xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตสิ่งทอญี่ปุ่นค้นพบทางรอด เกาะเทรนด์แฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - แฟชั่นแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นแค่คอนเซ็ปท์ที่น่าชื่นชมเท่านั้น แต่ยังเป็นทางออกทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ผลิตสิ่งทอแดนปลาดิบ

ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ผ้าฝ้ายรีไซเคิลไปจนถึงผ้าแคชเมียร์ย้อมสีอินทรีย์ และการปฏิวัติวงการโดยการทำให้ผ้าขนแกะไม่หดเมื่อเปียกน้ำโดยไม่ใช้สารเคมี เป็นนวัตกรรมส่วนหนึ่งที่จัดแสดงอยู่ในปารีส เพื่อโน้มน้าวดีไซเนอร์ระดับหัวกะทิของเมืองหลวงแฟชั่นของโลก

“พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้รอดชีวิต ผู้ผลิตสิ่งทอคุณภาพต่ำล้มหายตายจากไปหมดแล้วเพราะไม่สามารถแข่งกับจีนเรื่องราคาได้” ไซโกะ ฟูจิ-เลอซาจ จากเจ-เท็กซ์ บอก

ผู้ผลิตสิ่งทอกลุ่มที่ว่าตัดสินใจว่า ตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาตัวเองให้อยู่รอดในเกมการแข่งขันต่อไป

ฟูจิเท็กซ์ ที่สร้างชื่อจากความหรูหรา และได้รับเกียรติเข้าสู่ทำเนียบกินเนสส์ บุ๊กสองครั้งๆ หนึ่งในฐานะผู้ที่ยอมจ่ายแพงที่สุดสำหรับขนแกะเมอริโนจากออสเตรเลีย และอีกครั้งจากการเป็นผู้ขายผ้าจากขนวิคูนาที่มีราคาแพงที่สุดนั้น ภูมิใจนำเสนอผ้าแคชเมียร์รุ่นใหม่ที่ย้อมด้วยสารสกัดจากพืช เช่น ทับทิม อะเคเซีย และกานพลู

“เราพยายามใช้สีย้อมจากธรรมชาติแทนสารเคมี เพราะคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกควรร่วมกันแก้ไข” โทรุ ฟูจิตะ ประธานฟูจิเท็กซ์ บอก

ฟูจิตะยังย้ำว่า การที่บริษัทนำวิคูนาจากเทือกเขาแอนดีส ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ มาสต็อกไว้นั้น มีการจัดซื้อโดยถูกต้องตามกฎหมายป้องกันการล่าสัตว์ของรัฐบาลเปรู

วิคูนาเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกับลามา และอัลปาคา ขนของมันนุ่มและให้ความอบอุ่นได้ดี ทว่า วิคูนาแต่ละตัวมีขนน้อยจึงต้องตัดขนกันทุกสามปี ทำให้ผ้าจากขนสัตว์ชนิดนี้มีราคาแพงถึงเมตรละ 6,700 ดอลลาร์

วิธีการของฟูจิเท็กซ์คือ นำสีย้อมจากธรรมชาติมาย้อมผ้าฝ้ายซึ่งปลูกตามแนวเกษตรอินทรีย์ โดยสีย้อมเหล่านี้มีแหล่งกำเนิดจากภูมิภาคต่างๆ เช่น สีเหลืองจากแคว้นโพรวองซ์ทางใต้ของฝรั่งเศส สีแดงจากหินเอเยอร์ในออสเตรเลีย และเบนิการา หรือออกไซด์แดงที่ปกติแล้วใช้ในการถนอมไม้ มาจากเมืองนากาโตมิในญี่ปุ่น

สิ่งทอของฟูจิเท็กซ์ยังเป็น ‘อิโควอช’ หรือที่นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทอวดอ้างว่า เป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ขนแกะไม่หดเมื่อโดนน้ำ

วิธีการก็คือใช้โอโซน ซึ่งเป็นสารที่เกิดตามธรรมชาติ แทนคลอรีนที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยโอโซนจะคืนออกซิเจนให้สภาพแวดล้อมและทำร้ายเส้นใยผ้าน้อยกว่า ทำให้ผ้านุ่มขึ้น

เช่นเดียวกัน นอกจากใช้ผ้าฝ้ายรีไซเคิล 100% สำหรับการผลิตผ้าขนหนู และชุดกีฬาแล้ว มินามิ ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตเสื้อถัก ยังค้นพบวิธีการฟื้นสภาพวัสดุเหลือใช้จากการผลิตเสื้อขนมิงค์ โดยการนำขนด้านในที่ปกติมักทิ้งกัน มาทอปนกับผ้าฝ้ายอินทรีย์เป็นสิ่งทอหรูที่รอดพ้นจากการโจมตีของกลุ่มต่อต้านการใช้ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์

ขณะที่มิยาชินกำลังทดสอบการนำไม้ไผ่มาผสมกับกระดาษพื้นบ้านของญี่ปุ่นและผ้าไหม ผ้าที่ออกมาอาจดูหนักแต่ความจริงเบาอย่างเหลือเชื่อ ผิวสัมผัสเหมือนลูกพีช ซึ่งบริษัทออกตัวว่ายังเป็นเพียงต้นแบบ และจะมีการปรับปรุงต่อไป

ขณะเดียวกัน ทาคาฮาชิค้นพบประโยชน์ใหม่จากผ้าฝ้ายหนาหนักที่นักยูโดสวมใส่ นั่นคือการนำมาผลิตเสื้อคลุมราคาแพงและผ้าคลุมโซฟา

โทเอะ-นิต และเอโอนา ไพล์ คือผู้บุกเบิกเทคนิคในการผลิตผ้าแจ็กการ์ดเวอร์ชันใหม่ โดยฝ่ายแรกใช้เครื่องจักรทรงกลมเพื่อผลิตผ้าแจ็กการ์ดที่มีแพทเทิร์นทรงเรขาคณิต ดูอ่อนช้อยราวผ้าลูกไม้แม้มีไนลอนผสมอยู่เพื่อให้ผ้าคงทนก็ตาม

ส่วนเอโอนาผลิตผ้าแจ็คการ์ดที่ดูเหมือนผ้ากำมะหยี่เนื้อหนา แต่จริงๆ แล้วเบาหวิวคล้ายขนสัตว์ปลอม ซึ่งบริษัทเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอนาคต

โนบูเอกิ แอนโดะ ผู้จัดการฝ่ายขายของเอโอนา เชื่อว่ากุญแจสำหรับการอยู่รอดที่แท้จริงคือนวัตกรรม

“เราไม่เคยหยุดวิจัยและผลิตวัสดุใหม่ๆ และเราหยุดไม่ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น