xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:ใช้ระบบพหุภาคีแก้วิกฤตศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดเงิน ในระบบสินเชื่อ และในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งผลให้ความกังวลที่มีอยู่เดิมต่อสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ด้านการลดความยากจนของโลกในปัจจุบัน อันสืบเนื่องมาจากปัญหาราคาอาหารและน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆได้ขยายวงกว้างขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนและตุลาคมนั้น อาจผลักดันให้สถานการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาหลายต่อหลายประเทศ ซึ่งแต่เดิมก็ค่อนข้างล่อแหลมหรือเปราะบางอยู่แล้ว ทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤตได้

เมื่อระบบที่ได้ถูกสร้างไว้ให้เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกกำลังส่อให้เห็นว่ามีรอยร้าว เราก็จำเป็นที่จะต้องค้นหากลไกใหม่ ๆ เข้ามาช่วย ประเด็นสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ ระบบพหุภาคีที่จะสอดคล้องกับความเป็นไปของโลกในปัจจุบันมากที่สุดนั้น น่าจะเป็นระบบพหุภาคีที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นระบบที่นำความแข็งแกร่งของเครือข่าย และของสถาบันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และควรจะเป็นระบบแก้ไขปัญหาแบบยึดผลลัพธ์ในการปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมวิถีทางแห่งความร่วมมือเป็นสำคัญ

ระบบพหุภาคีที่เราควรจะริเริ่มขึ้นใหม่นี้ จักต้องมีการแบ่งปันความรับผิดชอบในการดูแลความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกให้ทั่วถึงมากขึ้น และประกอบไปด้วยสมาชิกซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ของภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่าคนอื่นด้วย เช่นนี้แล้ว เราจึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนคำบัญญัติความของระบบพหุภาคีทางเศรษฐกิจของโลกเสียใหม่ เพื่อให้ความสำคัญต่อปัจจัยอื่น ๆ ที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงให้แก่โลก มิใช่เฉพาะการเงินและการค้าดังที่เป็นมาใน

ระบบพหุภาคีที่โลกต้องการนี้ จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นก็ต่อเมื่อมีความร่วมมือและมีแรงผลักดันจากสมาชิกแต่ละประเทศ ระบบที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันคือระบบ G-7 นั้นยังถือว่ามีข้อบกพร่องอยู่มาก เราจำเป็นที่จะต้องสรรค์สร้างระบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะของโลกในปัจจุบันมากขึ้น ระบบใหม่ที่เราจำเป็นจะต้องมีนี้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของ“คณะทำงานหลัก” ซึ่งจะประกอบไปด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบเศรษฐกิจโลกต่าง ๆ ที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความรู้กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถคาดคะเนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีรวดเร็วขึ้น สามารถรวบรวมประเทศสมาชิกอื่นๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และทำหน้าที่ “บริหาร” ความแตกต่างของแต่ละประเทศไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการประสานประโยชน์ของโลกโดยรวม

คณะทำงานหลักที่จะทำหน้าที่ดูแลระบบพหุภาคีใหม่นี้ ควรที่จะมีบราซิล จีน อินเดีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ และกลุ่มประเทศ G-7 ในปัจจุบันเป็นสมาชิก คณะทำงานนี้จำเป็นที่จะต้องมีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ และมีการสนทนาแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกันผ่านทั้งช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่สำคัญ คณะทำงานนี้จำเป็นที่จะต้องเป็นมากกว่าแค่ “กลุ่มประเทศ G-14” เพราะมันจะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดเลยหากเราแค่เปลี่ยนชื่อจาก G-7 เป็น G-14 โดยที่ไม่เปลี่ยนวิถีการทำงานด้วย

แม้สภาวการณ์ในปัจจุบันจะยากลำบากสำหรับโลก แต่วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังมาพร้อม ๆ กับโอกาสด้วย ขณะนี้มีประเทศหลายประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบแก้ไขปัญหาแบบพหุภาคีในปัจจุบันที่มีความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ให้ผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้ ดังนั้น ภาระกิจเร่งด่วนของเราจึงควรจะเป็นการปรับปรุงระบบและตลาดเงินตลาดทุนของโลกนั้นให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันต่อเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น