xs
xsm
sm
md
lg

กษัตริย์"จิกมี"เข้าพิธีราชาภิเษกทรงขอแสงแห่ง"ความสุข"สู่ภูฏาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์-สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งภูฏานเมื่อวานนี้ (6) โดยกษัตริย์หนุ่มในวัย 28 พระชันษา ผู้ทรงสำเร็จการศึกษาจากออกซ์ฟอร์ด จะทรงนำพาดินแดนที่สืบทอดประเพณีโบราณกับจิตวิญญาณของศาสนาพุทธ เข้าสู่โลกสมัยใหม่ในฐานะประเทศประชาธิปไตยหน้าใหม่ที่สุดของโลกด้วย
ระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระสังฆราชของประเทศได้สวดมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ประทานปัญญา เมตตา และญาณทัศน์ แด่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และพระองค์ก็ทรงรับพระราชทานมงกุฎไหมสีแดงดำจากสมเด็จพระราชบิดาวัย 52 พระชันษา ผู้ทรงประกาศใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในภูฏานและทรงสละพระราชบัลลังก์เมื่อราว 2 ปีก่อน
กษัตริย์วังชุกทรงฉลองพระองค์สีแดงทองที่เป็นชุดคลุมยาวปิดเข่าอันเรียกกันว่า "โฆ" ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติของชายชาวภูฏาน ทรงประทับนั่งบนบัลลังก์ทองคำ พระพักตร์เคร่งขรึม แต่ก็ทรงแย้มพระสรวลเล็กน้อยขณะทรงรับเครื่องถวายแด่สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ใหม่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระราชาธิบดีหนุ่มพระองค์นี้ นอกจากทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอันมีชื่อเสียงเก่าแก่ของอังกฤษแล้ว ยังทรงผ่านการศึกษาทั้งจากสหรัฐฯ และอินเดีย และทรงรับเอากระแสการเปลี่ยนแปลงที่พัดพาเข้ามาในดินแดนอนุรักษนิยมในหุบเขาหิมาลัย และกำลังนำพาประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่และเป็นประเทศประชาธิปไตยหน้าใหม่โดยการมองออกสู่โลกภายนอก พร้อมไปกับยืนยันในรากฐานของตนเองที่หยั่งลึกอย่างมั่นคงมาตั้งแต่อดีต
"ข้าพเจ้าไม่ต้องการสิ่งใด" พระราชาธิบดีวังซุกทรงมีพระบรมราโชวาทแก่พสกนิกรหลายพันคนที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ในตอนบ่ายวานนี้
"สิ่งที่สำคัญสำหรับข้าพเจ้าคือความหวังและความมุ่งมาดปรารถนาของประชาชน และพระชนมายุอันยืนยาวและพระพลานามัยอันแข็งแรงสำหรับสมเด็จพระราชบิดา จิกมี ซิงเย วังชุก ของข้าพเจ้า"
"ในโอกาสอันพิเศษยิ่งนี้ ขอให้ร่วมกันสวดมนตร์และขออธิษฐานขอให้แสงตะวันเฉิดฉันแห่งความสุขจะสาดส่องลงมาที่ประเทศชาติของเราเสมอไป"
แม้ไม่ต้องทรงรับพระราชภารกิจการบริหารประเทศ เนื่องจากสมเด็จพระราชบิดาได้ทรงวางระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นมาแล้ว แต่กษัตริย์วังชุกก็ยังทรงเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการสร้างเอกภาพและเสถียรภาพในประเทศที่มีประชากรเพียง 650,000 คน ในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัยที่บางครั้งก็เหตุรุนแรงและการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายขึ้น
"พระมหากษัตริย์จะทรงมีบทบาทสำคัญเสมอในฐานะพลังผลักดันทางศีลธรรมในประเทศของเรา" จิกมี ธินเล นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศกล่าวและเสริมว่า "พระองค์ทรงเป็นพลังผลักดันให้ทุกคนมั่นใจว่าประชาธิปไตยของเราจะยั่งยืนและปรับให้เข้ากับยุคสมัยได้"
นอกจากประชาชนหลายพันคนที่มารวมตัวกันถวายพระพรแด่กษัตริย์วังชุกที่หน้าวัดซึ่งประกอบพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังมีแขกสำคัญที่ร่วมในพิธีดังกล่าวคือ ประธานาธิบดีประติภา ปาติลแห่งอินเดีย และนางโซเนีย คานธี นักการเมืองคนสำคัญของอินเดียพร้อมด้วยบุตรธิดา เนื่องจากครอบครัวคานธีนั้นมีความสนิทชิดเชื้อกับราชวงศ์ภูฏาน

ภูฏานสู้โลกยุคใหม่

เมื่อราวห้าสิบปีก่อน ภูฏานยังเป็นดินแดนที่ปกครองด้วยระบบโบร่ำโบราณ ยังไม่มีถนนหนทาง และยังไม่มีโรงเรียนหรือโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งแทบไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอก แต่ทุกวันนี้ประชาชนได้รับการศึกษาและระบบสาธารณสุขฟรี และอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มขึ้นจากต่ำกว่า 40 ปี มาเป็น 66 ปี
ชาวภูฏานถือว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เป็นเพราะกษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก สมเด็จพระราชบิดาของพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก โดยทรงเป็นกษัตริย์ที่เปิดรับโลกภายนอก กษัตริย์พระองค์ที่ 4 ของภูฏานพระองค์นี้ทรงเห็นว่าภูฏานนั้นเป็นประเทศขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน จึงควรปรับปรุงประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อให้รอดพ้นจากเพื่อนบ้านที่อาจเป็นอันตรายได้

นอกจากนั้น พระองค์ยังเป็นผู้ริเริ่มหลักปรัชญาแห่งชาติที่ได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวาง นั่นก็คือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดสนับสนุนความสำคัญของความสมบูรณ์ทางจิตและวิญญาณเท่าๆ กับเงินทอง โดยถือว่าบรรดาวัตถุสิ่งของทั้งหลายไม่ควรได้มาด้วยการแลกกับสิ่งแวดล้อมหรือวัฒนธรรม

ทว่า ก็มีผู้คัดค้านหลักการดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1980 คนเชื้อสายเนปาลหลายหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูและอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ต่ำทางตอนใต้ของภูฏาน ได้พากันประท้วงว่าภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขากำลังถูกชาวพุทธทางเหนือทำลาย หลังจากนั้นพวกเขาก็ถูกเนรเทศและทุกวันนี้ยังมีชาวฮินดูอีกนับแสนคนใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้อพยพทางตะวันออกของเนปาล

อย่างไรก็ตาม สำหรับภายในประเทศภูฏานเองนั้น กษัตริย์หนุ่ม จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก ทรงสามารถกุมจิตใจของพสกนิกรได้สำเร็จแล้ว จากการที่ทรงวางพระองค์อย่างเป็นกันเองในหมู่ประชาชน และยังทรงได้รับความชื่นชมอย่างสูงยิ่งในหมู่ประชากรวัยหนุ่มสาวด้วย ถึงแม้ภูฏานก็ต้องเจ็บปวดกับความทันสมัยด้วยเช่นกัน เพราะปัญหายาเสพติด การว่างงาน และอาชญากรรมล้วนแต่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเยาวชนคนหนุ่มสาวก็มีแนวคิดเชิงต่อต้านมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น