xs
xsm
sm
md
lg

ททท. “ทันสถานการณ์!”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

สถานการณ์ด้านการเมืองน่าจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากที่เราได้ “นายกรัฐมนตรีคนที่ 26” เรียกว่า “ใหม่ถอดด้าม-เอี่ยมอ่อง” พร้อมกันนี้ ก็ขอแสดงความยินดีกับ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับ “ความที่ไม่เคยใฝ่ฝัน” และ “คาดถึง” เลยว่า ในชีวิตนี้จะได้นั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” แห่งประเทศไทย

ด้วยบุคลิกอุปนิสัยใจคอของคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่สุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ก้าวร้าว จะลดอุณหภูมิกับการสร้างเงื่อนไขข้อขัดแย้งได้มากโขทีเดียว ซึ่งมั่นใจว่านายกฯ สมชายจะสามารถสร้างความราบรื่นให้กับ “รัฐนาวา-สมชาย1” ไปได้ดีพอสมควร จนกว่า “คดียุบพรรคการเมือง” จะมีการวินิจฉัยออกมา น่าจะปลายปี 2551 หรือไม่ก็ช่วงไตรมาสแรกปี 2552

ในขณะเดียวกันการยกเลิก “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” นับว่าเป็นกรณีที่สร้างคุณูปการแก่ชาติบ้านเมืองอย่างยิ่ง ทั้งต่อ “ความเชื่อมั่น-ภาพลักษณ์” ของประเทศชาติในประเด็นด้านเศรษฐกิจ

เราอย่าลืมว่าเมื่อประกาศสภาวะฉุกเฉิน เวลาประกาศเป็นภาษาอังกฤษคือ “State of Emergency” ที่ฝรั่งมังค่าฟังแล้ว ต้องเรียกว่า “สะดุ้งโหยง!” เสมือนว่า ประเทศไทยกำลังเจอสภาวะคับขัน และอาจจินตนาการเลยเถิดไปเลยว่าเกิด “สงครามกลางเมือง” กับประเทศไทย

ฝรั่งและชาวต่างชาติอื่น ความจริงที่เราต้องยอมรับว่าเวลาเขาอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวจากโทรทัศน์ เขาก็จะเชื่อตามนั้น พร้อมทั้ง “คิดเกินเลย-คิดเลยเถิด” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า ชาวต่างชาติจะจินตนาการภาพที่ใหญ่โตกว่าความเป็นจริง และแน่นอนเลวร้ายกว่าที่เป็นจริงเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น การยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ถือว่า “ลบล้าง” ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่ขาดหายไปได้มากพอสมควร ส่งสัญญาณต่อชาวต่างชาติว่า สถานการณ์บ้านเมืองเรากำลังกลับสู่สภาวะปกติ

ทั้งนี้ ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนต้องขอขอบคุณต่อ “กองทัพไทย” ที่ไม่ได้นำพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้กับกลุ่มม็อบแต่ประการใด สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่มีอำนาจอยู่เต็มมือในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มิได้ดำเนินปฏิบัติการแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลรักษาการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกต่างหาก!

จากการสำรวจของหลากหลายสถาบันการศึกษา ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วง 2-3 สัปดาห์นั้น สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล โดยเฉพาะ ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แต่ที่เจ็บหนักที่สุดคือ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ที่ทำให้นักท่องเที่ยวในช่วงสภาวะวิกฤต นั้น “ยกเลิก (Ccncel)” เที่ยวบินทั้งแบบระบบแพกเก็จทัวร์และท่องเที่ยวเดี่ยว และ/หรือกับโรงแรมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว “เจ๊งทั้งระบบ!”

นอกเหนือจาก “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” แล้ว “อุตสาหกรรมการส่งออก” ก็ได้รับผลกระทบไม่ด้อยไปกว่ากันเช่นเดียวกัน เนื่องด้วย นักธุรกิจชาวต่างชาติที่ต้องเดินทางเข้าออกเพื่อสั่งสินค้าและตรวจสินค้า ไม่กล้าเดินทางมาเมืองไทยเลย เนื่องด้วยหวั่นเกรงว่า สนามบินจะถูกปิด เหมือนที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ ส่วนนักธุรกิจที่เพิ่งจะเริ่มสนใจสั่งสินค้าจากประเทศไทย เบนเข็มไปทางกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านหมด อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และประเทศจีนเกือบหมด ทำให้บ้านเราขาดหายเม็ดเงินในการลงทุนสำหรับการส่งออกเพียงแค่ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น นับมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังไม่นับถึงความเสียหายจากการชะลอการลงทุนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น นักท่องเที่ยวจะลดลงประมาณ 250,000 คน สูญเสียรายได้เกือบ 10,000 ล้านบาท เพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น ช่วงต้นเดือนกันยายน

ในส่วนที่สำคัญที่สุดคือ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ที่ได้รับผลแบบทันตาเลยทีเดียว ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างยกเลิกกันทั่วทุกภาคส่วนจากสังคมโลก ผลกระทบจากความเสียหายของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนี้ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” ต้องบอกว่า “สะดุ้งโหยง!” เช่นเดียวกัน โดยที่ท่านผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ คุณพรศิริ มโนหาญ ได้เล่าให้ฟังว่า จากการเก็บสถิติล่าสุด ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ถึงวันที่ 10 กันยายน เท่านั้น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพียงประมาณ 195,000 คน ลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2550 ที่มีถึง 270,000 คน รายได้หายไปมากถึงประมาณ 2,700 ล้านบาท ความเสียหายทั้งหมดนี้คำนวณจากนักท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณ 9 วันต่อคนที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 4,200 บาทต่อคนต่อวัน

เราต้องขอชมเชย “การตื่นตัว” และ “การปรับตัว” อย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ได้พลิกสถานการณ์กอบกู้วิกฤตแบบทันควัน ด้วยการให้สำนักงานการท่องเที่ยวฯ ที่อยู่ในต่างประเทศทั่วโลกเร่งทำการประชาสัมพันธ์กับ “บริษัท-เอเยนซี” ท่องเที่ยวประจำเมืองและประเทศนั้นๆ ทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว ว่าสถานการณ์ไม่ได้ฉุกเฉินเลวร้ายปานนั้น!

นอกจากนั้น ททท.ยังได้ทำ “โรดโชว์-เดินสาย” อย่างทันท่วงที กับกลุ่มประเทศที่เคยประกาศห้ามนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยประมาณ 5 ประเทศ จนสูงไปถึง 10 กว่าประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เลยไปจนถึงกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ด้วยการชี้แจงสร้างความเข้าใจว่าประเทศไทยไม่ได้ประสบปัญหาสงครามกลางเมือง เช่นนั้น

การปฏิบัติการแบบเร่งด่วนของ ททท. ในช่วงวิกฤตในครั้งนี้ สามารถฉุดให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ลงเหวเลวร้ายไปมากกว่านี้ พูดง่ายๆ ว่า “ทันการณ์!” ไม่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ต้องเสียรายได้สูญหายตายจากไปมากกว่านี้ เพียงแค่ 2-3 สัปดาห์ก็ทำให้รายได้ขาดหายไปนับแสนล้านบาททีเดียว

การท่องเที่ยวฯ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าปี 2551 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยให้ได้สูงถึงนับล้านคน สร้างมูลค่าทางเม็ดเงินได้สูงถึง 700,000-800,000 ล้านบาท แต่น่าเกรงว่าปี 2551 นี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวน่าจะมีรายได้สูงสุดประมาณ 500,000 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ต้องขอชื่นชมการทำงานของทั้งท่านผู้ว่าฯ การท่องเที่ยว พรศิริ มโนหาญ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ททท. ที่ได้ปฏิบัติการอย่างทันสถานการณ์แก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติให้หันกลับมาเที่ยวที่ประเทศไทย ขาดรายได้ไม่ถลำลึกไปมากกว่านี้

การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว สร้างผลลัพธ์และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล มิเช่นนั้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 อาจจะเลวร้ายไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่มีการวิเคราะห์กันว่า “อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ-ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ-จีดีพี (GDP)” ของปี 2551 นี้ น่าจะโตถึงระดับ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ “แสงแดด” ว่าน่าจะโตสูงสุดเพียงร้อยละ 4.8

แถมด้วยปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะนี้ที่บรรดาสถาบันการเงินและวาณิชธนกิจระดับยักษ์ใหญ่อย่าง เลห์แมน บราเธอร์ ล้มละลายเช่นนี้ ต้องบอกเลยว่า “พายุเศรษฐกิจสหรัฐฯ” ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ “ล้มเป็นโดมิโน” อีกหลายสถาบัน ซึ่งแน่นอนจะทำให้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกพลอยได้รับผลกระทบกระเทือนไปทั่วโลก หรือพูดง่ายๆ ก็หมายความว่า “สภาวะเศรษฐกิจโลก” จะเดินเข้าสู่ “สภาวะถดถอย” และ “ทรุด” ในที่สุด อีก 2 ปี ข้างหน้า

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เกิดจาก “ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพด้านอสังหาริมทรัพย์-ซับไพร์ม” ที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ก่อตัวหมักหมมมานานไม่ต่ำกว่า 2 ปี และเคยฟันธงมาแล้วว่าปัญหาดังกล่าวจะยืดเยื้อและส่งผลกระทบไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยเช่นเดียวกัน แต่เท่าที่ได้รับข้อมูลจากททท.นั้นค่อนข้างสบายใจว่าได้กำหนดกิจกรรมและโครงการต่างๆ รองรับหรือ “ตั้งป้อม” ไว้เรียบร้อยพอสมควร อาทิ การทำโรดโชว์ที่ประเทศจีนถึง 3 เมือง “ซีอาน-เสิ่นเจิ้น-เซียะเหมิน” เจาะทัวร์เศรษฐีรุ่นใหม่ที่นิยมแพกเก็จทัวร์ “แต่งงาน” ซึ่งน่าจะมีตัวเลขสูงถึงเกือบ 3 แสนคน อาจสร้างรายได้สูงถึง 2 แสนกว่าล้านบาท โดย ททท.ได้สร้างเครือข่ายไว้เรียบร้อยแล้ว

แพกเก็จทัวร์แต่งงานนี้จะเป็นการแต่งงานแบบเอกลักษณ์ไทย ซึ่งปัจจุบันชาวจีนหรือฝรั่งนิยมกันมากที่จะมาจัดงานแต่งงานแบบครบสูตรที่เมืองไทย เนื่องด้วย “เสน่ห์” ของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย

ถึงแม้ว่า สภาวะเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัญหาอย่างไร แต่ก็น่าเชื่อว่า อุตสาหกรรมหลักทั้งสอง กล่าวคือ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว-ส่งออก” น่าจะได้รับผลกระทบเพียงแค่ร้อยละ 15-20 เท่านั้น แต่การเมืองไทยต้องเร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและ “ฝีมือ” ในการทำงานอย่างเร่งด่วนที่สุด

ก็หวังว่าสถานการณ์ชาติบ้านเมืองน่าจะคลี่คลายลงได้มากนับจากนี้ไป พร้อมทั้งขอชื่นชม “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” ที่คอยเฝ้าเกาะติดสถานการณ์ พร้อม “พลิกเกม” เล่นกิจกรรมได้ตลอดเวลา!
กำลังโหลดความคิดเห็น