xs
xsm
sm
md
lg

ดิสทริบิวเตอร์ดีแทคทุ่ม800ล. ผุดยูดีทาวน์ลุยค้าปลีกอุดรธานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิสทริบิวเตอร์ดีแทค ทุ่ม 800 ล้านบาท ผุดชอปปิ้งมอลล์ ยูดีทาวน์ กลางเมืองอุดรธานี พื้นที่เช่าจากการรถไฟฯ มั่นใจสู้เจ้าเก่าได้แน่

นายวรพล วีรชาติยานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมงบลงทุนรวมกว่า 700-800 ล้านบาท ในการพัฒนาพื้นที่ทั้ง ยูดีทาวน์ ซึ่งเป็นเอาท์ดอร์ชอปปิ้งมอลล์แห่งแรกในภาคอีสาน มูลค่า 300 ล้านบาท และก่อสร้างโรงแรมในอนาคต ด้วยงบกว่า 500 ล้านบาท โดยเป็นงบบริษัทฯ 60% และเงินกู้ 40% มีทุนจดทะเบียนบริษัท 300 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะมีรายได้ปีละ 150 ล้านบาท

โดยได้รับสัมปทานสัญญาเช่าที่ดิน 25 ไร่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย สัญญาเช่า 34 ปี เริ่มเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จะแบ่งออกเป็น 2 เฟสคือ เฟสแรกพื้นที่ 14 ไร่ สร้างเป็นยูดีทาวน์ เป็นอาคารสามระดับ คือ เรียงกัน 1-2-3 ชั้น แบ่งเป็น 5 โซนคือ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าและแฟชั่น สินค้าและบริการเกี่ยวกับความงาม ซูเปอร์มาร์เก็ตและเอนเตอร์เทนเม้นต์ ธนาคารและเทคโนโลยี ส่วนเฟสที่สองพื้นที่ 11 ไร่ สร้างเป็นโรงแรม ซึ่งในส่วนยูดีทาวน์นั้น แบ่งสัดส่วนพื้นที่ เป็นชอปปิ้งมอลล์ 51% และ 49% เป็นพื้นที่ส่วน ซึ่งทั้งโครงการมีพื้นที่รวมมากกว่า 30,000 ตารางเมตร

"ในอุดรธานี ปัญหาใหญ่คือ การหาพื้นที่แปลงดีๆขนาดใหญ่นั้นยากมากพื้นที่ที่เราได้มาถือว่าดีมาก ซึ่งที่ตั้งของยูดีทาวน์ห่างจาก ห้างโรบินสันอุดรเจริญศรีเพียงประมาณ 800 เมตรเท่านั้น แต่ก็แตกต่างกันของเราเป็นเอาท์ดอร์ชอปปิ้งมอลล์แนวราบแต่ของเขาเป็นห้างสรรพสินค้าแนวสูง และแนวคิดก็ไม่เหมือนกันด้วย"

นายวรพลมองว่า แม้ว่าห้างเซ็นทรัลจะมาเปิดบริการที่ขอนแก่น ก็คงไม่เกี่ยวกันไม่มีผลกระทบแน่ เพราะห่างไกลกัน อีกทั้งราคาค่าเช่าพื้นที่ของเราถูกกว่า 50% ด้วยราคาอยู่ที่เฉลี่ย 700-1,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน

การที่บริษัทฯมั่นใจลงทุนกว่า 300 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างยูดีทาวน์นั้น เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการก่อสร้างต่ำเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบ ซึ่งเมื่อเสร็จเปิดบริการได้ปีหน้า ภาวะเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวพอดี อีกทั้งยังมั่นใจกับทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านค้าปลีกมากกว่า 10 คนที่เข้ามาร่วมงาน ซึ่งมาจากห้างใหญ่ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้บริษัทฯได้เคยเจรจากับกลุ่มทุนใหญ่หลายกลุ่มเช่น ไมเนอร์กรุ๊ป และจังค์ซีลอน เพื่อที่จะร่วมทุนกันพัฒนาโครงการดังกล่าว แต่เนื่องจากติดขัดในหลายปัญหาและไม่ลงตัว จึงทำให้การเจรจาต้องยุติไป จนในที่สุด บริษัทฯจึงได้ลงทุนเอง

"ผมมั่นใจงานนี้ ผมคลุกคลีกับอุดรธานีมากว่า 40 ปี ทำธุรกิจสื่อสารในฐานะรีจินัลดิสทริบิวเตอร์ให้กับดีแทคกว่า 14 ปี ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 11 จังหวัด ในนามบริษัท ทีไอเอส เทเลคอม มีรายได้กว่า 150 ล้านบาทต่อดือน ทำให้รู้จักตลาดและพฤติกรรมคนจังหวัดนี้ดี และเชื่อมั่นศักยภาพของอุดรธานีด้วย ที่ถูกออกแบบจัดการอย่างดี ทั้งคมนาคม บริการสาธารณะ การคมนาคมทางอากาศ ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้นรายได้ต่อประชากรเพิ่มขึ้น 15% และยังมีชาวตางชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่กว่า 30,000 คน และยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศลาวอีกกว่า 160,000 คนต่อเดือนเข้ามาจับจ่ายที่อุดรธานี สร้างรายได้อย่างมาก จึงเหมาะสมที่จะมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ทั้งนี้พฤติกรรมผู้บริโภคจังหวัดอุดรธานีเป็นกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ ชอบจับจ่าย ชอบใช้ชีวิตนอกบ้าน และนักท่องเที่ยวจากลาวก็เป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง"

ในโครงการมีพื้นที่มากกว่า 100 ยูนิต ซึ่งแต่ละร้านสามารถสร้างแบรนด์อแวร์เนสจากทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้างได้มากกว่าศูนย์ฯอื่นซึ่งได้เจรจากับพันธมิตรกว่า 30 รายจากเป้า 60 ราย ที่สนใจเช่น ไมเนอร์ฟู้ดกรุ๊ป, ไมเนอร์แฟชั่นกรุ๊ป, เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป, เซ็นทรัลรีเทลคอร์ปอเรชั่น, ดีแทค, ไอซีซี, โอบองแปง, แดปเปอร์, วัตสัน, สลิมอัพ เป็นต้น

นายวรพล กล่าวว่าในช่วงแรกนี้จะใช้แผนสื่อสารการตลาด วางงบประมาณ 30 ล้านบาทบใช้กลยุทธ์ครบวงจรทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นโดยเพื่อเป็นการสร้างกระแสได้นำพื้นที่เฟสสองมาเปิดเป็น ยูดีพลาซ่า ไปก่อนเป็นการชั่วคราว เปิดปลายปีนี้แนววอล์คกิ้งสตรีท
กำลังโหลดความคิดเห็น