xs
xsm
sm
md
lg

ภาพฝันสีสันสมจริงหรือขาว-ดำ ชี้ตัวแปรสำคัญหนังที่ดูตอนเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดิลเมล์ - ผลวิจัยพบความฝันของคนเราจะมีสีสันอย่างไร ขึ้นกับหนังจอแก้วและจอตู้ที่ดูตอนเด็ก หลังพบผู้ใหญ่วัย 55 ปีขึ้นไปที่เติบโตมาในยุคหนังขาวดำมีแนวโน้มเห็นภาพฝันเป็นสีเทา ขณะที่คนอายุ 25 ปีลงมาที่คุ้นตากับทีวีสีมักฝันเห็นเป็นสีสันสมจริง

ผู้จัดทำรายงานกล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นข้อยุติเรื่องถกเถียงที่ยาวนานนับทศวรรษว่าจริงๆ แล้วความฝันของคนเรามีสีสันหรือเป็นภาพขาว-ดำกันแน่

นักวิจัยในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ชี้ว่าความฝันส่วนใหญ่เป็นสีขาว-ดำ แต่ผลการทดลองในทศวรรษ 1960 และหลังจากนั้นบ่งชี้ว่า 80% ของภาพฝันมีสีอื่นปะปนอยู่ด้วย เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างหนังขาวดำกับหนังเทคนิคคัลเลอร์ ซึ่งถือเป็นคำอธิบายอย่างชัดเจนว่า ทีวีมีอิทธิพลต่อความฝัน แต่ผลการศึกษาที่แตกต่างกันทำให้นักวิจัยยังไม่กล้าสรุปในเรื่องนี้

การศึกษาหลังจากนั้นมีการขอให้กลุ่มตัวอย่างบันทึกความฝันลงในไดอารี่ทันทีที่ตื่น ขณะที่งานวิจัยก่อนหน้านั้นทำการสัมภาษณ์ในช่วงกลางวัน ดังนั้น กลุ่มตัวอย่างจึงอาจลืมองค์ประกอบสีในความฝันและสรุปว่าความฝันเป็นสีเทา

เพื่อคลี่คลายปัญหานี้ อีวา เมอร์ซิน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยดันดีในสก็อตแลนด์ จึงใช้วิธีการทดสอบทั้งสองแบบ กล่าวคือขอให้กลุ่มตัวอย่าง 60 คนที่ครึ่งหนึ่งอายุไม่ถึง 25 ปี กับอีกครึ่งหนึ่งอายุ 55 ปีขึ้นไป ตอบแบบสอบถามเรื่องสีในความฝัน รวมถึงหนังโรงและทีวีที่เคยดูตอนเด็ก

จากนั้น กลุ่มตัวอย่างถูกขอให้บันทึกแง่มุมต่างๆ ของความฝันลงในไดอารี่ทุกเช้า

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง เมอร์ซินพบว่าไม่มีความแตกต่างมากนักระหว่างผลลัพธ์จากแบบสอบถามและเรื่องราวความฝันในไดอารี่ จากนั้น เธอจึงนำข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์เพื่อหาว่า การเติบโตมาในยุคหนังขาว-ดำมีผลต่อความฝันของกลุ่มตัวอย่างเมื่อล่วงเลยมาถึง 40 ปีแล้วหรือไม่

ผลปรากฏว่า มีไม่ถึง 5% ของกลุ่มอายุต่ำกว่าวัยเบญจเพสที่เห็นภาพฝันเป็นสีขาว-ดำ ขณะที่มีเพียง 7.3% ของอีกกลุ่มที่ได้ดูหนังที่มีสีสันสมจริงในวัยเด็กที่เห็นความฝันขาว-ดำ

แต่สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่ได้ดูแต่หนังขาว-ดำตอนเด็กฝันเป็นสีขาว-ดำถึง 1 ใน 4

เมอร์ซินสรุปว่าอาจมีช่วงเวลาสำคัญในวัยเด็กที่การดูหนังมีอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบความฝัน แม้ใช้เวลาดูหนังวันละแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่ความสนใจและการมีอารมณ์ร่วมอาจอยู่ในระดับสูงมากในช่วงเวลานั้น ทำให้เกิดภาพประทับในสมอง

อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะพิสูจน์ว่า แท้จริงแล้วความฝันเป็นสีขาว-ดำ หรือการรับภาพจากสื่อเปลี่ยนแปลงวิธีที่สมองสร้างภาพความฝันขึ้นมาใหม่เมื่อคนเราตื่นขึ้นกันแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น