xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจประชาชนกับอำนาจของปวงชน

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ผมไปพูดที่เวทีพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบฯ เป็นครั้งที่ 2 มีเวลาจำกัดแค่ 20 นาที เรื่องที่จะพูดเป็นเรื่องใหม่ คือทางเลือกระหว่างการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่

การเมืองเก่าเป็นอย่างไรนั้น กับผู้ที่มาชุมนุมเป็นอาทิตย์ๆ หรือเป็นเดือนๆ ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ผู้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ASTV ที่บ้านหรือในต่างประเทศก็เช่นเดียวกันการเมืองเก่าได้แก่ทุกอย่างที่เขาเกลียดในระบอบทักษิณ

ส่วนการเมืองใหม่นั้น ไม่ว่าจะเป็นคำนิยามใหม่ เช่น ประชาภิวัฒน์ก็ดี หรือสูตร 30-70 ก็ดี คืออะไร ยังไม่มีใครซึมซับนัก แม้แต่ผู้พูดก็ตาม ได้แต่ขออย่างเดียว อย่าให้ผู้ฟังเหมือนแขกที่ไปฟังสวดอภิธรรมศพเลย 90% ไม่รู้ว่าพระท่านเทศน์อะไร ถึงเวลาก็สาธุ ยกมือไหว้ตามทำเนียม

แม้แต่พระที่เทศน์ทุกองค์ผมก็ไม่แน่ใจว่าท่านเข้าใจแจ่มแจ้งหรือเปล่า ที่เป็นพระนวกะที่รับนิมนต์มาให้ครบนั้นคงไม่ต่างกับแขกแน่ๆ ฉันใดก็ฉันนั้น คือการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ

แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งดี ไม่น่าตกใจ หรือนำมาโจมตีทั้งในแง่วิชาการหรืออุดมการณ์ โดยนักวิชาการหอคอยงาช้าง หรือพวกกินปูนร้อนท้องเลย เพราะกว่าจะมีการเมืองใหม่ ก็ต้องมีจุดและเวลาเปลี่ยนผ่านที่น่าจะต้องกินเวลาพอสมควร การที่พันธมิตรฯ ปลุกตื่นและให้ความรู้แก่ประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วม เป็นการเริ่มต้นที่วิเศษปัญหามีอยู่ว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร จึงจะมิใช่การผลิตสินค้าสำเร็จรูปเอามาตั้งขาย

การเมืองใหม่ต้องเน้นที่ขบวนการ ซึ่งจะต้องต่อเนื่อง มีพลัง และเป็นประชาธิปไตย

คำว่าประชาภิวัฒน์ผมได้ยินครั้งแรกจากความคิดเห็นของท่านผู้อ่านในคอลัมน์เรื่อง General Uprising ของผม จะเป็นใครผมไม่ทราบ หลังจากนั้นกว่าอาทิตย์ แกนนำของพันธมิตรฯ ก็นำมาเสนอ อาจจะเป็นการพ้องกันโดยบังเอิญก็ได้

คำว่า อภิวัฒน์เป็นคำที่นายปรีดีนำเสนอให้ใช้เป็นคำแปลของ Revolution แทนคำว่าปฏิวัติที่ไปว่าหมุนกลับไปข้างหลัง การปฏิวัติของเราก็เป็นดังนั้นทุกครั้ง

ถ้าให้ผมเดาใจ พันธมิตรฯ ผู้พูดคงอยากให้คำว่าประชาภิวัฒน์ตรงกับคำว่า People Revolution หรือการปฏิวัติประชาชน แต่ในขั้นตอนของการชุมนุมที่ยังไม่ถึง 120 วันนี้ ผมว่าขอเป็นเพียงการสังเคราะห์ระหว่าง People Power and People Sovereignty ได้แก่ อำนาจประชาชนบวกกับอำนาจ(อธิปไตย)ของปวงชนเข้าด้วยกัน ก็เห็นจะพอดี

ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งปวดหัวนะครับ ถึงมันจะยังไม่สนุก มันก็ไม่มีอะไรยากเกินเข้าใจหรอก ถ้าเข้าใจแล้ว เราจะมองอะไรๆ ในการเมืองออกเยอะ ใคร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลกับสื่อและนักวิชาการทาส) จะมาหลอกลวงเรายาก

เอาเรื่องอำนาจประชาชนหรือ People Power ก่อน อธิบายตรงๆ อีกทีอำนาจประชาชนก็คือ สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงสิทธิที่เข้าร่วมสมาคม สหพันธ์ สหภาพ พรรคการเมือง หรือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมต่างๆ ในทางการเมือง รวมทั้งการคัดค้าน ขัดขืนอำนาจของรัฐบาล จนกระทั่งถึงการใช้กำลังขับไล่รัฐบาลเมื่อรัฐบาลนั้นเป็นกบฎต่อประชาชน สิทธิหรืออำนาจดังกล่าวอาจนำมาใช้ตามวาระ เช่น การเลือกตั้งเป็นครั้งเป็นคราว เช่น การสไตร์ก การประท้วง ประชามติ หรือบางครั้งก็กราดเกรี้ยวเหมือนฟ้าผ่าหรือพายุใหญ่ที่หอบหิ้วภูเขามาทั้งลูก ทั้งที่เป็นอารยะขัดขืนหรือการลุกฮือขึ้นขจัดรัฐบาล เปรียบกันแล้ว สิทธิและอำนาจของประชาชนหาที่สุดมิได้ เหมือนกับกระแสไฟฟ้าที่ล่องลอยอยู่ในนภากาศ ในขณะที่อำนาจของรัฐบาลมีจำกัดเปรียบเหมือนประจุไฟฟ้าที่นำมาใช้เป็นตู้เย็น พัดลม หรือเตารีดซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของปลั๊กและคนปิดเปิด

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือ Sovereignty ประชาชนเพียงมอบอำนาจบางอย่างให้รัฐบาลไปเพื่อรับใช้ประชาชนเป็นการชั่วคราวเท่านั้น พูดจริงๆ แล้วประชาชนเป็นนาย รัฐบาลเป็นบ่าว คนใช้ไม่มีสิทธิมาเบ่งกับนายไม่ว่าในกรณีหรือสถานการณ์เช่นใด ซึ่งก็เห็นได้ในประชาธิปไตยตะวันตกในพิธีการต่างๆ หรือแม้แต่ภาษาที่ใช้ ก็จะเห็นศัพท์ที่เบ่งโดยประชาชนกับศัพท์ที่หงอโดยรัฐบาล เป็นต้น ครับต่างกับของเราคนละโลก

ครับทีนี้สนุกขึ้นหน่อย ผมจะเอาเรื่องจริงมาเปรียบเทียบให้ฟัง เริ่มด้วย People Power หรือการลงมือใช้อำนาจประชาชนจริงๆ ในการต่อกรกับผู้ใช้อำนาจรัฐหรือรัฐบาล ท่านผู้อ่านลองเดานะครับว่าผมพูดถึงใคร

“เมื่อเขาได้เถลิงอำนาจขึ้นถึงดวงดาวแล้ว เขาก็ชักไยทุกอย่างเหมือนบรมครูหุ่นกระบอก เขารวบอำนาจเข้ามาไว้โดยครอบงำการตลาดอย่างชาญฉลาด เครื่องมือการประชาสัมพันธ์และสื่อทุกอย่างตกอยู่ใต้อิทธิของเขาหมดไม่มีเหลือ เขาประยุกต์ศิลปะของการติดสินบน แจกจ่ายรางวัลและเป็นอุปถัมภกทางการเมืองอย่างเยี่ยมยอด ศัตรูของเขาค่อยๆ หายไปทีละคนสองคน ถูกดูดมาร่วมค่ายเป็นมิตรหรือไม่ก็เป่าให้หายสาปสูญไป ใครที่อยู่คนละข้างกับเขาก็หมดขวัญและกำลังใจ เขาปกครองประเทศเหมือนกับเป็นบริษัทส่วนตัวของเขา คุมทหาร คุมสภา คุมระบบราชการ คุมสื่อ และธุรกิจอุตสาหกรรมทุกประเทศ เขาและหุ้นส่วนทางการเมืองต่างก็ร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาล แต่ประเทศและประชาชนกลับจนลงๆ”

และในที่สุด ประชาชนก็หมดความอดทน ในการชุมนุมประท้วง ประชาชนหลั่งไหลออกมาเต็มท้องถนน บ้างก็มาทั้งครอบครัวตั้งแต่คุณย่าถึงทารก ไม่มีใครกลัวคำขู่ของรัฐบาลว่ายอมไม่ได้ สั่งไปแล้วทั้งตำรวจและทหาร จำเป็นจะต้องทำอะไรก็ต้องทำ จะปล่อยให้แก๊งข้างถนนมาทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ยังไง

แต่ประชาชนกลับหลั่งไหลมาเพิ่มขึ้น บรรยากาศของการชุมนุมเหมือนละครโรงใหญ่ หาบเร่และของที่ระลึกขายกันสนุก ประชาชนขับขานร้องเพลง โห่ฮาและเต้นรำ พวกเขาพากันกินและนอนบนถนนฟังเพลงและรายการ...

ท่านผู้อ่านเดาว่าไงครับ ผมแปลคร่าวๆ มาจากภาษาฝรั่งนะครับเนี่ย หรือว่าฝรั่งมันบรรยายเหตุการณ์ที่มัฆวานฯ หรือสะพานชมัยมรุเชฐหน้าโรงเรียนราชวินิตช่างฟ้อง

ผิดนะครับ ข้างบนนี้เป็นเรื่องอำนาจที่เกือบจะเป็นการปฏิวัติประชาชนของฟิลิปปินส์ แต่พันธมิตรฯ ทำได้ดีกว่า ล้ำหน้าไปอีกหลายชั้น เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกันกับความชั่วของสมัคร-ทักษิณ ขนาดมาร์กอสแทบกลายเป็นนักเรียนประถมไปเลย

ในที่สุดลูกพี่อเมริกันก็ส่งเฮลิคอปเตอร์มารับลูกน้องคนโปรดและครอบครัวไป ลี้ภัยในอเมริกา รัฐบุรุษคนหนึ่งของฟิลิปปินส์รุ่นก่อนมาร์กอสสักยี่สิบปี คือ คลาโร เรคโต ได้เอ่ยไว้วลีหนึ่งที่เป็นที่จดจำในหมู่นักการเมืองฟิลิปปินส์ นั่นก็คือ “It’s terrible to die in the foreign land” หรือ “มันเป็นความสลดเหลือที่จะต้องตายในเมืองต่างด้าว” นั่นคือ ชะตากรรมของมาร์กอส เผด็จการขวัญใจของอเมริกัน พวกเราพึงจำไว้ด้วยว่า อเมริกันโปรดปรานสมุนที่เป็นเผด็จการมากกว่าที่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นตัวของตัวเอง

อำนาจประชาชนฟิลิปปินส์ไล่มาร์กอสสำเร็จ แต่ก็ล้มระบบมาร์กอสไม่สำเร็จ เป็นระบบมาร์กอสโดยศัตรูของมาร์กอส แต่ก็ไม่ต่างกันที่เป็น “การเมืองเก่า” ที่ชนชั้นนายทุนและนักการเมืองกังฉินผลัดกันขึ้นมาครอบครอง คนจนก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม และคนรวยก็ยังขับเคลื่อนสวาปามต่อ ทุนนิยมสามานย์กลับเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

ตัวอย่างฟิลิปปินส์จะให้บทเรียนอะไรแก่เราได้บ้าง ผมขอลอกมาก่อนจะแปล

“ What the story of the Philippines demonstrates is the power people can have when they withdraw consent. The same dynamics apply , no matter what the issue. Had Filipinos decided to go on and struggle for a more equitable distribution of wealth, abolition of the military. Or a decentralized government that was more responsive to their needs, who knows what more amazing things they might have achieved

บทเรียนจากฟิลิปปินส์สอนให้เรารู้ว่า อำนาจประชาชนเมื่อเขาเรียกความยินยอมคืนกลับมานั้นเป็นอย่างไร พลังของประชาชนนี้ย่อมจะเหมือนกันไม่ว่าที่ไหนและเรื่องอะไร ถ้าหากเขาสู้ต่อเพื่อจะให้การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การยุติลัทธิอำนาจนิยมทหาร การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่รับใช้ความต้องการของประชาชน ใครจะรู้ว่าความสำเร็จที่เขาได้รับจะนำมาซึ่งสิ่งมหัศจรรย์อย่างเหลือหลาย”

นี่แหละครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพ คือบทเรียนที่ผมอยากจะฝากให้ท่านผู้อ่าน พันธมิตรฯ และพี่น้องประชาชนได้นำมาพิจารณา

การต่อสู้ที่ยาวนานที่อำนาจประชาชนกับอำนาจ(อธิปไตย)ของประชาชนจะเกลื่อนกลืนกันเป็นสิ่งเดียว และนำมาซึ่งเสรีภาพ สาธารณประโยชน์และความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

ถึงแม้จะเหนื่อย ถึงแม้จะเนิ่นนาน และถึงแม้จะหมายความว่า การรบเอาอำนาจอธิปไตยคืนมาจากแก๊งที่มันปล้นเราไป ก็ต้องยอม

และที่สำคัญที่สุด พี่น้องประชาชนจะต้องไม่แปลกแยกออกจากทหาร ยังมีทหารของชาติ ครอบครัวและลูกหลานของทหารและตัวของเขาเองเมื่อถอดเครื่องแบบเวลาเลิกงานหรือกลับจากกรมกอง

ทหารที่เป็นประชาชนแท้จริงของประชาชาติประชาชนที่เป็นทหารที่แท้จริงของกองทัพ นายสิบ นายร้อย นายพัน และนายพลที่เป็นทหารอาชีพ มิใช่ทหารการเมืองที่ทำอะไรก็ต้องคอยโผ ทำอะไรก็ต้องคอยงบประมาณ

เพราะทหารก็เหมือนกับประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบ เมื่อหนึ่ง+หนึ่ง กลายเป็นหนึ่งเมื่อไร

คอยดูเถอะ ประชาภิวัฒน์จะกลายเป็นการปฏิวัติประชาชน (พลเรือน+ทหาร ) จงคอยดู
กำลังโหลดความคิดเห็น