xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายต่างประเทศจ่อคิวเพียบ รอผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ปรับเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - บารัค โอบามา ผู้เพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาหมาดๆ จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านนโยบายการต่างประเทศที่จ่อคิวรอให้ตัดสินใจมากมาย ไล่กันตั้งแต่สงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก ไปจนถึงวิกฤตการณ์การเงินโลก และการเร่งกอบกู้ภาพลักษณ์สหรัฐฯ ในต่างประเทศ
ในขณะที่เรื่องภาษี ระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในข่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่ประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ เช่นปัญหานิวเคลียร์ในอิหร่านและสันติภาพในตะวันออกกลางก็มีแนวโน้มจะอยู่ในวาระต้นๆ ที่ต้องพิจารณาเมื่อโอบามาเข้ารับตำแหน่งผู้นำทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการต่อจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในวันที่ 20 มกราคม 2009
"คาถาที่รัฐบาลชุดหน้าจะต้องว่าก็คือ 'จงระมัดระวังในสิ่งที่คุณอธิษฐานขอ เพราะคุณอาจจะได้ตามนั้น'" เจมส์ ลินด์เซย์ ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยด้านนโยบายการต่างประเทศในยุคประธานาธิบดีบิล คลินตัน และปัจจุบันประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทกซัส กล่าว และว่า "ประธานาธิบดีคนใหม่มีงานด้านนโยบายต่างประเทศรออยู่เต็มมือ และจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่ส่งผลอย่างมหาศาลในด้านความมั่นคงของอเมริกา"
ทว่า พวกที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของโอบามาก็บอกว่าโอบามามีความเข้าใจในเรื่องระดับโลกเป็นอย่างดีจากการที่เคยใช้ชีวิตในวัยเด็กที่อินโดนีเซียและการสืบเสาะค้นคว้าเรื่องราวของพ่อซึ่งเป็นชาวเคนยา
อย่างไรก็ตาม โอบามาคงต้องเตรียมตัวเผชิญกับปัญหาที่รุมเร้าอยู่ตั้งแต่ก่อนขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ อย่างแน่นอน เช่นในวันที่ 15 พ.ย. บุชจะเข้าร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกที่วอชิงตัน ซึ่งแม้โอบามาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย แต่ก็จะเป็นโอกาสให้ทีมเศรษฐกิจของเขาได้พบปะนอกรอบกับบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากต่างประเทศแต่เนิ่นๆ
นอกจากนั้นโอบามายังต้องรับมรดกปัญหาสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานจากบุช อีกทั้งต้องเพิ่มความพยายามไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ที่ซ๋องสุมกำลังอยู่ตามแนวชายแดนของปากีสถานติดกับอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมการหาทางหยุดโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และกดดันให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามสัญญาที่จะยุติโครงการนิวเคลียร์ด้วย
โอบามามีที่ปรึกษาด้านนโยบายการต่างประเทศจำนวนหนึ่งซึ่งเคยทำงานในสมัยรัฐบาลคลินตัน แต่เขาบอกว่าอาจร่วมงานกับคนของรีพับลิกันได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ที่มักถูกกล่าวถึงว่าจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีการต่างประเทศจึงมีทั้งวุฒิสมาชิกชัค ฮาเกลแห่งรีพับลิกัน และวุฒิสมาชิกจอห์น แคร์รีแห่งเดโมแครต
มาร์ค ลิปเพิร์ต ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของโอบามากล่าวว่าการต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย การจัดการกับกองกำลังก่อการร้ายตามแนวชายแดนระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถาน รวมทั้งการกำจัดหรือจับตัวอุซามะห์ บินลาดิน ถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ในด้านความมั่นคงแห่งชาติ
นอกจากนั้น โอบามายังได้ให้คำมั่นว่าจะรื้อฟื้นความพยายามสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง และจะสนับสนุนอิสราเอลอย่างหนักแน่น รวมทั้งจะยุติสงครามอิรักและเสริมกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าไปในอัฟกานิสถานแทน
ที่สำคัญ โอบามาบอกแล้วว่ายินดีเจรจาโดยตรงกับศัตรูของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านหรือซีเรีย เพราะเขาเห็นว่าแนวทางเก่าของรัฐบาลบุชนั้นปิดกั้นโอกาสแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทูต และเขายังคัดค้านเสียงเรียกร้องให้ขับรัสเซียออกจากกลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 8) เพื่อตอบโต้การที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าบุกจอร์เจีย แม้ว่าเขาจะประณามการกระทำดังกล่าวของรัสเซียก็ตาม
ทั้งนี้ การที่โอบามาได้รับความนิยมอย่างสูงนอกสหรัฐฯ ด้วย ทำให้เขามีโอกาสได้เปรียบในช่วงต้น และเขาจะต้องเร่งกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่ รวมทั้งประเทศต่างๆ ในยุโรปที่ค่อนข้างห่างเหินกับสหรัฐฯ ในยุคของบุช
กำลังโหลดความคิดเห็น