xs
xsm
sm
md
lg

“โรงเอทานอลแม่สอด”คืบ 80%เดินเครื่องธันวาฯตั้งเป้าผลิต 60 ล้านลิตร/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล บริษัทแม่สอด พลังงานสะอาด จำกัด รุดหน้าไปมากแล้ว คาดว่าปลายปีนี้เริ่มการผลิตได้
ตาก- โรงงานเอทานอลแม่สอด มูลค่า 2,500 ล้าน คืบหน้าแล้วกว่า 80% คาดเดินเครื่องผลิตเป็นแห่งแรกของเอเชียอาคเนย์ได้ธันวาคมปีนี้ วางเป้าผลิตเอทานอล 60 ล้านลิตร/ปี พร้อมเร่งขยายพื้นที่ปลูกอ้อยให้ได้สูงสุด 60,000 ไร่รองรับ จากขณะนี้มีเกษตรกรในเครือข่ายร่วมปลูกแล้ว 2.7 หมื่นไร่

นายดำรง ภูติภัทร์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทแม่สอด พลังงานสะอาด จำกัด เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการการร่วมทุนระหว่างบริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด(มหาชน)-บริษัทเพโทรกรีน จำกัดและบริษัทไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) ว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% และคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม 2551

โดยมี 3 อาคารหลัก คือ อาคารลูกหีบ,อาคารหม้อต้มและถังหมักเอทานอล รอการลำเลียงอุปกรณ์เครื่องจักรจากต่างประเทศมาติดตั้ง สำหรับอาคารบอยเล่อร์(Boiler)เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกากอ้อย ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงวันละ 16 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตภายในโรงงาน และเพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าอำเภอแม่สอด ภายในพื้นที่โครงการ 614 ไร่

“โรงงานผลิตเอทานอลแม่สอด ที่ผลิตจากอ้อย เป็นแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ จะผลิตเอทานอลได้วันละ 200,000 ลิตรหรือกว่า 60 ล้านลิตรต่อปี กำลังหีบอ้อย 5,000 ตันต่อวัน โดยมีพื้นที่รองรับการปลูกอ้อยกว่า 60,000 ไร่ ใช้แรงงานท้องถิ่นมากกว่า 2,000-3,000 คน มีการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 3,000 คัน และเป็นการลดการขาดทุนดุลน้ำมัน-ลดการใช้น้ำมันเบนซิน และการลดสภาวะเรือนกระจกทดแทนการนำเข้าน้ำมัน โดยจะมีเงินสะพัดและกระจายในพื้นที่จำนวนมากในช่วงเปิดดำเนินการ สร้างงานและรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่นและความเจริญเติบโตของแม่สอด” นายดำรง กล่าว และว่า

สำหรับราคาอ้อย จะมีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เป็นผู้กำหนด แต่จะอยู่ในช่วงราคาตันละ 800-900 บาท ส่วนเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบการบำบัดต่างๆ มีขั้นตอนการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ 1.ทางอากาศ มีระบบควบคุมเขม่าควัน มีระบบป้องกันน้ำเสียโดยระบบปิด มีบ่อบำบัดน้ำเสียได้ 80,000 ลบ.เมตร และระบบการกำจัดกากอ้อยโดยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าและปุ๋ย นอกจากนี้บริเวณภายในโครงการจะปลูกต้นไม้และปรับทัศนียภาพด้วยธรรมชาติ

นายสมคิด แจ่มจำรัส ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมชาวไร่ บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีพื้นที่ปลูกอ้อยปัจจุบัน 27,000 ไร่ และต้องการเพิ่มถึง 60,000 ไร่ เกษตรกรไม่มีเงินทุนบริษัทจะออกให้ก่อนและหักหนี้หลังตัดผลผลิต ซึ่งเกษตรกรหมดกังวลเรื่องการตลาดและราคา เพราะรัฐบาลประกันราคา ส่วนผลผลิตสามารถป้อนเข้าโรงงานได้ภายในสิ้นปี 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น