xs
xsm
sm
md
lg

สมพงษ์นอดถอดแผนทีเขมรฝ่ายค้านเฉ่งเอาผลประโยชน์ชาติแลกเพื่อแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานในการประชุมร่วมกันของของรัฐสภา วานนี้ (28 ต.ค.) ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการพิจารณา วาระเร่งด่วนที่ ครม.เป็นผู้เสนอ คือ กรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร และกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้
โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ได้ขอประชุมลับ เนื่องจากอาจกระทบบุคคลภายนอกและถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งนี้ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้มาร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมลับเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยบรรดาส.ส.และส.ว.ต่างรุมโจมตีแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้น นายสมพงษ์ได้ลุกขึ้นชี้แจงถึงความจำเป็นของการขออนุมัติความเห็นชอบจากรัฐสภาว่าต้องนำกรอบการเจรจาทั้ง 2 เรื่องนี้ไปใช้ในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาในการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(เจบีซี)ไทย-กัมพูชา ที่คาดว่าจะมีขึ้นภายในเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็น
โดยส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนโดยการอนุมัติกรอบเจรจาทั้ง 2 เรื่องว่าไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะยังเป็นแค่กรอบการเจรจาเท่านั้น ขณะที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวสนับสนุนให้อนุมัติกรอบเจรจาเหล่านี้ เพื่อให้ฝ่ายทหารและกระทรวงการต่างประเทศได้นำไปใช้ ในการเจรจากับกัมพูชา เพราะเชื่อว่าหน่วยงานเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญและจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติไว้ได้

เตือนเขตแดนจะรวมถึงผลประโยชน์ก๊าซ
ขณะที่ ส.ว.และส.ส.ฝ่ายค้านได้พลัดกันลุกขึ้นอภิปราย ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ พูดถึงกรณีการอ้างสิทธิ์บนพื้นที่รอบๆ บริเวณปราสาทพระวิหารและปัญหาจากการ ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยในส่วนของกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นาย คำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ได้ตั้งข้อสังเกต ถึงการเร่งรีบขออนุมัติกรอบการเจรจาเหล่านี้ว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชา หรือคนที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลไทยหรือไม่ เพราะสอดคล้องกับท่าทีของกัมพูชา ที่ต้องการนำเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาจะต้องนำ เสนอต่อยูเนสโก และเสนอให้รัฐบาลทบทวนแผนที่ฉบับปี ค.ศ.1904 หรือพ.ศ.2447ที่นำมาใช้อ้างอิง เพราะอาจทำให้ไทยต้องเสียดินแดน
นาย ไกรศักดิ์ ชุณหวัน ส.ส. สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่แค่เขตแดน แต่เป็นพื้นที่ที่จะโยงไปถึงเขตติดในทะเลด้วย ซึ่งจะมีผลประโยชน์ ในเรื่องของก๊าซ พื้นที่ที่เหลื่อมกันมีผลประโยชน์มหาศาล รายได้จากก๊าซธรรมชาติ เป็นพันล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังเห็นว่าไม่ควรนำแผนที่แนบท้ายมาใช้ในการ เจรจาบนโต๊ะเพราะเป็นแผนที่ของกัมพูชา หากเอามาเจรจาเท่ากับเราเสียเปรียบ

สมพงษ์ยอมดึงแผนที่เขมรออก
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายติติงถึงเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องกรอบข้อตกลงและกรอบการเจรจาไทย-กัมพูชา ว่ามีการแนบแผนที่ที่กัมพูชาอ้างอิง ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 2447 ที่ไทยไม่ยอมรับมาด้วยเนื่องจากขีดให้ ปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตกัมพูชา ซึ่งหากมีการพิจารณาผ่านไปอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้
ซึ่งในจุดนี้นายสมพงษ์ ได้ลุกขึ้นยอมดึงแผนที่ดังกล่าวออกจากเอกสารไป โดยไม่มีข้อท้วงติง
นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ ยังได้เสนอแนะว่าเจรจาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน ต่อไปนี้รัฐบาลที่ไปเจรจาต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ของประเทศหรือผลประโยชน์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการเจรจาว่าไทยต้องยึดหลักไม่เสียเปรียบกัมพูชา
ส่วนเรื่องการจัดทำหลักเขตแดน ขอให้รัฐบาลยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องนี้จะยึดพื้นที่ก่อนปี 2543 เพราะหลังจากนั้นได้มีการตั้งชุมชนบ้านเรือนแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปแล้ว

รมว.กต.รับเขมรตีสองหน้า
จากนั้นนายสมพงษ์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงอีกรอบ โดยระบุว่า ท่าทีของกัมพูชา เมื่อมาเจรจากับไทยแล้วจะมีท่าทียอมรับข้อเสนอของไทย แต่พอกลับไปยังประเทศตัวเองกลับมีท่าทีแข็งกร้าว ปรับเปลี่ยนท่าทีไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ทางรัฐบาลจะพยายามปกป้องแผ่นดินไทยไม่ให้เสียไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
อย่างไรก็ตามในส่วนของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ยืนยันต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า กระทรวงการตางประเทศได้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาแล้ว และฝ่ายกัมพูชาก็ได้แจ้งว่ารับทราบแล้วเช่นกัน

อาจารย์มธ.ยื่นค้านรัฐเร่งคุยเขตแดน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมรัฐสภา เมื่อเวลา 11.30 น. วันเดียวกัน ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ และนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือเสนอความเห็นคัดค้านเรื่องการส่งกรอบ การเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว ของรัฐบาลผ่านรัฐสภา ต่อนาย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา
โดยหนังสือระบุว่า ตามที่รัฐบาลเสนอกรอบการเจรจาในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) พวกตนขอคัดค้านและขอให้วุฒิสภา พิจารณาเรื่องดังกล่าว 3 ประเด็นคือ 1.ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ไทยยึดถือหนังสือสัญญาเป็นหลักมาตลอด ไม่ได้ถือแผนที่ แม้แต่การทำเอ็มโอยูไทย-กัมพูชาปี 2543 ก็ระบุชัดเจนว่า ดำเนินการในเจบีซีโดยถือหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คือสนธิสัญญา 1904 และ 1907 เป็นหลัก
2.แผนที่ตามผลงานการปักปันเขตแดนค.ศ.1904 ที่อ้างมา เป็นแผนที่ Annex 1 ข้อเท็จจริงคือฝรั่งเศสทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว ไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศส แม้แต่ศาลโลกปีพ.ศ.2505 ก็ไม่รับรองแผนที่ฉบับดังกล่าวให้นำมาพิจารณาในขณะนั้น การเข้าใจว่าเป็นผลงานการปักปันร่วมสยาม-อินโดจีน จึงผิดจากข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง
3.แผนที่ไทยและแผนที่ฝรั่งเศสซึ่งกัมพูชายึดถือ เป็นแผนที่คนละระวาง และคลาดเคลื่อนกันหลายจุด แต่เทคโนโลยีปัจจุบันด้านภูมิศาสตร์สามารถตรวจสอบได้ ถ้ากระทรวงการต่างประเทศหรือรัฐบาลต้องการ น่าจะตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนจะนำมายื่นอย่างมีพิรุธรีบเร่ง โดยอาจจะเร่งให้ทันวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2009 ตามที่มรดกโลกกำหนดกรณีปราสาทพระวิหารหรือไม่
4.หากดูปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา กับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแบบ องค์รวม ไม่ดูแยกส่วน จะเห็นว่ารัฐบาลทำไม่ถูกตั้งแต่แรกที่ไม่นำเรื่องขึ้นทะเบียนมรดกโลกในคราวนั้นเข้ารัฐสภา มีความผิดชัดตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลปกครอง แต่ยังจะนำผลสืบเนื่องจากที่ผิด มาดำเนินการต่อโดยไม่หยุดยั้งการกระทำของตน ฉะนั้นการนำกรอบการเจรจาดังกล่าวเข้าสภา มีคำถามว่า มีความชอบธรรมที่จะทำหรือไม่ จึงของให้วุฒิสภาพิจารณา และให้กำลังใจในการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนว ในกรอบของเจบีซี ที่รัฐสภาต้องพิจารณา ให้ความเห็นชอบในการประชุมวันที่ 28 ตุลาคม นั้น กำหนดว่า ให้เป็นไปตาม 3 กรอบคือ1.อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส แก้ไขข้อบทเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ.112 (ปีค.ศ.1893) ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่นๆฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ.122 (ปีค.ศ.1904)
2.สนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 (ปีค.ศ.1907) กับพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนแนบท้ายสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 (ปีค.ศ.1907)
3.แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาปีค.ศ.1904 และสนธิสัญญาฉบับปีค.ศ.1907 กับเอกสารอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับปีค.ศ.1904 และฉบับปีค.ศ.1907 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส

แดนเจ้ากรมแผนที่ทหารเสียชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแสดงท่าทีเมื่อครั้งเจรจาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา กรณีกัมพูขาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเขตแดนของไทย การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาเป็นมรดกโลก ไม่กระทบต่อพื้นที่ทับซ้อนของไทย-กัมพูชา ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากกรมแผนที่ทหาร เผยว่า เดิม พล.ท.แดน เป็นโรคมะเร็งลำไส้อยู่แล้ว และมากำเริชขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากเครียดภายหลังเกิดเหตุความไม่สงบบริเวณชายขแดนไทย-กัมพูชา จากกรณีปราสาทพระวิหาร จนมีการปะทะกัน ที่สำคัญสถานการณ์บ่งชี้ว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ตามมติ ครม.สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีส่งผลกระทบต่ออธิปไตยของประเทศไทย
สำหรับศพ พล.ท.แดน มีกำหนดสวดอภิธรรม ตั้งแต่ 26 ต.ค.ถึง 1 พ.ย. นี้ ณ ศาลา 7 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นจะเป็นการเก็บศพไว้ 100 วัน ก่อนที่จะดำเนินการตามประเพณีต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น