xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีคุณลักษณะเด่นๆ 5 ประการดังต่อไปนี้ คือ

ประการแรก สังคมนั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของปรัชญาและหลักการที่เน้นสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ถ้าไม่มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคก็ไม่ถือว่าเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ประการที่สอง จะต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (elected government) แต่การเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นตัวแทนอย่างแท้จริง (representativeness) ซึ่งหมายความว่า การลงคะแนนเสียงที่เป็นแต่เพียงพิธีกรรมทางการเมืองยังไม่เพียงพอ จะต้องมีการเป็นตัวแทนโดยผู้ลงคะแนนเสียงลงคะแนนด้วยการตัดสินใจด้วยตนเอง (voluntary participation) ไม่ใช่การปลุกเร้า (mobilization) หรือการล่อด้วยอามิสสินจ้างคือการซื้อเสียง

ประการที่สาม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการมีส่วนร่วมนั้นจะต้องเป็นการมีส่วนร่วมโดยสมัครใจและตั้งใจด้วยตนเอง มิใช่ถูกจูงมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยการแสดงจำนวนให้ปรากฏต่อสาธารณชน การมีส่วนร่วมในการเรียกร้องทางการเมืองจะต้องมีเหตุมีผล สอดคล้องกับความถูกต้องตามกฎหมายและความชอบธรรมทางการเมือง

ประการที่สี่ ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะต้องมีการปกครองโดยยึดหลักนิติธรรม โดยเริ่มต้นจากกระบวนการออกกฎหมายจะต้องมีความโปร่งใส ตั้งอยู่บนหลักการของความถูกต้อง มีเหตุมีผล การบังคับกฎหมายจะต้องประกอบด้วยกระบวนการยุติธรรม และมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง

ประการที่ห้า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะต้องสามารถคัดสรรตัวบุคคลที่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการแก้ปัญหาสังคม พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ ผู้รับผิดชอบในการบริหารนั้นจะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม

ระบบการเมืองคือกระบวนการทางการเมืองที่มีเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ และตอบสนองต่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อใดก็ตามที่ระบบการเมืองนั้นไม่สามารถจะคัดสรรตัวบุคคลได้ ตัวผู้นำทางการเมืองบ่อยครั้งไม่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ระบบนั้นคือระบบที่ล้มเหลว เช่น ถ้าการเลือกตั้งหมายถึงการได้นายกรัฐมนตรีที่ขาดความรู้ความสามารถ ขาดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการทำงาน มีคณะรัฐมนตรีที่ต้องพิจารณาจากสัดส่วนของพรรค โดยที่บุคคลเหล่านั้นไม่มีคุณสมบัติที่จะทำงานได้ ระบบนั้นก็ล้มเหลวเพราะไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าเป็นระบบการเมืองที่ดี นอกจากนี้การเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นตัวแทนอย่างแท้จริง หากแต่เป็นพิธีกรรมทางการเมือง จำนวนมากของเสียงก็กลายเป็นความชอบธรรมที่แปลกปลอม และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ระบบดังกล่าวก็ย่อมไม่ใช่ระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ปลุกเร้าเพื่อต่อสู้กับศัตรูทางการเมือง โดยการกระทำที่ผิดกฎหมายและขาดความชอบธรรมทางการเมืองก็ไม่ใช่การมีส่วนร่วมที่พึงประสงค์ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การออกกฎหมายโดยมีระเบียบวาระซ่อนเร้นไม่ใช่หลักนิติธรรม การบังคับกฎหมายที่ลำเอียงไม่เสมอภาคก็ขัดกับหลักนิติธรรมอย่างเห็นได้ชัด

โดยสรุป การเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียวไม่ใช่เป็นเครื่องพิสูจน์ของความเป็นประชาธิปไตย ระบบประชาธิปไตยต้องมีการตรวจสอบอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจ ที่สำคัญที่สุดต้องจะต้องสะท้อนถึงความเป็นตัวแทน (representativeness) ของประชาชนอย่างแท้จริง และระบบนั้นต้องสามารถคัดสรรตัวบุคคลที่ดีที่สุดมาบริหารประเทศ เมื่อใดก็ตามที่ขาดคุณลักษณะดังกล่าวมา ระบบนั้นก็เป็นเพียงประชาธิปไตยในรูปแบบไม่ใช่ประชาธิปไตยเนื้อหา จำนวนเสียงที่ได้มานั้นเป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าเป็นอาณัติจากประชาชน หรือแม้การอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งก็เป็นคำกล่าวอ้างที่ขาดน้ำหนัก เนื่องจากไม่มีความเป็นตัวแทนอย่างแท้จริงเพราะเป็นเสียงที่ได้จากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง

คำถามก็คือ จะปฏิรูประบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน มีความเป็นตัวแทนในลักษณะได้ดุลอย่างไร ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะต้องประกันว่าทุกภาคส่วนของประชาชนมีความเป็นตัวแทนอย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลายเป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักในการนำไปสู่อำนาจรัฐที่ผูกขาดอันเนื่องมาจากจำนวนที่มากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ในอังกฤษจึงมีการถ่วงดุลระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมตั้งแต่ต้นคือชนชั้นเจ้า ขุนนาง พระ และประชาชนทั่วไป โดยต่างฝ่ายต่างมีสิทธิมีเสียงที่จะแสดงออก เพราะประเทศเป็นของทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน ประเด็นจึงอยู่ที่การพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม มีพื้นที่ที่จะแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องสิทธิของตน

เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การได้อำนาจรัฐโดยความชอบธรรม การเลือกตั้งที่ไม่นำไปสู่ความเป็นตัวแทนของประชาชนจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง ในอดีตที่ผ่านมาได้มีวิธีที่จะสร้างดุลยภาพดังกล่าวด้วยการสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งและมีวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง มีนายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง มีการเรียกร้องความเสมอภาคทางการเมืองระบบ one man one vote จึงมีการเน้นหนักในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่สิ่งที่ปรากกฎขึ้นในความเป็นจริงบ่งชี้ให้เห็นว่า ระบบดังกล่าวไม่สามารถสร้างความเป็นตัวแทนได้ในทุกภาคส่วน และการเลือกตั้งบกพร่องในแง่การสร้างความชอบธรรมทางการเมือง จำนวน ส.ส. ที่ได้มาจากการซื้อเสียงจึงไม่สามารถสร้างความชอบธรรมทางการเมืองได้ เพราะเสียงดังกล่าวนั้นไม่มีการสะท้อนถึงความเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง อันเนื่องจากเป็นเสียงที่มาจากการปลุกเร้าและอามิสสินจ้างมากกว่าการลงคะแนนเสียงด้วยการตัดสินใจด้วยตนเองตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

การให้มีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวจำนวนหนึ่ง กับการให้กลุ่มอาชีพทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ นักธุรกิจ นักวิศวกร นายแพทย์ ครูบาอาจารย์ ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร ฯลฯ ให้มีการเลือกตัวแทนจากกลุ่มของตนตามสัดส่วนที่พึงมี เพื่อผสมผสานกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวในสัดส่วนที่ได้ดุล น่าจะเป็นการประกันความเป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ในสังคม จนไม่เกิดการเอียงกระเท่เร่ไปยังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นทางออกที่น่านำไปพิจารณา

รายละเอียดในเรื่องดังกล่าวนี้จะต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไป แต่หลักการใหญ่ขณะนี้ก็คือการสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สะท้อนถึงการเป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน มีการถ่วงดุลอำนาจ สะท้อนถึงความเป็นพหุนิยม (pluralism) ของสังคม เพื่อให้การเลือกตั้งนั้นสะท้อนถึงการเป็นตัวแทนและมีความชอบธรรมอย่างแท้จริงบนหลักการเสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ มิใช่เสียงที่มาจากการปลุกเร้าและการใช้อามิสสินจ้าง เพราะนั่นเป็นเพียงภาพลวงตาและข้ออ้างที่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น