ตาก- โรงงานเอทานอลแม่สอด มูลค่า 2,500 ล้าน คืบหน้าแล้วกว่า 80% คาดเดินเครื่องผลิตเป็นแห่งแรกของเอเชียอาคเนย์ได้ธันวาคมปีนี้ วางเป้าผลิตเอทานอล 60 ล้านลิตร/ปี พร้อมเร่งขยายพื้นที่ปลูกอ้อยให้ได้สูงสุด 60,000 ไร่รองรับ จากขณะนี้มีเกษตรกรในเครือข่ายร่วมปลูกแล้ว 2.7 หมื่นไร่
นายดำรง ภูติภัทร์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทแม่สอด พลังงานสะอาด จำกัด เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอล ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการการร่วมทุนระหว่างบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท เพโทรกรีน จำกัดและบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% และคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคม 2551 นี้
โดยมี 3 อาคารหลัก คือ อาคารลูกหีบ, อาคารหม้อต้มและถังหมักเอทานอล รอการลำเลียงอุปกรณ์เครื่องจักรจากต่างประเทศมาติดตั้ง สำหรับอาคารบอยเลอร์ (Boiler) เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกากอ้อย ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงวันละ 16 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตภายในโรงงาน และเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าอำเภอแม่สอด ภายในพื้นที่โครงการ 614 ไร่
“โรงงานผลิตเอทานอลแม่สอดที่ผลิตจากอ้อยเป็นแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ จะผลิตเอทานอลได้วันละ 200,000 ลิตร หรือกว่า 60 ล้านลิตรต่อปี กำลังหีบอ้อย 5,000 ตันต่อวัน โดยมีพื้นที่รองรับการปลูกอ้อยกว่า 60,000 ไร่ ใช้แรงงานท้องถิ่นมากกว่า 2,000-3,000 คน มีการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 3,000 คัน และเป็นการลดการขาดทุนดุลน้ำมัน-ลดการใช้น้ำมันเบนซิน และการลดสภาวะเรือนกระจกทดแทนการนำเข้าน้ำมัน โดยจะมีเงินสะพัดและกระจายในพื้นที่จำนวนมากในช่วงเปิดดำเนินการ สร้างงานและรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่นและความเจริญเติบโตของแม่สอด” นายดำรง กล่าว และว่า
สำหรับราคาอ้อยจะมีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เป็นผู้กำหนด แต่จะอยู่ในช่วงราคาตันละ 800-900 บาท ส่วนเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และระบบการบำบัดต่างๆนั้น มีขั้นตอนการรักษาสิ่งแวดล้อม คือ 1.ทางอากาศ มีระบบควบคุมเขม่าควัน มีระบบป้องกันน้ำเสียโดยระบบปิด มีบ่อบำบัดน้ำเสียได้ 80,000 ลบ.เมตร และระบบการกำจัดกากอ้อยโดยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าและปุ๋ย นอกจากนี้บริเวณภายในโครงการจะปลูกต้นไม้และปรับทัศนียภาพด้วยธรรมชาติ
นายสมคิด แจ่มจำรัส ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมชาวไร่ บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีพื้นที่ปลูกอ้อยปัจจุบัน 27,000 ไร่ และต้องการเพิ่มถึง 60,000 ไร่ เกษตรกรไม่มีเงินทุนบริษัทจะออกให้ก่อนและหักหนี้หลังตัดผลผลิต ซึ่งเกษตรกรหมดกังวลเรื่องการตลาดและราคา เพราะรัฐบาลประกันราคา ส่วนผลผลิตสามารถป้อนเข้าโรงงานได้ภายในสิ้นปี 2551 นี้