ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ชาวบ้านในชุมชนและย่านต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ พร้อมใจแห่ยื่นคัดค้านร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่(ปรับปรุงครั้งที่ 3) เหตุไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการกำหนดขยายถนนหลายสายทั่วตัวเมือง หวั่นกระทบวิถีชีวิต ธุรกิจการค้าและย่านอนุรักษ์เมืองเก่า เลขาธิการชุมชุนย่านตลาดวโรรสวอนโยธาธิการและผังเมือง ล้มเลิกข้อกำหนดขยายถนน เพื่อรักษาย่านการค้าเก่าแก่เมืองเชียงใหม่ที่กำลังจะมีอายุครบ 100 ปีเต็ม ระบุหากไม่เป็นผลพร้อมพึ่งศาลปกครอง
วานนี้ (5 พ.ย.51) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มชาวบ้านย่านต่างๆ ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ เช่น ย่านตลาดวโรรส-ตลาดต้นลำไย ย่านถนนเจริญประเทศ ย่านถนนท่าแพ ย่านวัดเกต ย่านช้างเผือก เป็นต้น กว่า 200 คน ที่เป็นเจ้าของที่ดินในแต่ละย่าน ได้รวมตัวชุมนุมพร้อมเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่(ปรับปรุงครั้งที่ 3) เป็นรายบุคคล ผ่านทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่
การยื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่(ปรับปรุงครั้งที่ 3) ดังกล่าวนี้ เนื่องจากชาวบ้านที่อยู่อาศัยและค้าขายอยู่ในย่านต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับการที่ร่างผังเมืองฉบับนี้ ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับการขยายถนนหลายเส้น ตั้งแต่ 12-60 เมตร ซึ่งมีถนนหลายเส้นทางในตัวเมืองเชียงใหม่ที่ผ่านย่านต่างๆ ดังกล่าวถูกกำหนดเกี่ยวกับการขยายความกว้างของถนนด้วย เช่น ถนนท่าแพ ถนนเจริญประเทศ ถนนช้างม่อย ถนนเจริญราษฎร์ เป็นต้น โดยชาวบ้านเห็นว่าหากมีการขยายถนนก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตตามมาในหลายด้าน
นางสาววรวิมล ชัยรัต เหรัญญิกมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองและตัวแทนชาวบ้านย่านวัดเกต กล่าวว่า ข้อกำหนดหลายส่วนในร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่(ปรับปรุงครั้งที่ 3) เป็นสิ่งที่ดี เช่นการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการอยู่อาศัย มีการกำหนดความสูงและพื้นที่ว่างในบริเวณที่จะก่อสร้าง การกำหนดความสูงของสิ่งก่อสร้างในรัศมี 200 เมตร รอบวัด ศาสนสถาน โบราณสถานไม่ให้เกิน 9 เมตร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้มีการขยายความกว้างถนนหลายสายในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ที่เป็นเขตเมืองเก่าที่ควรอนุรักษ์ กลับเป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งกันในตัวเอง ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในย่านต่างๆ ล้วนไม่เห็นด้วย และยื่นคัดค้านร่างผังเมืองในประเด็นนี้
ทั้งนี้เห็นว่าหากมีการขยายความกว้างของถนนในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ตามที่มีการกำหนดในร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ดังกล่าวนี้ จะเท่ากับเป็นการทำลายเสน่ห์ทางด้านศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต มรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางสังคม ที่ชุมชนย่านต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ ได้ซึมซับและสืบทอดสั่งสมกันมาช้านานหลายชั่วอายุคน โดยที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ไม่ต่างอะไรกับการทำลายเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งยังไม่รวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยในย่านต่างๆ ที่ตามมาในอีกหลายด้าน
ด้านนายดนุชา สุจริตรักษ์ เลขาธิการชุมชนชาวช้างม่อย ตรอกข่วงเมรุ ตลาดวโรรส กล่าวว่า ชาวบ้านที่อยู่อาศัยและค้าขายในชุมชนประมาณ 150 ครัวเรือน ไม่เห็นด้วยกับร่างผังเมืองฉบับนี้ที่จะกำหนดเกี่ยวกับการขยายความกว้างของถนน เพราะหากมีการดำเนินการจริงจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนอย่างหนัก โดยเฉพาะต่อการทำธุรกิจค้าขายที่เป็นอาชีพหลักของคนที่อยู่อาศัยในย่านตลาดวโรรส เพราะพื้นที่ที่เป็นร้านค้าจะถูกเวนคืนไปเพื่อขยายถนน
ขณะเดียวกันยังจะเป็นการทำลายชุมชนและวัฒนธรรมการค้าเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ลงไปด้วย เพราะตลาดวโรรสนั้นเป็นย่านการค้ามาช้านานและกำลังจะมีอายุครบ 100 ปีในปีหน้าแล้ว ซึ่งย่านนี้ควรจะมีการอนุรักษ์ไว้มากกว่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะทำให้เหมือนตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก็ได้
“พวกเราที่อาศัยอยู่ในย่านตลาดวโรรส ช้างม่อย ข่วงเมรุ ต่างไม่ต้องการให้มีการขยายความกว้างของถนน เพราะทุกวันนี้พื้นที่ที่เป็นร้านค้าที่ใช้ทำมาหากินของเรา แต่ละคนต่างก็มีกันอยู่แค่คนละนิดคนละหน่อยเท่านั้น อย่างห้องแถวบางคนก็ลึก 7 เมตรบ้าง 9 เมตรบ้าง ซึ่งหากมีการขยายถนน แล้วต้องเวนคืนกินพื้นที่ร้านค้าลึกเข้าไป 5 เมตร หรือ 7 เมตร แล้วพวกเราจะไปทำมาหากินที่ไหน โดยการขยายถนนจะไม่เป็นเพียงการทำลายธุรกิจในย่านตลาดวโรรสเท่านั้น แต่ยังจะเป็นการทำลายวิถีชีวิตชุมชนเก่าแก่ของเชียงใหม่ ที่เป็นแหล่งการทำมาค้าขายสำคัญมาร่วมร้อยปีไปพร้อมกันด้วย เพราะในปีหน้าตลาดวโรรสก็กำลังจะมีอายุครบ 100 ปีแล้ว ซึ่งควรจะได้รับการอนุรักษ์ไว้มากกว่าจะทำลายทิ้งไป” นายดนุชา กล่าว
สำหรับการเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่(ปรับปรุงครั้งที่ 3) เลขาธิการชุมชนชาวช้างม่อย ตรอกข่วงเมรุ ตลาดวโรรส กล่าวว่า เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากร่างผังเมืองฉบับนี้สามารถเข้ายื่นคัดค้านได้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหลังจากยื่นคัดค้านไปแล้ว ยังไม่ทราบว่าในท้ายที่สุดผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้แต่คาดหวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีอำนาจตัดสินใจจะเห็นด้วยพร้อมทั้งยอมรับความคิดเห็นที่เป็นความต้องการของชาวบ้าน ทั้งนี้หากการยื่นคัดค้านไม่เป็นผลก็คงจะต้องมีการเคลื่อนไหวต่อไปจนถึงที่สุดด้วยการรวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน
ด้านนายนคร บุษยพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า การกำหนดร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของประกาศผังเมืองดังกล่าวอยู่แล้ว เปรียบเสมือนการปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ปลูกอู่ตามใจผู้นอน ซึ่งเมื่อมีการแสดงความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเข้ามาก็ต้องรับฟังไว้ ทั้งนี้คำร้องคัดค้านของชาวบ้านทั้งหมดจะมีการรวบรวมเข้าสู่คณะกรรมการที่ปรึกษาระดับจังหวัด เพื่อจะพิจารณานำเสนอคณะกรรมการผังเมืองระดับชาติต่อไป ซึ่งในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ นั้นจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน โดยในช่วงที่เป็นสุญญากาศ ก็คงต้องขอให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้กฎระเบียบที่มีอยู่ดูแลพื้นที่ไปก่อนเป็นการชั่วคราว
รายงานข่าวแจ้งว่านอกจากการรวมตัวกันของชาวบ้านย่านต่างๆ ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อเข้ายื่นคัดค้านร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่(ปรับปรุงครั้งที่ 3) วานนี้ (5 พ.ย.51) แล้ว ยังมีชาวบ้านอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังเตรียมตัวและจะทยอยเข้ายื่นคัดค้านร่างผังเมืองรวมฉบับเดียวกันนี้ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่จะครบกำหนดการปิดประกาศ 90 วัน ขณะที่ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 กลุ่มศึกษาเรื่องเมืองและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ กลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง และมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง กำหนดจัดเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างผังเมืองฉบับนี้ใช้ชื่อว่า “ผังเมืองเจียงใหม่ เปิงใจ๋ละยัง” ที่คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ เวลา 18.00 น.