xs
xsm
sm
md
lg

เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 22)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

22. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

คุรุ
ได้หายใจให้พวกลูกศิษย์ของท่านดูเป็นตัวอย่าง ในเวลาหนึ่งนาทีท่านหายใจเพียง 2 ครั้งเท่านั้น และอย่างเป็นธรรมชาติมาก คุรุ สอนต่อไปอีกว่า

“เอาใหม่...ลืมตา...แล้วฟังทางนี้ ไม่ว่าพวกเธอจะฝึกวิชาอะไรมาเรียนรู้สำเร็จปริญญาใดมา แต่ ถ้าพวกเธอหายใจไม่เป็น เธอย่อมไม่สามารถรักษาปราณหรือพลังในกายของเธอเอาไว้ได้ เธอไม่สามารถจะรักษาสมองคือควบคุมการทำงานของสมองให้มีความเป็นเลิศในความคิดได้...”

“เมื่อรู้ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าลมหายใจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะลมหายใจเป็นตัวกำหนดชีวิต เป็นตัวสร้างพลังชีวิต และเป็นตัวทำให้เกิดพลังชีวิต ถ้าเธอหายใจเร็ว แรง และสั้น เธอไม่อาจจะมีอายุขัยยืนยาว พลังชีวิตของเธอก็จะเศร้าและสั้นลง เพราะฉะนั้น ถ้าอยากมีชีวิตยืนยาว จงหายใจให้เป็น นั่นคือ จงหายใจให้ยาวและเป็นจังหวะ จำไว้นะ พวกเธอต้องฝึกหายใจให้เป็นก่อนที่จะปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ”

คุรุ
ยังบอกอีกว่า คนที่หายใจเป็นจะมีแววตาที่สุกใส และกล้าต่อแสงสามารถต่อสู้ และโต้ต่อแววตาของคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่หวาดหวั่น ไม่พรั่นพรึง ไม่วิตกหวาดกลัว และไม่สะดุ้งผวา คนที่ตกใจง่าย สะดุ้งผวาง่าย และขี้กลัวก็เพราะหายใจไม่เป็น จิตจึงขาดพลัง และกายจึงขาดปราณ

“เรามาเริ่มหายใจกันใหม่นะ...เริ่มสูดลมเข้า เสร็จแล้วหายใจออก พักไว้สักนิด แล้วก็สูดเข้าไปใหม่...ค่อยๆ หายใจอย่างนิ่มนวล เนิบนาบ หนักหน่วง และเต็มเปี่ยม”

คุรุ ได้หายใจเข้า-หายใจออกให้พวกลูกศิษย์ดูเป็นตัวอย่างกินเวลาครั้งละประมาณ 30 วินาที จากนั้นท่านบอกว่า

“นี่คือ การหายใจแบบพุทธะ หรือพระมหาโพธิสัตว์และเป็น ศิลปะแห่งการหายใจของชาวพุทธ พวกเธอดูสิ ฉันหายใจเข้าออกอย่างลึกยาว นุ่มนวล เนิบนาบเพียง 2 ครั้งในหนึ่งนาที เป็นปกติ ไม่ต้องบังคับอะไรเลย หากพวกเธอทำได้ พวกเธอจะรู้สึกสดชื่นเมื่อพ่นลมออกมา จิตของพวกเธอจะมีสันติสุข สงบ และสมาธิของพวกเธอจะตั้งมั่นขึ้นได้โดยฉับพลัน”

“พอพวกเธอฝึกหายใจแบบนี้ พวกเธอก็ต้องสำรวจตัวเองไปพร้อมกันด้วย ว่ารู้สึกสดชื่นขึ้นมั้ย โล่งขึ้นหรือเปล่า และไขสันหลังของพวกเธอเริ่มมีความรู้สึกอบอุ่น มีพลังเล็กๆ วิ่งซาบซ่านอยู่หรือไม่ อันศิลปะการหายใจนั้น หลังจากที่เราผ่อนลมออกแล้วนั้น ต้องให้รู้สึกว่าเราได้ผ่อนออกมาจนหมด แล้วก็พักสักนิดนึง จึงค่อยๆ เริ่มสูดลมเข้าไปใหม่อย่างนุ่มนวล เนิบนาบ มั่นคง และเต็มเปี่ยมพวกเธอต้องทำให้ลมมันพลุ่งพล่านอยู่ภายใน ด้วยกระบวนการของการเข้าไปปลุก และกระตุ้นจิตวิญญาณ อารมณ์ และอวัยวะทั้งหลายของพวกเธอให้ตื่น...

“พอพวกเธอผ่อนลมออกมา พวกเธอต้องทำให้การผ่อนลมอย่างนี้เป็นการขับมลพิษทั้งปวงภายในตัวพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นความอึดอัด ขัดเคือง กลัดกลุ้ม เศร้าหมองขุ่นมัว ออกไปจากตัวพวกเธอให้หมดเกลี้ยงจนเหลือไว้แต่ เอกบุรุษหรือ เอกสตรีเท่านั้น”

หลังจากที่ คุรุ ผู้เป็นโพธิสัตว์ได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐานขั้นที่หนึ่งให้แก่พวกลูกศิษย์แล้ว ท่านก็บอกให้พวกลูกศิษย์ร้องเพลง “มาลาบูชาคุณ” ขอบพระคุณครูที่เมตตาถ่ายทอดวิชาให้

“เขา” ร้องเพลง “มาลาบูชาคุณ” ด้วยความซาบซึ้งใจในพระคุณของ คุรุ แห่ง วิถีโพธิสัตว์ ช่วงเวลาที่ คุรุ ได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชาสูงสุดของพระโพธิสัตว์หรือวิชาลม 7 ฐานให้แก่ “เขา” เป็นช่วงขณะที่ตัวเขาจะไม่มีวันลืมเลือนได้ตราบชั่วชีวิตนี้ มันช่างเป็นช่วงเวลาที่สุดแสนจะประทับใจ และตราตรึงไว้ในดวงจิตของเขาอย่างแนบแน่นเข้าไปในจิตวิญญาณ และไขกระดูกของตัวเขา

“เขา” ร้องเพลง “มาลาบูชาคุณ” ออกมาอย่างเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกอันล้ำลึก

“มาลาพวงดอกไม้มาตั้งไว้เพื่อบูชา
ขอบูชาแด่พระพุทธที่ได้ตรัสรู้มา
ขอบูชาแด่พระธรรมที่ได้นำความสุขมา
ขอบูชาแด่พระสงฆ์ที่ได้ทรงพระวินัย
พุทธังวันทามิธัมมังวันทามิสังฆังวันทามิ
ล้วนเป็นรัตนตรัย...”

“สิบนิ้วต่างธูปเทียนยกขึ้นเหนือเศียรถวายวันทา
กราบองค์พระศาสดาถวายวันทาองค์พระธรรม
พระสงฆ์ผู้ทรงศีลเหลืองทั้งสิ้น ฉันขอวันทา...
อันสิบนิ้วเรานี้ย่อมมีค่าจะวันทาใครต้องมองให้ถี่
กราบอาจารย์เจาะจงเป็นสงฆ์ดีเป็นราศีมีกุศลทุกหนเทอญ
ขอความเป็นมหามงคลอันสูงสุดจงมีแด่อาจารย์ทุกประการเทอญ”

หลังจากที่พวกลูกศิษย์ได้ร้องเพลงบูชาครูเสร็จแล้ว คุรุ ได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ซักถามสิ่งที่ยังสงสัยอยู่

“ปุจฉา” “เขา” ถามเกริ่นก่อน

“วิสัชนา” ท่านตอบรับ

“ศิษย์กราบขอบพระคุณคุรุที่ได้เมตตาถ่ายทอดเคล็ดวิชาลม 7 ฐานขั้นที่หนึ่งให้ ศิษย์อยากจะเรียนถามว่า ถ้าจะฝึกทุกวัน ควรจะฝึกหายใจแบบนี้วันละกี่ครั้ง แล้วใช้เวลาประมาณเท่าใด”

คุรุ ตอบว่า

“วิชาลม 7 ฐานนี้ มีความหมายใกล้เคียงกับมหาสติปัฏฐาน 4 ใกล้เคียงกับหลักปฏิจจสมุปบาท และก็ตรงกับหลักโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ แต่ทั้งหมดแล้วมันรวมอยู่ในฐานทั้ง 7 ของลม 7 ฐาน”

“...ความหมายของลม 7 ฐาน คือ ศิลปะในการดำรงชีวิต ได้แก่ หายใจมีศิลปะ คิดมีศิลปะ สำเหนียกรับทราบแบบมีศิลปะ สัมผัสซึมสิงแบบมีศิลปะ ดูแบบมีศิลปะ ฟังแบบมีศิลปะ และสุดท้ายมันจบลงตรงคำว่า ไม่ยึดติดในศิลปะนั้นๆ”

“...การเดินลมในฐานที่ 1 ของลม 7 ฐานที่เธอถามว่าต้องเดินลมทุกวันมั้ย หรือเดินลมวันละกี่ชั่วโมง หรือในเวลาใดที่เหมาะสม? ก็ขอตอบว่า ในเวลาที่พวกเธอนึกถึงมัน นั่นแหละเป็นเวลาที่เหมาะสมในการทำฐานที่ 1 ของลม 7 ฐาน การเดินลม 7 ฐานไม่มีข้อห้ามว่าต้องยังงั้นยังงี้ แต่มีข้อแม้ว่า เธอต้องคิดถึงมัน”

ต่อมา “เขา” ได้ศึกษาคำสอนของ คุรุ เกี่ยวกับเคล็ดวิชาลม 7 ฐานเพิ่มเติม และได้พบว่า คุรุ ได้สอนให้ผู้ที่คิดจะเดินบน วิถีปราชญ์ และ วิถีผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ว่า ควรจะตื่นนอนแต่เช้า และทำการเจริญปัญญาในแนววิชาลม 7 ฐานเพื่อทำให้สมองแจ่มใส สามารถใช้งานได้สมบูรณ์ตลอดทั้งวันดังต่อไปนี้

“เธอต้องตื่นแต่เช้า ขณะที่เริ่มมีแสงสว่าง แต่ยังไม่มีแสงอาทิตย์ให้เธอเงยหน้า มองไปในท้องฟ้า แล้วก็ปล่อยความคิด จิตวิญญาณของเธอให้เปิดกว้างไกล ใช้สายตาของเธอสำรวจองศาในการมองให้ครบ 180 องศา นั่นคือ เธอต้องเปิดตาให้มองกว้าง รับสัมผัสเสียงทั้งหมดที่มีอยู่รอบๆ กายให้ครบทุกชนิด สูดกลิ่นรอบๆ กายที่มีอยู่รอบๆ ให้ครบทุกอย่างครบถ้วน ผิวหนังเปิดกว้างรับสัมผัสกลิ่นไอของธรรมชาติ และบรรยากาศรอบๆ ทำให้อวัยวะทั้งหลายตื่นตัว เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า...”

“เธอต้องฝึกอย่างนี้ทุกเช้าทุกๆ วัน เพราะนี่คือคุณสมบัติของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ การทำเช่นนี้ทุกเช้า มันจะไปสั่งสอนอบรมสมอง และเซลล์ประสาททั้งหลายของเธอให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และเตรียมพร้อมที่จะทำงานหนักในเวลาต่อไป”

เมื่อ “เขา” ศึกษาคำสอนของ คุรุ มาถึงท่อนนี้ “เขา” ก็นึกขึ้นได้ว่า คุรุ เคยสอนพวกเขาว่า วิชาลม 7 ฐานหมายถึง ศิลปะในการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้น คำสอนข้างต้นของ คุรุ ก็คือ สำเหนียกรับทราบแบบมีศิลปะ ดูแบบมีศิลปะ ฟังแบบมีศิลปะ และสัมผัสซึมสิงแบบมีศิลปะนั่นเอง และนี่คือ เคล็ดของคุรุ เพื่อทำให้ท่านพร้อมที่จะเป็น พุทธะ หรือ พระโพธิสัตว์ ตลอดทั้งวันของวันนั้นได้ คุรุ ยังบอกอีกว่า นี่คือเคล็ดลับในการดำรงชีวิตอย่าง มหาบุรุษ

หากฐานที่ 1 ของลม 7 ฐานเป็นสิ่งที่ผู้ที่เดินอยู่บนเส้นทางของ โพธิสัตว์ ต้องฝึกทุกวัน และทุกครั้งที่คิดถึงมันอยู่เสมอด้วย การหายใจแบบโกลัมปะ หรือ การหายใจแบบพญามังกรนอนในถ้ำน้ำแข็ง แล้วการฝึกฐานอื่นๆ อย่างน้อยอีก 4 ฐานของวิชาลม 7 ฐาน ควรฝึกทุกเช้าในเวลาเช้าตรู่ตามเคล็ดข้างต้น ส่วน การคิดแบบมีศิลปะ ซึ่งเป็นอีกฐานหนึ่งของวิชาลม 7 ฐานนั้น น่าจะกระทำในขณะที่ผู้นั้นกำลังอ่านหนังสือ หรือกำลังเขียนหนังสืออยู่ด้วยจิตที่เป็นสมาธิแบบใจรวมกายเป็นหนึ่งเดียว จนสามารถรับ “ข่าวสาร” ที่สร้างสรรค์จาก “เบื้องบน” ผ่านกลางกระหม่อมหรือยอดศีรษะที่จักร 7 ได้

คุรุ สอนเคล็ดวิชาลม 7 ฐานต่อไปอีกว่า

“เมื่อเธอยืนสัมผัสต่อกลิ่นอายในยามเช้า ด้วยสายตาที่เปิดกว้าง พร้อมกับหายใจด้วยผิวหนัง จนตัวเธอสามารถสัมผัสซึมสิงกลิ่นอายของธรรมชาติ และบรรยากาศรอบๆ ได้แล้ว เธอจงยกแข้งยกขาแบบชนิดที่มีจิตใจกำกับควบคุมในการยก ควบคุมพลังที่หมุนเวียนไปตามกระบวนการของการเคลื่อนไหวแขนขาที่สบายๆ บางเบา สดชื่น และโปร่งโล่ง...”

“เธอต้องขยับกายสบายชีวีอย่างนี้ พร้อมกับสูดลมหายใจอย่างยาวนิ่มนวลแล้วก็หนักแน่น พร้อมกันไปด้วย จากนั้นจึงพ่นลมออกมายาวๆ อย่างอ่อนโยน แผ่วเบาเป็นธรรมชาติ หากเธอทำได้เช่นนี้ เธอจะเกิดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่มีลักษณะเฉพาะตนของตัวเธอ”

เมื่อ “เขา” อ่านถึงคำสอนของ คุรุ ในท่อนนี้ ตัวเขาอดนึกถึงการเคลื่อนไหวร่างกายแบบ มวยไท้เก๊ก และแบบ หทะโยคะ อย่างท่าสุริยนมัสการไม่ได้ เพราะนี่ก็เป็นการขยับกาย ด้วยการขับเคลื่อนลมปราณไปผลักดันการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างผ่อนคลาย เบาสบาย สดชื่น และโปร่งโล่งเช่นกัน

คุรุ สอนต่ออีกว่า

“ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เธอจะได้รับ จะเป็นประสบการณ์ของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หลังจากที่เธอสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ ให้เต็มปอด แล้วผ่อนลมออกมาอย่างแผ่วเบายาวๆ นิ่มนวลสักหลายครั้งแล้วเธอจงลองสำเหนียกดูสิว่า ตัวเธอมีอารมณ์อะไรลึกๆ อยู่ในจิตใจเธอขณะนั้นบ้าง ถ้ายังมีคนอื่น เรื่องอื่น สิ่งอื่นอยู่ในหัวใจเธอขณะนั้น เธอต้องโยนทิ้งทั้งหมดให้ออกไปจากจิตใจของเธอ ให้เหลือไว้แต่ตัวเธอล้วนๆ ผู้มีอารมณ์อันสดใส แช่มชื่น และเบิกบาน..”

“...แล้วเธอจะรู้ว่า กลิ่นอายของธรรมชาติเป็นการเสริมสร้างชีวิต และจิตวิญญาณของเธอให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้อย่างเยี่ยมยอดที่สุด”

คุรุ บอกว่าคนเราต้องสลัดอารมณ์ในเชิงลบทั้งหลายทั้งปวงทิ้งให้หมดในทุกๆ เช้าของแต่ละวัน ให้ในตัวเราเหลือแต่อารมณ์อันสดใส แช่มชื่น และเบิกบานเท่านั้น นอกจากนี้ คุรุ ท่านยังบอกให้เราใน ห้วงยามนั้น จงสลัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งเรื่องราวทั้งหลายให้หมดไปจากใจ นอกจาก “ตื่นเราล้วนๆ” แล้วไม่มีเรื่องอื่น ไม่มีสิ่งอื่น ไม่มีใครอื่นอีก ให้เหลือแต่ “ตัวเราล้วนๆ” นี้เท่านั้น นี่แหละคือความหมายที่แท้จริงของ เอกบุรุษ หรือ เอกสตรี ที่แปลว่า ผู้มาคนเดียว หรือผู้อยู่คนเดียวบนทางสายเอก (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น