xs
xsm
sm
md
lg

เกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้ สายใยรักจากวิทยาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดลิเมล์ - ซัสเกีย และอิโมเจน เกรแฮม ดูเหมือนสองพี่น้องสุขภาพดีและมีความสุขทั่วๆ ไป ถ้าจะไม่มีใครรู้ว่าเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว ซัสเกียป่วยหนักด้วยอาการผิดปกติรุนแรงของเม็ดเลือด และต้องปลูกถ่ายไขกระดูกโดยเร่งด่วนเพื่อรักษาชีวิต

โชคดีที่ซัสเกียมีผู้บริจาคที่เกิดมาเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ เธอคืออิโมเจน น้องสาวที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็น ‘น้องผู้ช่วยชีวิต’ ด้วยกระบวนการที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ จากการสร้างทารกขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีเนื้อเยื่อที่สามารถนำมาช่วยเหลือพี่ชายหรือพี่สาวที่เจ็บป่วยได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับหัวอกพ่อแม่ การตัดสินใจใช้ไขกระดูกของอิโมเจนยังเป็นเรื่องทำใจลำบากอย่างยิ่ง หนูน้อยอายุเพียง 19 เดือน และต้องพยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจากกระบวนการทางการแพทย์ที่แสนทรมาน

พระเจ้ายังเข้าข้าง การปลูกถ่ายไขกระดูกได้ผล และนอกจากโรคร้ายจะได้รับการรักษาแล้ว กระบวนการนี้ยังทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่จะยืนนานตราบชั่วชีวิตระหว่างซัสเกีย พี่สาววัยเจ็ดขวบ กับอิโมเจน น้องสาวที่ตอนนี้อายุสามขวบ

“การตัดสินใจให้ลูกผ่าตัดเป็นเรื่องบีบคั้นหัวใจที่สุดเท่าที่เราเคยพบมา ด้านหนึ่งนั้น ซัสเกียอาการแย่ลงทุกวัน และต้องการการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษาชีวิต

“แต่อีกด้าน การคิดว่าอิโมเจนที่ยังเล็กเหลือเกินต้องเข้ารับการผ่าตัดที่อาจพรากแกไปตลอดกาลก็เป็นเรื่องน่ากลัวเหลือเชื่อ แต่ที่สุดแกก็เสี่ยงเพื่อรักษาชีวิตพี่สาว” นาตาลี บาร์บ วัย 38 ปี แม่ของเด็กหญิงทั้งคู่บอก

ซัสเกียได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโลหิตจางที่เรียกว่า Diamond Blackfan Anaemia เมื่ออายุเพียง 11 สัปดาห์ โรคนี้จะมีอันตรายถึงชีวิตสำหรับผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 30 ปี หากต้องการใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ซัสเกียจะต้องได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่เหมาะสมก่อนอายุ 6 ขวบ ไม่เช่นนั้นอาการจะทรุดลงเรื่อยๆ

หมอบอกนาตาลี และสจ๊วร์ต เกรแฮม นายธนาคารวัย 36 ปี พ่อของเด็กหญิง ว่าโอกาสที่ดีที่สุดคือการหาผู้บริจาคจากสมาชิกในครอบครัว

ทว่า เมื่อตรวจอย่างละเอียด หมอพบว่าสองสามีภรรยา ซึ่งอาศัยอยู่ในเวสต์ลอนดอน รวมถึงลูกคนที่สองคือ อลิซ วัย 5 ขวบ ไม่สามารถบริจาคไขกระดูกให้ซัสเกียได้ นาตาลีและสจ๊วร์ตจึงต้องตัดสินใจเรื่องที่ยากยิ่ง นั่นคือการสร้างน้องผู้ช่วยชีวิต หรือทารกที่ได้รับการคัดเลือกทางพันธุกรรมเพื่อให้เป็นผู้บริจาคที่สมบูรณ์แบบสำหรับพี่ชายหรือพี่สาวที่ป่วยหนัก

อิโมเจนปฏิสนธิขึ้นมาจากเทคนิคการปฏิสนธินอกร่างกาย (ไอวีเอฟ) โดยใช้กระบวนการวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อน เพื่อให้มั่นใจว่าทารกน้อยผู้นี้จะเป็นผู้บริจาคที่เหมาะสมที่สุดสำหรับซัสเกีย

“เราดีใจมากตอนที่อิโมเจนเกิด ไม่ใช่เพราะแกเป็นเด็กน่ารักเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะแกเป็นผู้บริจาคที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับซัสเกีย อิโมเจนเกิดมาพร้อมความหวังเรืองรองที่เรารอคอยมานาน” นาตาลี โปรดิวเซอร์รายการทีวี เล่าและว่า

“ถึงอย่างนั้นก็ตาม การตัดสินใจใช้ไขกระดูกของแกเป็นเรื่องที่ทำใจยาก เรากลัวว่าจะเกิดความผิดพลาด และเราต้องสูญเสียไม่เพียงซัสเกีย แต่ยังรวมถึงอิโมเจนด้วย”

แพทย์รอจนอิโมเจนอายุครบ 19 เดือน เพราะมีโอกาสมากขึ้นที่จะรอดชีวิตจากการผ่าตัด ซึ่งที่สุดแล้วประสบความสำเร็จด้วยดี

ทั้งนี้ เรื่องน้องผู้ช่วยชีวิตยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในสังคม

“เราไม่เสียใจเลยที่จะยืนยันว่าอิโมเจนเป็นผู้บริจาคที่เหมาะสม เป็นรางวัลชีวิตอันเหลือเชื่อสำหรับเราที่วิทยาการการแพทย์ทำให้มั่นใจว่าเราสามารถรักษาชีวิตของซัสเกียได้”

ซัสเกียเป็นเด็กหนึ่งในหลายๆ คนที่อายุระหว่าง 2-18 ปี และได้รับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไขกระดูกของโรงพยาบาลเซนต์แมรีในลอนดอน
กำลังโหลดความคิดเห็น