xs
xsm
sm
md
lg

ทหารย้ำยืนข้างประชาชน จี้ฝ่ายการเมืองแก้ปัญหาก่อนชาติพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. กล่าวถึงกรณีการพบปะหารือถึงสถานการณ์การเมืองกับ ผบ.เหล่าทัพว่า เรื่องนี้ไม่มีนัยทางการเมือง ทหารจะต้องปกครองดูแล และเป็นหนทางปฏิบัติ ก็จะต้องมีการประชุมกัน ทหารพยายามที่จะเป็นแกนกลาง และไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนทิศทางทางการเมือง ก็ต้องให้การเมืองแก้ไข และจะต้องรีบแก้ไขด้วย ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเสียหาย
ส่วนกรณีที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิ ได้เป็นคนกลางในการเจรจาปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับกลุ่มพันธมิตรฯนั้น คิดว่า ใครก็ได้ แต่จะต้องเป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับในข้อเสนอแนะ และที่สำคัญจะต้องมีจิตใจมุ่มั่นในการแก้ไขปัญหา ถ้าเป็นการพูดคุยกันแล้วมีจุดยืนที่คงที่ ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน การเจรจาไปก็ทำอะไรไม่ได้
เมื่อถามว่า มีโอกาสที่ ผบ.เหล่าทัพ จะเดินไปบอกนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาตัวเองด้วยการลาออกเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า คงมีหลายๆ ท่าน หรือคนอื่นที่ทำมากกว่า ไม่ใช่ทหาร
เมื่อถามว่า ถึงเวลาที่นายกฯควรลาออกหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่าไม่ทราบ เมื่อถามว่า การที่แต่ละฝ่ายมองว่า ถ้าตัวเองยอม และเป็นการแพ้ จุดมุ่งหมายความชนะกับความแพ้ และความเสียหายของประเทศต่อประเทศชาติ เราควรจะเสียสละส่วนตัวหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า คงจะคล้ายๆอย่างนั้น
เมื่อถามว่า มีความเห็นห่วงที่นักศึกษา 80 สถาบัน ออกมาเคลื่อนไหวในการขับไล่นายกฯ หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ก็เป็นห่วง เมื่อถามว่า หลังจาก พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เข้าเฝ้าฯ ได้หารือกับผบ.เหล่าทัพโดย แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ท่านก็เป็นห่วง และท่านบอกให้ช่วยกันดูแล เมื่อถามว่า จุดยืนของทหารยังอยู่เคียงข้างประชาชนหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า แน่นอน แน่นอน

**ผบ.เหล่าทัพคุย"ป๋า"หลังเข้าเฝ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พร้อมคณะได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่วังไกลกังวล เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้เดินทางกลับถึงสนามบินทหารในช่วงค่ำ มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ผบ.ทอ. และ พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. ไปรับที่สนามบิน โดย พล.อ.เปรม ได้หารือกับผบ.สส. และผบ.เหล่าทัพ ที่ห้องรับรองสนามบิน เป็นเวลา 30 นาที ซึ่งในรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ก็ได้มีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดด้วย

**ติงครม.สัญจรเสี่ยงจลาจล
ด้านพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม และ อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช. ได้ออกมาเรียกร้องให้นายสมัคร ลาออกจากตำแหน่งอย่างเร็วที่สุด เพื่อรักษาประชาธิปไตย และก่อนที่บ้านเมืองจะเสียหายมากไปกว่านี้
"หากนายสมัครยังดื้อดึงที่จะอยู่ต่อไป รังแต่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม ครม.สัญจร ที่อุดรธานี หากเกิดจลาจล หรือ เสียเลือดเสียเนื้อขึ้นมา ท่านต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ไปจังหวัดอื่นก็ไปได้ ทำไมต้องไปจังหวัดอุดรธานี ทั้งที่เป็นจังหวัดที่มีความขัดแย้งที่รุนแรง จนอาจเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อขึ้นมาอีก"
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การที่เสนอแนะให้นายกฯ ลาออก ก็เพื่อให้ท่านมีทางลงอย่างสง่างาม ถ้ามีคนตาย ท่านก็จะกลายเป็นนายกฯมือเปื้อนเลือด ถ้าท่านลงตอนนี้ก็จะดีกว่า ถ้าไปลงตอนเกิดเหตุการณ์กลียุคแล้ว ท่านจะถูกสังคมตราหน้าอีกครั้ง จึงอยากให้ท่านเสียสละอย่ายึดติดกับตำแหน่ง ทั้งนี้การแสดงความคิดเห็นของตนครั้งนี้ เป็นท่าทีส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับกองทัพ
" เมื่อเรามาเป็นผู้ปกครอง เป็นผู้บริหารแล้ว มีสังคมส่วนหนึ่งของผู้ที่ถูกปกครองเขาไม่ยอมรับ และตัวเองไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ ความแตกแยกก็จะขยายออกไป ดังนั้นถ้าท่านเห็นแก่ประเทศชาติ และประชาธิปไตยจริง ท่านต้องเป็นผู้เสียสละ ถ้าท่านไม่เสียสละ การเมืองก็จะถึงจุดอับ จนกลายไปสู่การจลาจล สังคมก็จะกลับมาประณามท่าน ว่าท่านทำให้เกิดตรงนั้นขึ้นมา"
ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุที่นายสมัคร ไม่ลาออก เพราะยังเห็นว่า ผบ.เหล่าทัพ อยู่ข้างตัวเอง พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่าไม่จริง ตนคิดว่ากองทัพอยู่ข้างประชาชน เพราะกองทัพเป็นกลไกของรัฐ กองทัพไม่ได้เป็นเครื่องมือในการมาปราบประชาชน ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันเอง คนไทยด้วยกันเองต้องทำความเข้าใจกัน เมื่อตัวเราเองไม่สามารถทำความเข้าใจได้ ก็ต้องให้คนอื่นมาทำความเข้าใจ เพราะเขาไม่ยอมรับคุณ ส่วนที่มองว่า ผบ.เหล่าทัพ มีน้ำหนักในการไปบอกนายกฯ ให้ลาออกนั้น ตนคิดว่า ทุกคนต้องช่วยกัน กองทัพก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เขาก็หาวิธีการแก้ไขอยู่
สำหรับแนวทางการยุบสภานั้น ก็เป็นวิถีทางหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน ก็ขอให้ท่านนายกฯ เลือกว่า จะใช้แนวทางใด ถ้าท่านเห็นว่าเป็นแนวทางที่แก้ไขปัญหาได้ แต่ส่วนตัวคิดว่า การลาออกของนายกฯจะเป็นการแก้ไขปัญหา สภาฯ ก็ยังมีต่อไป แล้วค่อยสรรหากันใหม่ ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไปว่ากันอีกครั้ง
เมื่อถามว่าหากสถานการณ์ถึงจุดอับ ทหารต้องออกมา แม้จะประกาศว่าไม่อยากปฏิวัติก็ตาม พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ไม่อยากมีใครอยากไปทำตรงนั้น เพราะการปฏิวัติเป็นการเอาปัญหาของประเทศชาติมาไว้ในมือ ซึ่งปัญหาประเทศชาติมันยาก ทั้งนี้ ทั่วไปเขาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เราถอยหลังเข้าคลองกลับไปหาการปฏิวัติคงไม่ได้ แต่แก้ไขปัญหาในระบอบประชาธิปไตยมันก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เหมือนกันในตอนนี้ ทั้งหมดจึงอยู่ที่นายกฯ

** รัฐบาลแห่งชาติถ้าเป็นไปได้ก็ดี
พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในฐานะคนไทยก็รู้สึกเป็นห่วงเพราะเหตุการณ์ยืดเยื้อ ไม่จบ ทำให้เรื่องราวต่างๆ ภารกิจต่างๆ สภาพเศรษฐกิจ ไม่ค่อยดีนัก แต่ในเรื่องของผู้รับผิดชอบดูแล เรามีผู้รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ซึ่งคงต้องค่อยๆแก้ไขกันไปโดยสันติวิธี ส่วนทางออกในการแก้ไขปัญหา ตนเห็นว่าหลายๆ ท่าน ยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะแก้อย่างไร เพราะอยู่ที่ตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจริงๆที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งขณะนี้การเจรจาถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดแล้ว ทั้งนี้คงต้องให้เวลาในการเจรจา เพราะเริ่มต้นไปแค่ 1-2 วันเท่านั้น คิดว่า เมื่อถึงเวลาคงมีเหตุการณ์อื่นที่มาช่วยให้การเจรจาหาข้อยุติได้เอง
เมื่อถามว่าการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นทางออกสุดท้ายใช่หรือไม่ พล.อ.วินัย กล่าวว่า ผู้นำเหล่าทัพทุกคนไม่ประสงค์ที่จะใช้วิธีการทางทหารในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหวังว่าแต่ละท่านที่รับผิดชอบ คงจะไม่ถูกสถานการณ์บีบบังคับและจูงไปในทิศทางนั้น
สำหรับกรณีที่ศาลรธน.จะตัดสินคดี ชิมไปบ่นไป ในวันนี้ จะทำให้ นายสมัคร ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ ต้องเรียนถามนายกฯว่า ท่านจะมีทางออกอย่างไร ซึ่งขณะนี้ทางพรรคร่วมรัฐบาลคงมีการปรึกษาหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลไปนานแล้ว ส่วนแนวทางการลงประชามตินั้น ดูหลายๆฝ่ายไม่เห็นด้วย น่าจะแท้งไปในที่สุด
เมื่อถามว่า การยุบสภา หรือลาออก เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุปัญหาหรือไม่ เพราะในที่สุดความขัดแย้งยังอยู่ พล.อ.วินัย ต้องไปถามเงื่อนไขของคู่กรณี ส่วนแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ ถ้าเป็นไปได้ก็ดี หากเป็นสิ่งที่ลด หรือขจัดความขัดแย้งทั้งหลายทั้งมวลที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นแนวทางที่ขจัดข้อขัดแย้งได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น