ไชน่าเดลี่ – เศรษฐกิจพญามังกรมีความสามารถในการแข่งขันดีวันดีคืน ล่าสุด เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัมเลื่อนชั้นให้อยู่อันดับที่ 29 ของโลกในปีนี้ ขณะที่มะกันก้าวถอยหลัง ร่วงหล่นจากอันดับหนึ่งไปอย่างไม่น่าเชื่อ
การจัดอันดับดังกล่าว ซึ่งทำขึ้นในหมู่ 133 ชาติ ปรากฎอยู่ในรายงานว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันทั่วโลกระหว่างปี 2552-2553 (Global Competitiveness Report 2009-2010) ของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (1 ก.ย.2552)
รายงานระบุว่า การก้าวรุดหน้าของยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตของโลกชาติหนึ่งอย่างจีนเกิดขึ้นในท่ามกลางวิกฤตการเงินโลกครั้งรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่คราวเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ1930 เป็นต้นมา
ในขณะที่สหรัฐฯนั้น กลับถูกสวิตเซอร์แลนด์สอยตำแหน่งชาติ ที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกไปได้
นอกจากนั้น พญามังกรยังคงนำหน้าในหมู่ชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนารายใหญ่ โดยมีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 และมีเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งมีเสถียรภาพมากที่สุดเป็นอันดับ 8
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความคืบหน้าในหลายด้าน ยังมีจุดบกพร่องอื่น ๆ ที่จีนจำเป็นต้องแก้ไข เช่น ตลาดการเงิน (ติดอันดับที่ 81), ความพร้อมด้านเทคโนโลยี (ติดอันดับที่79),การศึกษา (ติดอันดับที่ 61) ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบ่งบอกชัดเจนว่า ชาติซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลกรายนี้ไม่อาจพึงพาแรงงานราคาถูกในสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป
“จีนไม่ควรภาคภูมิใจจนเกินไปว่าขีดความสามารถในการแข่งขันปรับปรุงดีขึ้น ถึงเวลาแล้ว ที่จีนควรเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนา มิเช่นนั้นเราก็แทบไม่อาจคาดหวังได้เลยว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของจีนจะมีความคืบหน้ายิ่งขึ้นไปอีก” หวัง อี้โจว นักวิจัยฝ่ายการศึกษาเศรษฐกิจและการเมืองโลกของสถาบันรัฐศาสตร์จีนให้ความเห็น
รายงานฉบับนี้ยังแนะว่า จีนควรหันมามุ่งปรับปรุงในด้านประสิทธิภาพ และการขาดแคลนด้านประสิทธิภาพอาจเป็นปัญหา ที่ท้าทายการตั้งเป้าเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่ำสุดร้อยละ8 ของรัฐบาลก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จีนสามารถพึ่งพาบรรยากาศด้านธุรกิจ ซึ่งได้มีการพัฒนา (ติดอันดับที่38) และความสามารถด้านนวัตกรรม (ติดอันดับที่26)
นอกจากนั้น สภาพการคลัง ที่ดีกว่าคนอื่นของจีนยังเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศ, การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อปี 2547 ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของจีนอยู่ที่อันดับ 46 และจากนั้น ก็มีความคืบหน้าเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 30
ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันทั่วโลกของรายงานฉบับนี้พิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งหมด 12 หลักเกณฑ์ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน,เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค,สุขภาพ และการศึกษาขั้นประถม, ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า และตลาดแรงงาน ฯลฯ