เหลือเวลาอีก 1 วัน สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวของ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ก่อนถึงวินาทีพิพากษายึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านอันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ โดยที่ตัวเขาเอง เหมือนกับล่วงรู้ล่วงหน้าว่าคดีนี้ สู้ไม่ได้โว้ย! อาจถูกยึดหมด เพราะหาก “ทักษิณ” ยังมีความหวังว่าจะได้รับความปรานีจากศาลสถิตยุติธรรม แน่นอน...คนอย่าง “ทักษิณ” จะไม่ออกมาแสดงอาการเหมือนกับหมาบ้า กัดไม่เลือกหน้า
ขณะที่พลพรรคเพื่อนแม้ว ก็ต่างสุมหัวคิดแผนชั่ว หวังสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง ถึงขั้นบางคนพูดเชิงข่มขู่ศาลว่า คดีนี้ไม่ว่า(ยึด หรือ ไม่ยึด)บ้านเมืองยังวุ่นวายไม่จบ ไม่สิ้นแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สำหรับ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่บอกว่า “สู้คดีซุกหุ้น กับสู้คดียึดทรัพย์” อารมณ์แตกต่างกัน หรือหนังคนละม้วนนั้น ก็เพราะตอนครั้งการต่อสู้คดีซุกหุ้น เป็นการต่อสู้ที่ “ทักษิณ” อยู่ในวาระเถลิงในอำนาจ ต่อสู้ด้วยตนเอง จนมั่นใจว่าเขาสามารถนำสืบให้ศาลเห็นว่า เขาไม่มีความผิด จนสุดท้าย เขาชนะคดี ตามคาด!!!
แต่กระไรก็ตาม...แม้ “ทักษิณ” กำชัยชนะในครั้งนั้น แต่ก็ยังคาใจประชาชนอีกจำนวนมาก ท่ามกลางกระแสข่าวว่าทักษิณ เขาสู้ด้วยหลักฐาน หรือ ใช้เงินในการต่อสู้
เมื่อมีหลักฐานปรากฏจากคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการเสียงข้างน้อยของ “ท่านประเสริฐ นาสกุล” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 78 ปีไปเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2552 ถือว่า น่าสนใจยิ่ง
เมื่อท่านชี้ชัดว่า “ทักษิณมีความผิด อีกทั้งประการสำคัญเสียงข้างน้อยของท่าน คือคำวินิจฉัยอิสระจากอามิสและอยู่เหนืออำนาจใด เป็นคำวินิจฉัยดุลยธรรมแทนใจมหาประชาชนต่อพฤติกรรมซุกหุ้นของทักษิณ”
โดยตอนหนึ่งระบุว่า...การพัฒนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยลอกเลียนความรู้จากกฎหมายของต่างประเทศในระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้เพียง อย่างเดียว แต่ไม่ใช้สติและปัญญานำเอาวิธีปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม ตลอดจนวิธีการป้องกันการเอาเปรียบ การเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ มาใช้ด้วย ประกอบกับการเอาความสะดวกสบายโดยไม่รู้จักคิด ปล่อยหรือยอมให้ผู้อื่นคิดแทน โดยไม่มีการพิจารณาว่า ระบบดังกล่าวสอดคล้องกับศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยหรือไม่ เพราะผู้นำเข้ามุ่งแต่การมีระเบียบ แบบแผน กฎหมาย และหวังในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขาดประสบการณ์ ไม่ทราบหรือคิดมาก่อนว่า ความรู้ที่นำมานั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเตรียมการป้องกันไว้ด้วย เช่น การประกอบธุรกิจแบบครอบครัวได้พัฒนาเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทเอกชน บริษัทมหาชน และกลุ่มบริษัท โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมเงินทุน
ผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) จะทราบความจริงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจและชัดถ้อยชัดคำว่า การที่ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ จนมีบริษัทในเครือและทรัพย์สินมากมาย โดยลอยหุ้นและใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทนนั้น “เป็นการประกอบธุรกิจตามธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้น” ทั้งๆ ที่การทำธุรกิจในระบบนายทุนของต่างประเทศเป็นการกระทำมุ่งแสวงหากำไร เป็นความโลภ และความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย นอกจากนี้ผู้ถูกร้องอ้างว่า เลิกกระทำธุรกิจหันมาทำงานการเมืองแล้วตั้งแต่ปี 2537 และมอบการบริหารธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้แก่คู่สมรส (ในกรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 110(2) บุตรและเครือญาติดำเนินการต่อไป (แทนที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 โอนหุ้นให้นิติบุคคล ซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การให้ทรัสต์จัดการทรัพย์สิน ในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นความคิดก้าวหน้าสำหรับประเทศไทย) และผู้ถูกร้องเข้าใจผิดว่า จำนวนประชาชนที่ออกเสียงเลือกผู้ถูกร้องในการเลือกตั้งทั่วไป เพราะผู้ถูกร้องเสนอโครงการต่างๆ เป็นที่ถูกใจได้นั้นมากมายมหาศาล แต่จำนวนประชาชนดังกล่าวมิได้มากกว่าจำนวนคนที่ทราบว่า ผู้ถูกร้องและคู่สมรสมีทรัพย์สินและหนี้สินจริงในวันยื่นบัญชีฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรคสอง เพราะประชาชนสิบเอ็ดล้านกว่าคนนั้นไม่ทราบจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินจริงของ ผู้ถูกร้องและคู่สมรสดีไปกว่าเลขานุการส่วนตัวเพียงสองคนของผู้ถูกร้องและ คู่สมรส เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผลของอดีตยังคงคิดและทำเหมือนเดิม เหมือนนักธุรกิจคนอื่นๆ ในระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่ยังคงเข้าใจผิดคิดว่า แนวความคิดที่จะบริหารประเทศของผู้ถูกร้องเป็นการคิดใหม่และทำใหม่ ไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ ซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วย “เงิน” อย่างเดียว
ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่า ผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินมีทองมากมาย ไม่ทุจริตผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมือง โดยการโอนการจัดการธุรกิจให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้องรู้ปัญหาของบ้านเมืองดี จึงอาสาเข้ามาแก้ไข
แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้องภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น กระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับประโยชน์ของส่วนรวม หรือของชาติอย่างไร
ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการ คิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมใจกันแก้ไข ด้วยการลด ละ และเลิก “ความเห็นแก่ตัว” เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มากและรวดเร็วเท่าใด จะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติสู่ความเป็นปกติรวดเร็วมาก ขึ้นเท่านั้น หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่าหมดหวัง เพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีข่าวที่ค่อยๆ เบี่ยงเบนประเด็นที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาทีละน้อยๆ และเป็นระยะๆ ว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจจนร่ำรวยด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่มีการทุจริต ผิดกฎหมาย ผู้ถูกร้องเป็นคนแรกที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชน ทราบ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ถูกร้องสมัครใจยื่นรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมเอง หากศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องกระทำผิด ก็เป็นการทำผิดโดยสุจริต ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ชะลอการตัดสินคดี หรือยกโทษให้ผู้ถูกร้อง ไม่ควรลงโทษผู้ถูกร้องซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนสิบกว่าล้านคน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีใครดีกว่าผู้ถูกร้อง ประเทศไทยขาดผู้ถูกร้องไม่ได้ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ศาลกระทำได้ และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกัน เพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่างๆ ดังกล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมิใช่เป็นการแสดง “ความเห็นแก่ตัว” ของคน
ดังนั้น จึงเห็นว่า เมื่อผู้ถูกร้องยอมรับว่า ผู้ถูกร้องมีทรัพย์สิน แต่ไม่ยื่นบัญชีฯ เพราะใช้ชื่อบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์แทน และประกาศให้ประชาชนทราบว่า ผู้ถูกร้องได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริต และโอนทรัพย์สินนั้นให้เป็นของคู่สมรสผู้ถูกร้อง และคู่สมรสผู้ถูกร้องจะโอนให้ใครก็ได้ ตนไม่ทราบ เมื่อตรวจดูพยานหลักฐานต่างๆ จึงพบความจริงว่า ผู้ที่รับโอนหรือ เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น แท้จริงเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวแต่ในนาม และโอนคืนทรัพย์สินนั้นให้คู่สมรสผู้ถูกร้องในเวลาเดียวกันกับที่โอน และบุคคลเหล่านั้นคือคนใกล้ชิดที่ผู้ถูกร้องและหรือคู่สมรสเคยใช้ชื่อถือ ทรัพย์สินมาก่อน ที่ผู้ถูกร้องอาสาเข้ามาทำงานการเมืองตั้งแต่ปี 2537 นั่นเอง ถือว่าผู้ถูกร้องและ/หรือคู่สมรสรู้ว่ามีทรัพย์สินในชื่อบุคคลอื่น หรือใช้ชื่อบุคคลอื่นถือแทน โดยมีเหตุผลและข้อเท็จจริงดังที่ผู้ถูกร้องกล่าวชี้แจงโดยละเอียดในหนังสือ ทั้งสามฉบับข้างต้น แต่จงใจยื่นบัญชีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตรองนายกรัฐมนตรี จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 และห้ามให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลาห้าปี นับแต่วันที่ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป
ย้อนกลับมาดู"ทักษิณ"วันนี้...ก่อนวันพิพากษายึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ที่ตั้งแต่เริ่มต้นคดี"ทักษิณ"ตัดโอกาสตัวเองที่จะมาต่อสู้ด้วยตนเอง แต่กลับหลบหนี และปล่อยให้ทีมทนายความ(หน้าหอ)ต่อสู้เพียงลำพัง จนเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนของศาล
ส่วนคำถามที่ว่า"ทักษิณ ชินวัตร"เขาคือบุคคลที่สมควรจะได้รับการปรานีจากศาล เพื่อให้เขากลับตัว กลับใจเป็นคนดีหรือไม่?
โดยคำถาม"ทักษิณ"กลับตัวได้หรือไม่ น่าจะมีคำตอบอยู่ในท้ายคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และคุณหญิง พจมาน ชินวัตร ภริยา ตกเป็นจำเลยในคดีประมูลซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก
โดยคำพิพากษา ระบุว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นนายกฯมีอำนาจบารมีเหนือรัฐมนตรีและมีอำนาจทางการเมืองสูงอีกทั้งฐานะการเงินมั่งคั่ง ตามหลักธรรมาภิบาลนายกรัฐมนตรี ภริยา หรือบุตรไม่สมควรเข้าไปประมูลซื้อเพราะการซื้อได้ราคาต่ำก็เป็นผลทำให้กองทุนฯมีรายได้น้อยลง
ขณะที่จำเลยที่ 2 (คุณหญิงพจมาน)มีผู้รู้จักจำนวนมาก ประกอบกับข้าราชการมีค่านิยมจำนนต่อผู้มีบารมีสูง นอกจากนั้น ยังอาจให้คุณให้โทษทางราชการได้
เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ให้บัตรประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงนามยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินย่อมถือได้ว่า เป็นการเข้าทำสัญญาด้วยตัวเอง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 100 (1) วรรคสาม ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการลงชื่อยินยอมเป็นเพียงทำตามระเบียบราชการ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขาย องค์คณะจึงมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 100 (1) วรรคสาม และต้องรับโทษตาม มาตรา 122 ขอต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
เมื่อพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิด ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายกฯ ได้รับมอบหมายให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่ง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่งให้ลงโทษจำคุก 2 ปี เนื่องจากจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 เพื่อมาปฏิบัติตามคำพิพากษาต่อไป
ส่วนท้ายสุดการต่อสู้คดียึดทรัพย์ของ"ทักษิณ"ในวาระที่เขาหมดซึ่งอำนาจ ไร้แผ่นดินอยู่ จะแตกต่างกับการต่อสู้ในคดีซุกหุ้น ที่เขาเถลิงในอำนาจหรือไม่ บ่ายแก่ๆวันที่ 26 ก.พ.นี้ มีคำตอบ!!!