xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุมรัฐสภาตั้ง36กมธ. ถกข้อตกลงร่วมไทย-ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวานนี้ (1ก.ย.) โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน– ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่ครม.เป็นผู้เสนอโดยนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ความตกลงนี้ได้เจรจาร่วมกันมาทั้งหมด 11 รอบ ตั้งแต่เดือน พ.ย.48 และได้ข้อสรุปเมื่อเดือนพ.ย.50 โดยมีเนื้อหาช่วยเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุน การเปิดตลาดระหว่างประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาให้ความเห็นชอบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ควรย้อนดูรายละเอียดการทำข้อตกลงที่ทำมาในอดีต ทั้งในประเด็นความคุ้มค่า และความเป็นธรรม ไม่อยากให้เอาเรื่องผลประโยชน์มาพิจารณาอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมามีการพูดถึงผลกระทบจากการเจรจาเอฟทีเอ กับญี่ปุ่นที่เป็นห่วงเรื่องปัญหาขยะพิษ จุลชีพ เป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง จึงเห็นควรให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาพิจารณาว่า หลังจากทำข้อตกลงแล้วจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง แม้จะไม่สามารถแก้ไขข้อตกลงได้ เพราะต้องเซ็นเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่อย่างน้อย ผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจะได้เตรียมการเยียวยาชดเชยได้ทันท่วงที
"แม้จะมีกองทุนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายน้อยมาก เทียบไม่ได้กับผลกระทบที่ได้รับ นอกจากนี้คนไทยจำนวนมากไม่รู้ ล่วงหน้ามาก่อนว่าจะได้รับผลกระทบ ทำให้เตรียมตัวตั้งรับไม่ทัน ดังนั้นหากมีกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ จะได้เตรียมตัวป้องกันหรือพิจารณาผลกระทบที่จะได้รับ เหมือนการการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรขอเวลาให้กรรมาธิการได้พิจารณา 30-45 วัน แล้วค่อยกลับมาพิจารณา จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจกันภายหลัง"
นายตวง อันทะไชย ส.ว. กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่น มีการพูดถึงผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการขนขยะพิษ ดังนั้นควรศึกษาผลกระทบด้านนิเวศน์ ว่าคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือไม่ และต้องดูว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงเป็นใคร เป็นของประชาชนแท้จริงตามที่อ้างหรือไม่
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ระบบของโลกภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ไม่สนับสนุนการเปิดการค้าเสรีทั่วไป และหลายประเทศ สงวนประโยชน์ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นภาคส่วนที่อ่อนแอของประเทศตัวเอง และที่ผ่านมาการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายๆประเทศของไทย ได้สร้างความเสียเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นจีน ที่กระทบจนมีหอมกระเทียม ทะลักเข้ามา ภาคเกษตรตกต่ำไป 70% เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ การทำเอฟทีเอกับออสเตรเลีย ทำให้มีผลิตภัณฑ์นม ทะลักเข้ามาในประเทศสร้างความเสียหายให้ผู้เลี้ยงวัวในประเทศเสียหาย
นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนที่แต่ละประเทศจะทำข้อตกลงการค้าเสรี ต้องศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วน อย่างกรณีออสเตรเลีย ใช้เวลากว่า 2 ปี กว่าจะมาเซ็นสัญญากับไทย ต้องผ่านทั้ง สภาฯ คณะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับเมื่อสมัยเป็นประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ก็มาจากหน่วยงานของออสเตรเลีย ซึ่งระบุรายละเอียดชัดเจนว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์คือบริษัทส่งออกรถยนต์ และโทรคมนาคม โดยเฉพาะดาวเทียมไอพีสตาร์ แต่หน่วยงานไทยกลับไม่มีรายละเอียดเรื่องนี้
ส่วนการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นที่ผ่านมา ทำให้เปิดช่องธุรกิจนำเข้าขยะพิษจากญี่ปุ่น ทั้งที่ปกติในประเทศก็มีปัญหาเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นการทำสัญญาควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งระยะเวลา 30 วัน ที่จะพิจารณานั้นจะน้อยเกินไป เพราะส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยเสียเปรียบแน่นอนอยู่แล้ว เช่น อุตสหากรรมรถยนต์ ที่มีผู้ประกอบการออกมากระซิบว่า จะทำให้ผู้ประกอบการ บริษัทอะไหล่รถยนต์100 กว่าแห่งของไทยได้รับผลกระทบ หรืออาจจะถูกเทกโอเวอร์ ดังนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการใดๆต่อไป
นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงว่า ไม่ขัดข้องหากที่ประชุมจะตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา รายละเอียดผลกระทบ ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วันให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ส่วนเรื่องปัญหากระเทียมทะลักเข้ามาในประเทศไทย นั้นเป็นการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงจะมีมาตรการเด็ดขาดมาจัดการต่อไป
พ.อ. อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการ และควรตั้งอนุกรรมาธิการ ขึ้นมาพิจารณาการค้าเสรีเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะการค้าเสรีในหมวดสินค้าบริการ และการลงทุน เพราะจากการไปร่วมประชุมสภาระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนาพยายามเจรจาให้ประเทศด้อยพัฒนาเปิดให้มีการลงทุนในประเทศ ซึ่งล้วนแต่สร้างความเสียเปรียบให้กับประเทศด้อยพัฒนา จึงต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้ ดังนั้นควรต้องรอให้ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ เงินลงทุน และเทคโนโลยี
ภายหลังการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในที่สุด ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันทั้งสองสภา จำนวน 36 คน พิจารณาศึกษา 15 วัน ก่อนนำกลับเข้าที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาอีกครั้ง ภายในไม่เกินวันที่ 6 ต.ค. ตามที่ รมว.พาณิชย์ กำหนดกรอบเวลาการพิจารณาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น