xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการต้านกรอบเจรจาพระวิหารจวกบัวแก้วจัดประชาพิจารณ์หมกเม็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มล.วัลย์วิภา” แทคทีมนักวิชาการต้านกรอบเจรจาปราสาทพระวิหาร ค้านขึ้นทะเบียนข้ามพรมแดนข้ามประเภท ชี้เสี่ยงต่อการเสียพื้นที่อุทยานแห่งชาติรวมพื้นที่อุทยานสัตว์ป่า 1.5 ล้านไร่ จับตาการเจรจาถอนทหารจาก“วัดแก้วฯ”เปิดช่องเขมรฉวยโอกาสส่งไอซีซี เข้าไปบริหารพื้นที่ 4.6 ตร.กม. จวก กต.หมกเม็ด "จัดปาหี่ประชาพิจารณ์" ให้ข้อมูลเท็จ ปกปิดบิดเบือนความจริงประชาชน
วานนี้ (7 พ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 9 อาคารเอนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดการแถลงข่าวและระดมสมอง โดยมล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ9 สถาบันไทยคดีศึกษา พร้อมทั้งนักวิชาการที่มีแนวคิดคัดค้านกรอบการเจรจาค.ร.ม.ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์กรณีปราสาทพระวิหารเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
มล.วัลย์วิภากล่าวสรุปผลการระดมสมองว่า จะยืนยันการคัดค้านกรอบการ เจรจาซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 190 วรรค 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแผนที่และการปรับกำลังทหารออกจากวัดแก้วศรีสิขะรีสะวะรา
ทั้งนี้ ประเด็นที่คนไทยต้องเฝ้าระวังและเป็นกังวลก็คือ ประเด็นของการขึ้นทะเบียนข้ามพรมแดนข้ามประเภท ที่มีการพยายามดึงดันให้ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมพร้อมๆ กับเป็นมรดกทางธรรมชาติ ที่ไม่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์การขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งหากขึ้นทะเบียนสำเร็จ จะส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ไทยจะเสียพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง และอุทยานคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 5 แห่ง รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 1.5 ล้านไร่ รวมไปถึงพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นของไทย แต่ถูกรัฐบาลพยายามบิดเบือนให้เข้าใจว่าเป็นพื้นที่เขตกันชน
“ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิพาทและมีทหารประจำอยู่ ซึ่งหากไทยถอนทหารออกตามที่คาดกันว่าจะเป็นผลการเจรจาในวันที่ 10 พ.ย.จะเปิดโอกาสให้คณะกรรมการไอ.ซี.ซี 7 ประเทศ เข้าไปบริหารพื้นที่ดังกล่าวได้ วันที่ 10 พ.ย.นี้ จะมีการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ เกี่ยวกับการทหาร ซึ่งก็มีกระแสข่าวออกมาว่า อาจจะมีการปรับกำลังทหารออกจากวัดแก้วฯ ซึ่งมีนัยสำคัญ โดยเชื่อว่ากัมพูชาจะฉวยโอกาสส่งไอซีซีเข้าไปแน่นอน” มล.วัลย์วิภากล่าว
ด้านนายประกาศิต แก้วมงคล นักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มธ. ในฐานะที่เข้าร่วมฟังการเสวนาเชิงวิชาการที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศและสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า มีการหมกเม็ดอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากกำหนดการจัดงานดังกล่าวแจ้งว่าเป็นการเสวนาเชิงวิชาการ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ได้มีการระบุขณะดำเนินรายการว่า จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแทน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน นักวิชาการ ตลอดจนผู้สนใจร่วมฟัง มีโอกาสซักถามและแสดงความคิดเห็นน้อยมาก แสดงให้เห็นชัดถึงความจงใจที่จะบิดเบือนการจัดกิจกรรม และหมกเม็ดรวบรัดเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ
ในขณะที่นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ระบุว่า งานเสวนาดังกล่าว ไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการจัดประชาพิจารณ์เพื่อการฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็น “ปาหี่ประชาพิจารณ์” มากกว่า พร้อมแสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องแปลกที่กระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ใช้หลักฐานสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วยแผนที่
กำลังโหลดความคิดเห็น