพื่อประชาชน ของประชาชน อย่างที่ อับราฮิม ลินคอน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ หากทำได้อย่างนี้ จะได้ไม่ต้องมาตกใจกับการได้ผู้แทนฯ แบบไหน
นายอุทัย กล่าวว่า เวลาพรรคการเมืองไปหาคนมาลงสมัคร ต้องหาคนดีมาอาสาทำงานให้เป็นอันดับแรก แต่ผู้แทนฯ ที่ดีนั้นมาเสียเพราะประชาชน จะยอมรับกันหรือไม่ว่า เงินไม่มา กาไม่เป็น มัวโทษนักการเมืองกันอยู่ได้ วันนี้นักการเมืองถูกตรวจสอบเข้มข้น จนไม่เป็นผู้เป็นคนแล้ว รัฐธรรมนูญก็ร่างออกมาดักตะกวด ไม่ให้ตัวเงินตัวทองเข้าสภามาได้ ทั้งนี้สังคมไทยเป็นระบบอุปถัมป์ แม้ผู้แทนฯ เงินเดือนเป็นแสนก็ไม่พอใช้ เพราะต้องเข้าไปพบปะประชาชน ช่วยกิจกรรมและงานบุญต่างๆ บางคนผู้สนับสนุนต้องลงขันให้มาจุนเจือกัน พอมารวมตัวกันมุ้งโตขึ้น ก็ขอต่อรองเป็นรัฐมนตรี แล้วเข้ามาถอนทุน
"ผู้แทนฯเป็นคนดีทั้งนั้น แต่ต้องมาเสียคนเพราะหัวคะแนน ผมอยากเสนอให้หลังเคารพธงชาติ มีคำขวัญขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ ไม่ใช่ไปด่าทอกันตามสนามหลวง หรือสนามกีฬาอย่างนี้" นายอุทัยกล่าว
นอกจากนี้ การจะปฏิรูปการเมืองต้องมองลงไปยังที่เกิดของผู้แทนฯ คือ ประชาชนผู้เลือกเข้ามา และท้องถิ่นหรือ อบต. ต้องสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง ให้ประชาชนเลือกผู้แทนฯ ของตัวเองได้ ไม่ใช่อะไรก็ให้นักการเมืองเป็นผู้เลือกให้ การปฏิรูปการเมืองโดยระบบรัฐสภา ต้องพัฒนาไปที่ประชาชนได้แล้ว
"ตอนที่พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเล่นการเมือง ผมคิดว่าเขารวยแล้ว มีเงิน 4 หมื่นล้านบาท เอามาเล่นการเมือง 2 หมื่นล้านบาท ก็คงไม่เดือดร้อนอะไร แต่ที่ไหนได้ อยู่ๆไปกลับมีเพิ่มอีกไม่รู้เท่าไหร่ วันนี้ถ้าไม่ต้องการให้การเมืองเหลือเพียงสองพวก คือ พวกเสี่ย กับพวกที่เข้ากันได้กับเสี่ย ต้องพัฒนาที่ประชาชน" นายอุทัย กล่าว

**ชี้ชัดรธน.ไม่ได้เป็นปัญหา
นายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รัฐสภาอังกฤษ มีอำนาจสูงสุด สามารถออกกฎหมายอะไรก็ได้ แต่อยู่บนประเพณีกำกับ คือไปออกกฎหมายที่ขัดความรู้สึกของประชาชนไม่ได้ ดุลพินิจของผู้ออกกฎหมายจึงสำคัญ แต่ส.ส.อังกฤษมีวุฒิภาวะสูง มองประโยชน์สาธารณะเหนือประโยชน์ส่วนตัว ส่วนประเทศไทย รัฐสภามีอำนาจขึ้นๆลงๆ มาถึงรัฐธรรมนูญปี 40 ทำให้ฝ่ายบริหาร กับสภา มั่นคงมากขึ้น มีการสร้างองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลให้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะหลังจากปี 2522 เป็นต้นมา มีการซื้อเสียงหนักขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ก่อนจะได้รัฐธรรมนูญปี 40 มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปการเมือง มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ก็ศึกษาประเด็นปัญหาการเมืองไทยจนตกผลึก ก่อนจะร่าง แต่ปัญหาปัจจุบัน ซับซ้อน ลึกซึ้ง สะสมหมักหมม ความเกลียดชังมีมาก แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย รัฐบาลก็ปล่อยปละละเลยให้เกิดขึ้นมา รัฐบาลบอกว่าไม่มีปัญหา จนเรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล รัฐบาลต้องรู้ว่า แก้ปัญหาไม่ได้ต้องทำอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย
นายสุจิต กล่าวว่า การแก้ปัญหาวันนี้ ส่วนหนึ่ง ต้องแก้ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สร้างการเมืองภาคพลเมืองเข้มแข็ง เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ใช้ดุลพินิจโดยไม่ยอมให้ถูกฝ่ายใดชักนำไปในทางการให้อามิสสินจ้าง ให้ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเฉพาะตัว ตรงนี้เป็นภารกิจหลักของสภาพัฒนาการเมือง หากไม่เร่งแก้ไขจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ระบบอุปถัมภ์ จะมีมากขึ้น
ส่วนวิกฤตปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องมาช่วยคิด และผู้ที่ริเริ่มคือรัฐบาล เพราะมีอำนาจในการจัดการ จะให้หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่มีอำนาจทำไม่ได้ หากรัฐบาลมีอำนาจ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ก็ควรจะพิจารณาตัวเอง ทั้งนี้สำหรับรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าไม่เป็นปัญหา แต่จะมีปัญหาเฉพาะผู้ที่มีผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการแก้ไขเพื่อให้หลุดออกมาจากบทลงโทษ และยิ่งสถานการณ์ขณะนี้ที่เกิดการเผชิญหน้า ควรยุติการแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพราะหากยังดำเนินการเปรียบเสมือนราดน้ำมันลงไป หากต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ควรจะต้องนำมาคุยในที่สาธารณะให้ตกผนึกเสียก่อนว่า ควรจะแก้หรือไม่ และประเด็นอะไร หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องแก้เลย

**รธน.ทำให้เกิดต่อสู้ทางชนชั้น
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า การจะได้ประชาธิปไตยไม่ใช่ได้มาด้วยเงิน แต่กลั่นจากคุณธรรมของแต่ละบุคคลในการมีจิตสำนึกต่อสาธารณะ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทย เลือกระบอบประชาธิปไตยตามแบบอังกฤษ แต่ประเทศอังกฤษใช้รัฐธรรมนูญแบบไม่มีลายลักษณ์อักษร และประชาธิปไตยอยู่ในหัวใจคน แต่ของไทย การร่างรัฐธรรมนูญโดยเอามาครอบคนไทย จึงเกิดปัญหา เพราะไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของผู้คน ดังนั้นในการต่อสู้กันตลอดมา จึงเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น และการใช้อำนาจ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน อังกฤษก็เริ่มเจอปัญหา จึงแก้ไขในส่วนนี้ และเริ่มเขียนกฎหมายแบบที่มีลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่รัฐสภามีอำนาจสูงสุดตามแบบเดิม
นายวิชา กล่าวว่า ปัจจุบันหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะวิกฤตรัฐสภาเกิดทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เกิดใหม่ การเมืองชนิดที่มีตัวแทนอย่างเดียว ขายขาดไม่รับคืน เข้าไปแล้วไปทำอะไรก็ได้ หรือประชาธิปไตยแบบการตลาดที่อยู่ในมือของพรรคการเมือง ซึ่งทำให้พรรคมีอำนาจมากกว่ารัฐสภา เริ่มไม่ใช่แล้ว เพราะทำให้ไม่ได้คนที่ยึดมั่นตามทำนองคลองธรรม ถูกไขลานจากพรรคการเมือง และอาจจะต้องปรับการเลือกตั้ง เช่น ในอียู มีการปรับระบบเลือกตัวแทน โดยเลือก 3-4 ครั้ง กว่าจะได้ตัวแทนของเขตจริงๆ หรืออังกฤษ
นอกจากนี้ การทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของภาค เป็นอันตรายมากต่อระบอบรัฐสภา เพราะไม่ใช่ตัวแทนของทั้งประเทศ ปัญหานี้เกิดแล้วที่ ยูเครน นายกฯบริหารยาก ประเทศไทยยังดีกว่าเยอะ ส่วนเรื่อง การสานเสวนาเพื่อหาทางออกความขัดแย้งทางการเมือง การสมานฉันท์ ถ้าเริ่มได้โดยส.ส.ไม่ไล่เตะกันในสภา หรือไม่มีเรื่องกัน เมื่อนั้นถึงจะไปสมานฉันท์กับคนอื่นได้
นายวิชา กล่าวด้วยว่า สำหรับนักการเมือง มีปัญหาที่ไม่รู้จักบทบาทหน้าที่ตัวเอง รัฐสภาอ่อนแอมาก เรื่องการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา เป็นคนพรรคเดียวกับรัฐมนตรี แล้วจะไปตรวจสอบได้อย่างไร แถมจองกฐินกันข้ามชาติ เพื่อไต่เต้าเป็นรัฐมนตรี หรือการที่สภาออกกฎหมายไม่ได้ เพราะมัวไปยุ่งการเมือง หรือเอาการเมืองมาพัวพันจนปิดตาออกกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น กฎหมายประชาชน ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ แต่สภาทำเละ ลงคะแนนก็ยังไม่ครบองค์ประชุม คนซวยสุดคือประชาชน ทั้งที่ควรจะได้กฎหมายดีที่สุด เพราะประชาชนเข้าชื่อเสนอกันเอง นักการเมืองไทยมีจิตสำนึกสาธารณะไม่เพียงพอ สภาเป็นได้ทั้งพระเจ้าและ ซาตาน เหมือนเงินเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น หากใช้ไม่อยู่บนหลักความพอเพียงชีวิตก็พัง นอกจากนี้ หลักการบางอย่างยังไม่ตกผลึกเช่น จะเอาสภาเดียว หรือสองสภา หรือหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่อังกฤษ มีจารีตประเพณีกษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดในการแก้ปัญหาหากประเทศอยู่ในสภาพเสี่ยงหายนะ แต่ของไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับเป็นทางการ
กำลังโหลดความคิดเห็น