xs
xsm
sm
md
lg

"บรรลัย" ตามคำสาบาน มติศาลรธน.9-0 ไล่"หมัก"พ้นนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- มติศาลรัฐธรรมนูญ เอกฉันท์ 9 เสียง เชือด"หมัก" พ้นเก้าอี้นายกฯ-รมว.กลาโหม ระบุ"รับจ้าง" เป็นพิธีกร ชิมไปบ่นไป เข้าข่ายเป็น"ลูกจ้าง" มีพฤติการณ์เสมือนเป็นหุ้นส่วนบริษัทที่ได้รับประโยชน์ ขัดมาตรา 267 แถมยังยังส่อพิรุธทำหลักฐานย้อนหลังหวังตบตาให้พ้นผิด พร้อมชี้ ครม.ยังสามารถรักษาการต่อไป จนกว่าจะชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ด้าน"พลังแม้ว"ไม่สนแผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ยันหนุน"หอกหัก"นั่งนายกฯ รอบสอง อ้างยังมีคุณสมบัติครบถ้วน "ปู่ชัย" รับลูก เตรียมเปิดสภาให้โหวตนายกฯคนใหม่ศุกร์นี้ ขณะที่สังคมทุกภาคส่วนค้านขรม ระบุ"หอกหัก"ไร้จริยธรรม มีผู้นำอย่างนี้ ขายขี้หน้าชาวโลก

วานนี้ ( 9 ก.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีกำหนดนัด อ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 ( 7) ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อันเนื่องจากเป็นพิธีกรรายการ "ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ในเวลา 14.00 น. ซึ่งปรากฏว่า บรรยากาศภายในบริเวณศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า โดยคณะตุลาการฯได้มีการประชุม และแถลงด้วยวาจาก่อนลงมติ ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นาย ที่มาคอยดูแลรักษาความเรียบร้อยบริเวณโดยรอบ ขณะที่สื่อมวลชนทั้งไทย และต่างประเทศกว่า 200 คน ต่างไปเฝ้ารอทำข่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้ถึงเวลานัดอ่านคำวินิจฉัย คู่กรณี นำโดย ผู้ร้อง คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา พ.อ.สันธิรัตน์ มหัทธนชาติ เลขาอนุฯสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวของกกต. ที่ได้รับมอบอำนาจ และนายธนา เบญจาธิกุล ทนายความ ผู้รับมอบจากนายสมัคร เดินทางรอฟังคำวินิจฉัย ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายสมัคร ประมาณ 30 คน เดินทางมาชุมนุมหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยถือป้ายระบุข้อความให้กำลังใจนายสมัคร และตะโกนให้กำลังใจนายสมัคร อย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ลมกระโชกแรง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังปักหลักอยู่ แต่ได้กระจายกันหลบฝนอยู่ใต้อาคารพาณิชย์ ฝั่งตรงข้ามศาลรัฐธรรมนูญ
แต่เมื่อถึงเวลานัด 14.00 น. ปรากฏว่า ทางเจ้าหน้าที่ศาลฯ ยังไม่ยอมให้ผู้ที่เดินทางมารับฟังคำพิพากษาเข้าสู่ห้องพิจารณาคดี และนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการอ่านคำวินิจฉัยไปเป็นเวลา 15.30 น. โดยปฏิเสธที่จะบอกถึงเหตุผลที่เลื่อนเวลาออกไป และปฏิเสธข่าวที่ระบุว่า การเลื่อนเวลาอ่านคำวินิจฉัยเพราะรอนายสมัคร ที่กำลังเดินทางกลับมาจากประชุม ครม.สัญจรที่ จ.อุดรธานี มารับฟังคำวินิจฉัยด้วยตัวเอง
เมื่อถึงเวลา 15.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยโดยสาระสำคัญระบุว่า
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจง การแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบ พยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และคำเบิกความจากพยานบุคคลแล้ว เห็นว่าคดี มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยมีการกำหนดประเด็นที่พิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรี ของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 267 เพราะเหตุผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งใดใน บริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่มุ่งหาผลประโยชน์ กำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือ เป็นลูกจ้าง ของบริษัทดังกล่าวหรือไม่
ทั้งนี้ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การที่นายสมัครอ้างว่า ไม่ได้เป็นลูกจ้าง แต่เป็นการรับจ้างนั้น มีการตีความว่า ความหมายมิได้แตกต่างกัน อีกทั้ง ยังผูกพันกันในเชิงผลประโยชน์ กันอยู่ระหว่างเจ้าของกิจการ กับผู้ที่รับทำงานให้ เห็นได้ชัดเจนว่า กฎหมายย่อมไม่มีเจนารมณ์ให้หาช่องทางหลีกเลี่ยงให้ทำได้โดยง่าย อีกทั้งมีการทำหลักฐานย้อนหลัง เพื่อปกปิดความผิด จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า นายสมัคร กระทำการอันต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สิ้นสุดลง และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วย แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือ จึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (อ่านรายละเอียด เปิดคำวินิจฉัย เชือดหมัก หน้า 2 )
ทั้งนี้ ในการเข้าให้ปากคำเป็นครั้งสุดของนายสมัคร ต่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น นายสมัคร ได้กล่าวคำสาบานว่า หากตนทำผิด หรือพูดเท็จ ก็ขอให้ตนบรรลัย วายวอด

**เตรียมนายกฯสำรอง“ส”หากหมักถอดใจ
หลังฟังคำวินิจฉัย พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า จะรีบกลับไปที่พรรค เพื่อประชุม เตรียมสรรหานายกคนใหม่ โดยยืนยันว่ายังยินดีสนับสนุนให้นายสมัคร กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง หากนายสมัคร ไม่รับ พรรคก็เตรียมบุคคลสำรองไว้แล้ว อักษรย่อชื่อ " ส."
"เรายอมรับคำวินิจฉัย แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตถึงความหยุมหยิมเกินไปของข้อกฎหมายที่ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินทำได้ยากลำบาก โดยเฉพาะมาตรา 237 ที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และต่างชาติก็ไม่ยอมรับ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง แต่การแก้ชกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่ได้แก้ไขเพื่อตัวเอง อย่างไรก็ตาม หากวันนี้ ( 10 ก.ย.) มีการเรียกประชุมสภาด่วน ก็เพื่อสรรหาตัวนายกฯคนใหม่"
ส่วนที่มีข่าวจะเสนอชื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกฯนั้น ทางพรรคยังไม่มีการยืนยัน เพราะตัวเลือกยังเป็น นายสมัคร ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล เชื่อว่าน่าจะร่วมทำงานกับพรรคพลังประชาชน เพราะหากย้ายไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะมีเสียงเกินแค่ 7 เสียง คงจะบริหารประเทศชาติไม่ได้ อยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องยุบสภา น่าจะอยู่กับพรรคพลังประชาชนช่วยบริหารประเทศจะดีกว่า
**"เรืองไกร"เชื่อในวิกฤตมีโอกาส
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีหากมีการเสนอชื่อ นายสมัคร กลับมาเป็นนายกฯว่า ในฐานะส.ว.ต้องมีความเป็นกลาง หลังจากนี้พรรคการเมืองทั้ง 7 พรรค ต้องไปหารือกันเพื่อหาทางออกต่อไป เพราะในวิกฤตก็ยอมมีโอกาส หลังฝนตกหนักฟ้าจะใส ต่อไปนี้เป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการหาทางออกกันไป เพราะหลังจากนี้ประตูข้างหน้ามาอยู่ที่สภาแล้ว ตามที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวไว้
เมื่อถามว่า มีการมองว่ากฎหมายหยุมหยิมเกินไป ทำให้นายกรัฐมนตรี พ้นตากตำแหน่งได้ นายเรืองไกร กล่าวว่า กฎหมายนี้ไม่ใช่เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญปี 50 แต่เรื่องนี้มีบัญญัติมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งได้ยกข้อความมาทั้งหมด และคำตัดสิน ก็ตีความตามรัฐธรรมนูญ

**ไม่จำเป็น"สมชาย"รักษาการนายกฯ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกฯตาย ขาดคุณสมบัติ หรือต้องคำพิพากษา ให้ครม.มอบหมายให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่ง รักษาการ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นรองนายกฯคนที่ 1 ถ้าไม่มี ครม. สามารถมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดรักษาการก็ได้ ส่วนขั้นตอนต่อไป รัฐธรรมนูญ มาตรา 180 กำหนดว่า ครม.พ้นจากตำแหน่ง ด้วยเหตุความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลง ให้สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และ 173 ให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนตรงๆ แต่เป็นการนำมาใช้โดยอนุโลม
เมื่อถามว่า นายสมัคร ยังเป็นนายกฯต่อได้ เพราะยังเป็นส.ส.อยู่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า “ถ้าจะดูแต่ตัวบทกฎหมายก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าดูเรื่องจริยธรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นผม จะไม่กลับมา มันคงอธิบายให้โลกทั้งโลกฟังไม่ได้ว่า นายกฯ กระทำการขัดในเรื่องประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ในคำวินิจฉัยบางส่วนยังระบุว่า เชื่อได้ว่า มีการทำพยานหลักฐานขึ้นใหม่ จึงเป็นเรื่องจริยธรรมที่ลึกซึ้ง"นายบวรศักดิ์กล่าว

**ชี้มิติใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่าลูกจ้าง จนมีผลออกมาดังกล่าว นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญตีความกว้างไกลกว่าที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ถือว่า มีลักษณะค่อนข้างจะยึดเจตนารมรณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ติดกรอบพิธีของศาลทั่วไป เช่น การวินิจฉัยคำว่าลูกจ้าง โดยถ้าความเข้าใจทั่วไปของคนเรียนกฎหมาย จะเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งในกฎหมายแรงงาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความกว้างกว่า โดยยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ใช้ตำแหน่งหน้าที่มาเอื้อประโยชน์ส่วนตัว เหมือนกรณีการวินิจฉัยแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เข้ารัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ตีความว่า เนื้อความของแถลงการณ์ร่วม อาจทำให้อาณาเขตมีปัญหา จึงต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ ซึ่งการตีความแบบนี้ ไม่เสียหาย และยังเป็นเรื่องดี
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เขียนไม่ชัดว่า เมื่อครม.พ้นจากตำแหน่ง ให้รักษาการจนกว่าจะมีครม..ใหม่มา ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ให้ความชัดเจนว่า รัฐมนตรีคนอื่นๆรักษาการได้ ยกเว้นนายกฯ ฉะนั้นถือเป็นมิติใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะทำให้ความขัดแย้งการเมืองคลี่คลายไปบ้าง นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ดี ขั้นตอนต่อจากนี้ เมื่อสภาโหวตนายกฯคนใหม่ ก็ต้องมีการจัดครม.ชุดใหม่ จากนั้นก็เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ครม.ชุดเดิมก็พ้น จากนั้นครม.ชุดใหม่ก็ต้องมาแถลงนโยบายต่อสภา ถึงจะทำงานได้

**มติพปช.หนุน"หมัก"นั่งนายกฯอีก
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีชิมไปบ่นไป ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงว่า แม้จะมีผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรี ของนายสมัครหมดไป แต่พรรคไม่หวั่นวิตก และการเมืองยังเดินหน้าต่อไปได้ กรณีที่นายกฯ ถูกคำวินิจฉัย การพ้นสภาพนายกฯ ก็ถือว่าได้รับโทษไปแล้ว และไม่มีบทบัญญัติใดห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ความเป็นส.ส.ก็ยังอยู่ ดังนั้นคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ก็ยังมีครบถ้วน
"ดังนั้นที่ประชุมพรรค มีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนให้หัวหน้าพรรคกลับมาเป็นนายกฯ ต่อไป ในการเลือกที่ที่ประชุมสภา ตามที่ประธานสภาจะนัดหมายในไม่กี่วันจากนี้" ร.ท.กุเทพกล่าว
เมื่อถามว่าในที่ประชุมมีการเสนอหรือไม่ หากยังให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ จะทำให้เหตุการณ์ณืบานปลาย และควรถามความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลก่อน ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่มีความเห็นในทำนองดังกล่าว มีความเห็นเพียงทำนองเดียวเท่านั้นว่า จะใช้สิทธิสนับสนุนนายสมัครต่อไป เพราะการกระทำของนายสมัคร ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรง และไม่ได้ทำความเสียหายต่อประเทศ เป็นเพียงความเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน และการพ้นจากตำแหน่งก็ถือเป็นการลงโทษแล้ว
ต่อข้อถามว่าจะให้พรรคร่วมเสนอบุคคลอื่นขึ้นมาหรือไม่ ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่แกนนำแต่ละพรรคจะคุยกันต่อไป

**ไม่สนคดีหมิ่นประมาทที่รออยู่
เมื่อถามว่า ไม่ได้คิดเผื่อถึงกรณีคดีหมิ่นประมาท ที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตผู้ว่าราชการกทม. ฟ้องนายสมัคร ใช่หรือไม่ ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ซึ่งที่ผ่านมาพรรคพลังประชาชน เคยพบกับความยากลำบากมาตลอด และก็พยายามต่อสู้เพื่อหาช่องทางเดินตามกรอบกฎหมาย ส่วนอนาคตจะมีปัญหาอย่างไร ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาไป
เมื่อถามว่า ได้มีการเสนอให้นายกฯ เสียสละ เพื่อผ่าทางตันหรือไม่ ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้น เนื่องจากคนจำนวนหนึ่ง ใช้บรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องกดดันรัฐบาล ซึ่งการกระทำเข้าข่ายกบฏ แต่คนไม่สนใจ อีกทั้งการกดดันให้นายกฯ ลาออก หรือยุบสภา จะเป็นการผ่าทางตันแต่อย่างใด ทั้งนี้ การเลือกนายสมัคร กลับมาไม่ได้แปลว่าพรรคดื้อด้าน แต่เราถูกกระทำมาโดยตลอด เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยมาเช่นนี้ เราก็เดินไปตามกรอบกฎหมาย ซึ่งแม้มีคนส่วนหนึ่งขับไล่รัฐบาล แต่คนส่วนมากอยากให้รัฐบาลอยู่ต่อไป ซึ่งเราต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตย และต่อสู้กับการเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มร้อย

**"ปู่ชัย"นัดโหวตนายกฯศุกร์นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 18.00 น. นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปรัฐบาล เดินทางเข้าพบนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาหารือประมาณ 10 นาที
จนกระทั่งเวลา 18.15 น.ด้านนาย พิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาได้นำแฟ็กซ์ คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญไปมอบให้กับ นาย ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในห้องทำงาน จากนั้นนายชัย ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ย. เวลา 09.30 น. โดยค่ำวันเดียวกัน จะส่งหนังสือเชิญ ส.ส.นัดประชุมตามระเบียบวาระภายใน 3 วัน เพราะบ้านเมืองเราจะขาดประมุข 3 สถาบันไม่ได้ ฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องมีประธานสภา ฝ่ายบริหารจะต้องมีนายกฯ ฝ่ายตุลาการต้องมีประธานศาลฎีกา ซึ่งจะต้องมีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ ส่วนใครจะเป็นนายกฯก็ต้องแล้วแต่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่บรรจุวาระเร่งด่วน กลัวพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนขั้วใช่หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ไม่กลัวการเปลี่ยนขั้ว และคงไม่เกี่ยวกัน ตนทำหน้าที่ให้พ้นภาระประธานเท่านั้น
ขณะที่ นายวิทยา เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนายชัย ว่าขณะนี้ต้องรอหนังสือคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ทั้งนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะเปิดประชุมเลือกนายกฯได้วันใด แต่ยืนยันว่าพรรคพลังประชาชนยังสนับสนุนนาย สมัคร สุนทรเวช นายกฯเป็นนายกฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมลงมติเลือกนายสมัคร เป็นนายกฯ ไม่กลัวพันธมิตรฯต่อต้านหรือ นายวิทยา กล่าวว่า พันธมิตรเป็นอย่างไรก็รู้อยู่ แต่เราอยู่ในกฎ กติกา และระบอบประชาธิปไตย แต่พันธมิตรฯ อยู่นอกกฎกติกา อย่างไรก็ตาม นายสมัครสามารถกลับมาเป็นนายกฯได้ เพราะต้องดูว่าพ้นตำแหน่งในเรื่องใด เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่การกระทำความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการสร้างหลักฐานเท็จ ยังไม่เพียงพอต่อหลักจริธรรมหรือ นายวิทยากล่าว่า ตนฟังคำวินิจฉัยของศาลอยู่ การสิ้นสุดจากตำแหน่ง เป็นเรื่องของส่วนตัว อย่าตีความไปมากกว่านี้ เมื่อถามต่อว่า มั่นใจในเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลในการโหวตให้นายสมัคร เป็นนายกฯ หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของกรรมมาธิการบริหารพรรค ที่จะดำเนินการ

**"เติ้ง"บอกไม่รับเก้าอี้เอาเคล็ด
นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรค ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวสนับสนุนนายบรรหาร ขึ้นเป็นนายกฯ หากนายสมัคร พ้นจากตำแหน่งว่า อย่าเอาเรื่องมาให้หน่อยเลยน่า ให้อยู่อย่างนี้ดีกว่า อายุจะสั้น ไม่เอาแล้ว อายุ 70 กว่าแล้ว อยากอยู่สบายๆ
เมื่อถามว่า ถือเป็นการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง หรือรอดูสถานการณ์ก่อน นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่รับหรอก เหตุการณ์แบบนี้รับไม่ไหว ไม่สามารถทนแรงเสียดทานแบบนี้ได้ เป็นคนไม่อดทนพอ เมื่อถามว่าใจของนายบรรหาร จะเปลี่ยนได้อีกหรือไม่ หากถึงที่สุดแล้วไม่สามารถหาใครได้ นายบรรหาร กล่าวว่า หากพูดไปพวกคุณก็เอาไปแปลความหมายอีก ไม่เอาหรอก ตนกลัวสื่อมากๆ
นายบรรหาร ยังกล่าวถึงทางออกในเรื่องนี้ว่า มองแล้วริบหรี่เหลือเกิน พอพูดอะไรไปฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ด่าตนทุกคืน นี่คือจุดที่มันเป็นเช่นนี้ เหมือนเขาว่าอะไรใคร ก็ว่าได้ แต่คนอื่นติติงไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ตรงนี้ ต้องดูพวกท่านเหล่านั้น ทั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และคนอื่นๆ ว่าเขามองบ้านเมืองเป็นอย่างไรบ้าง อย่างที่เคยบอก คือต้องถอยคนละก้าว เพราะหากถอยแล้วก็สามารถเจรจาได้ แม้ท่านประธานวุฒิ ก็ไปเจรจาแล้วแต่ไม่สำเร็จ แล้วจะทำอย่างไร อย่างตอนที่ตนเคยบอกว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่บนเวทีพันธมิตรฯ กลับบอกว่า ตนทำแสร้งสำออย
เมื่อถามว่า พรรคพลังประชาชน ระบุว่าหากนายสมัคร พ้นจากตำแหน่ง ก็สามารถโหวตกลับมาได้อีก นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่ได้ข่าวเลย ต่อข้อถามว่าหากทำเช่นนั้น จะทำให้การเมืองริบหรี่ หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันนะ ไว้อีก 1-2 วัน รอดูเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนแล้วถึงจะพูดได้ว่าจะทำอย่างไร แต่เหตุการณ์มันแย่แล้ว และไม่รู้ว่าจะแย่ไปถึงแค่ไหน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการหารือร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล ในวันนี้ (10 ก.ย. ) นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่มีการแจ้งเลย เมื่อถามย้ำว่า ถกกันคืนนี้เลยหรือไม่ นายบรรหาร หัวเราะแล้วตอบว่าไม่รู้ ๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ 5 พรรคร่วม จะพลิกกลับมาจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล นายบรรหาร กล่าวว่า คุณกลับไปถามอีก 3 พรรคร่วมก่อนแล้วกัน เมื่อถามย้ำว่า 3 พรรคร่วมนั้น หมายถึงพรรคไหนบ้าง นายบรรหาร ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม แล้วเดินขึ้นรถไปเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมพรรคนอกจากจะมีการหารือเรื่องจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่อิมแพคเมืองทองธานีใน วันศุกร์ที่ 12 ก.ย. แล้วได้มีการหารือถึงสถานการณ์การเมืองด้วย ซึ่งนายบรรหารยังพูดถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า "ผมไม่เป็นของอย่างนี้อย่าแสดงความอยากได้ เพราะยิ่งอยากได้ ยิ่งไม่ได้เป็น ถ้าไม่อยากได้ มันก็จะมาเอง จึงขอให้ลูกพรรคอย่าแสดงท่าทีที่ชัดเจน ขอให้สงวนท่าทีไว้ก่อน"

**"เสธ.หนั่น"ดัน"เติ้ง"นั่งนายกฯ
พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย กล่าวว่า ในวันนี้ (10 ก.ย.) วิปรัฐบาล มีกำหนดหารือ เพื่อกำหนดท่าทีในเรื่องนี้
ส่วนจะมีการเสนอให้นายบรรหาร มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรี แทนนายสมัคร นั้นทุกอย่างอยู่ที่เสียงข้างมากของสภา ว่าจะลงมติให้ใครเป็นนายกฯ พรรคชาติไทยเป็นพรรคกลางๆ หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้ใฝ่ฝันที่จะเป็นนายกฯ เบื้องต้นตนยังไม่ได้หารือเรื่องนี้กับหัวหน้าพรรค แต่ตนเชื่อว่า หัวหน้าพรรคคงไม่ต้องการเป็นนายกฯ
อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมพรรคร่วมฯ จะเสนอให้หัวพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคก็พร้อมจะพิจารณาเพื่อพรรคเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

**จวกพปช.ลุกลี้ลุกลนตั้งนายกฯใหม่
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ประชุมได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ ว่า หลายคนกังวลต่อท่าทาทีของพรรคพลังประชาชน ที่พยายามเร่งรัดให้มีการสรรหานายกฯ คนใหม่ ภายในสัปดาห์นี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ควรเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้ตั้งหลักระยะหนึ่ง เพราะยังอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ และควรให้ความกระจ่างต่อสังคม ในปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน อีกทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่า นายกฯ พ้นจากตำแหน่งเป็นปัญหาเฉพาะตัว แต่คณะรัฐมนตรี ยังสามารถทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีนายกฯใหม่ ดังนั้น บ้านเมืองไม่น่ามีปัญหา ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การแต่งตั้งนายกฯ จะช้าไป 3-4 วัน น่าจะรอกันได้

**เตือนอย่าท้าทายประชาชน
นายบัญญัติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ศาลอุทธรณ์ จะมีการอ่านคำพิพากษานายสมัคร ในคดีหมิ่นประมาท นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. หากพรรคร่วมรัฐบาลจะสนับสนุนให้นาย สมัคร กลับมาอีกครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้น ก็จะขัดคุณสมบัติอีกครั้ง จะทำให้จะต้องมีการเลือกนายกฯอีกครั้งหรือไม่ และนายสมัคร ยังต้องมีอีกหลายกรณี เช่น การที่ ครม.ร่วมลงนามให้กัมพูชา ขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก ที่แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า อดีตรมว.ต่างประเทศ ทำผิดรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่มีการยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ ครม.ทุกคนร่วมลงนามรับผิดชอบ เพราะเท่ากับเป็นการจงใจฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดออกมา ครม.ทั้งชุดก็ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ นายสมัคร อยู่ในสถานะที่ล่อแหลม
"หากพรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจเลือกนายสมัคร กลับเข้ามา เท่ากับท้าทายประชาชน และไม่สามารถลดความรุนแรงสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ได้ แม้พรรคร่วมรัฐบาล จะมีความชอบธรรมสนับสนุน ขอเรียกร้องว่า ขณะนี้หลายฝ่ายในประเทศได้วิตกกังวลถึงปัญหาความขัดแย้ง และพยายามหาทางแก้ไข หากต้องการลดความรุนแรง คนที่จะมาเป็นนายกฯ คนต่อไปจะต้องมีความต้องการลดความรุนแรง และสนับสนุนประชาธิปไตย เป็นเรื่องสำคัญ และขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นประเด็นที่ทำให้คนออกมาชุมนุมกันมากขึ้น ดังนั้น การรวบรัดตัดความ เลือกนายกฯ ในเวลาที่สั้นเกินไป ทำให้ตั้งหลักไม่ทันก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ หากเลือกคนที่สังคมยอมรับได้ ก็จะเป็นก้าวแรกที่ลดความขัดแย้งในบ้านเมืองให้น้อยลง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลจะปฏิเสธไม่ได้" นายบัญญัติกล่าว

**จวก"หมัก"โกหกศาลรธน.
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า น่าเสียดายที่ ผลจากการพิจารณาคดีทำให้เห็นว่า นายสมัคร ไม่พูดความจริง ศาลรัฐธรรมนูญ จึงพิพากษาออกมาเป็นเช่นนี้ จากนี้ต่อไป เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ ตนไม่แน่ใจว่าพรรคพลังประชาชน จะเสนอชื่อนายสมัคร กลับมาเป็นนายกฯอีกหรือไม่ แต่จากคำวินิจฉัย ถ้าเสนอชื่อนายสมัคร เป็นนายกฯอีก ก็รู้สึกว่าไม่สวยงามแล้ว เพราะศาลบอกแล้วว่า คำให้การของนายสมัคร ขัดกับข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องที่ไม่สวยงาม
"เรื่องของนายสมัคร ก้ำกึ่งกับเรื่องจริยธรรม เนื่องจากนายสมัคร ไม่ได้พูดความจริงในศาล ตรงนี้ถือเป็นรอยตำหนิเล็กๆ ซึ่งคนอาจจะคิดมาก แต่นายสมัคร อาจไม่คิดก็ได้"

**ปชป.พร้อมจับขั้วการเมืองใหม่
เมื่อถามว่า จะให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาตรงนี้อย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า วันนี้น่าจะใช้จังหวะนี้ ในการชักชวนทุกพรรคการเมืองมาปรึกษาหารือ และร่วมมือกัน ก่อนหน้านี้ ประธานวุฒิสภา ประธานสภาฯ และตัวแทนพรรคได้มาประชุมกัน ซึ่งเห็นว่านายสมัคร ควรลาออกจากนายกฯ หรือยุบสภา แต่เมื่อนายสมัคร พ้นจากนายกฯแล้ว ควรจะดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง โดยเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถมาแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองได้
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้จังหวะนี้พูดคุยกับพรรคอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนขั้วการเมืองหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า พวกตนเป็นฝ่ายเสียงน้อย คงไม่ไปเรียกร้องอะไร แต่เราพร้อมร่วมมือกับทุกพรรค เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ควรใช้โอกาสนี้เป็นประโยชน์ในการแก้วิกฤติของบ้านเมือง

**"ชาติไทย"ตัวแปรสำคัญโหวตนายกฯ
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้เหมือนช่วงปิดหีบการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคชาติไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน จะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่สถานการณ์ในวันนี้ไม่เหมือนกัน เพราะมีแรงกดดันจากกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ยังปักหลักประท้วงกันอยู่
ดังนั้น เมื่อเส้นทางที่เคยตีบตันได้เปิดออกมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องคิดให้รอบคอบ ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล จะต้องคิดให้ดีว่า จะให้นายสมัคร กลับเข้ามารับตำแหน่งอีกหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาล จะมีการต่อรองกันอย่างสูงจนกว่าจะถึงวันโหวต นายกรัฐมนตรี
"ถ้ายังเป็นนายสมัคร หรือคนของพรรคพลังประชาชนกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ก็สามารถเป็นได้ แต่สถานการณ์การเมืองก็คงไม่แตกต่างอะไรจากตอนนี้ จะทำให้ทางออกตีบตัน กระแสต่อต้านก็ยังคงมีอยู่อีก" นายปริญญา กล่าว และว่า ขณะนี้เชื่อว่านายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย จะมีโอกาสมากที่สุด

**อย่าเติมเชื่อเพลิงเข้ากองไฟ
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ ก็ต้องดูว่า ทางพรรคร่วมรัฐบาลจะดำเนินอย่างไร หากยังดึงดันที่จะโหวตให้นายสมัคร เป็นนายกฯอีกก็เท่ากับเป็นการท้าทาย และเติมเชื้อเพลิงลงไปอีก ซึ่งพันธมิตรฯ ก็คงไม่ยอมหยุดชุมนุมอย่างแน่นอน ดังนั้นนายสมัคร ต้องไม่รับตำแหน่ง เพื่อให้ความวุ่นวายทางการเมืองยุติ อย่าทำเหมือนกรณีของนายไชยา สะสมทรัพย์ ที่กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีอีก เมื่อนายสมัคร ไม่เป็นนายกฯ อีก พันธมิตรฯก็ควรหยุดการชุมนุม แต่หากพันธมิตรฯยืนยันที่จะชุมนุมต่อ ก็จะเสียเครดิตของตัวเองไปโดยอัตโนมัติ

**"นิด้า"จี้ต่อมสำนึกส.ส.เลิกโหวต"หมัก"
วานนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เครือข่ายคณาจารย์ สมาคมพัฒนาสังคม นักศึกษา และภาคีวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ทางออกวิกฤติชาติ” โดยระบุว่า จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9-0 ให้นายสมัคร ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการจัดรายการ "ชิมไป บ่นไป" และรายการ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ของนายสมัคร นั้นมุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ถือได้ว่าขัดรัฐธรรนูญ ทำให้นายสมัคร ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้กับสังคมไทยได้สร้างแนวทางที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลายลงไปได้ในระดับหนึ่ง อันจะนำไปสู่ความปกติสุขของชาติบ้านเมืองสืบไป จึงมีข้อเสนอในเชิงรูปธรรม ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ลงมติไม่เลือกนายสมัคร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยนายสมัคร ขาดความชอบธรรม และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้หลีกเลี่ยงความรุนแรงที่ยังคงดำรงอยู่และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นหาก นายสมัคร ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
2. . ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรค ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้ง รัฐบาลชั่วคราว ซึ่งจะต้องทำหน้าที่เฉพาะการบรรเทาปัญหาความขัดแย้ง และเตรียมการในการปฏิรูปทางการเมืองเป็นหลัก
3. ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนภาคประชาชนจากทุกภาคส่วนดำเนินการศึกษารูปแบบการปกครองที่เหมาะสมโดยเร็ว และใช้กระบวนมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับชั้นและสาขาอาชีพ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนารัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของไทย
4. ขอให้ประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร และกลุ่มอาชีพอื่นๆ เข้ามีส่วนร่วมการปฏิรูปการเมือง อย่างกระตือรือร้นทุกขั้นตอน เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเต็มรูปแบบและยั่งยืนสืบไป

** ม.หอการค้าแนะหานายกฯคนใหม่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสที่ศาลฯ วินิจฉัยเป็นโอกาสคลี่คลายการเมืองให้ประเทศ โดยควรสรรหาบุคคลใหม่ขึ้นมานั่งตำแหน่งนายกฯ แทนนายสมัคร หรืออาจจะเปลี่ยนพรรคการเมืองเพื่อจับขั้วรัฐบาลกันใหม่ ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรฯ ควรจะยอมถอยเพื่อให้ชาติกับสามัคคีกันอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเร็วขึ้น แต่หากยุบสภา ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่จะช้ากว่าเพราะต้องเสียเวลาในการเลือกตั้งใหม่
อย่างไรก็ตาม หากพรรคพลังประชาชน จะเสนอชื่อนายสมัครให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะไม่เป็นการดีต่อบ้านเมือง เหมือนไม่เคารพคำสั่งศาล และอาจเป็นชนวนเพิ่มความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้การชุมนุมยืดเยื้อต่ออีกได้ ส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอีก มาก นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลเร่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะปัญหานี้ทำให้ต่างชาติกังวล และทำลายบรรยากาศการลงทุนอีกมา ส่วนโครงการเมกะโปรเจกต์ และงบประมาณปี 52 ยังเดินหน้าต่อได้ เพราะผ่านความเห็นชอบจากสภา และครม. จึงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ

**สภาอุตฯไม่เอา"หมัก"อีกแล้ว
นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ทำให้มีทางออกทางการเมืองมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมติพรรคร่วมรัฐบาลจะหาทางออกให้บ้านเมืองหรือไม่ หากยังมีมติให้นายสมัคร กลับมาตำรงตำแหน่งนายกฯต่ออีก ก็จะสะท้อนให้เห็นว่า พรรคร่วมรัฐบาลกำลังทำลายประเทศชาติ เพราะจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไร้ข้อยุติและเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดลงไปอีก
"หากนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯอีกก็จะเป็นการประจานทั่วโลกรับรู้ว่านักการเมืองไทยไร้จริยธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ขาดความชอบธรรม แต่กลับเข้ามาบริหารประเทศได้อีก แล้วนักลงทุนต่างชาติจะมองประเทศไทยอย่างไร เยาวชนรุ่นหลังจะเอาเป็นแบบอย่างได้อย่างไร" นายสมมาต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น